เนื้อหาวันที่ : 2010-06-18 08:45:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 613 views

ฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วง 8 เดือนแรก ปีงบ 53

กระทรวงการคลังเผยช่วง 8 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2553 ฐานะการคลังยังคงเข้มแข็ง       แม้เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้และการเบิกจ่ายงบประมาณ

.

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2553 ว่ารัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 957,330 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 26.1 โดยเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีบนฐานการบริโภคและการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่

.

ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และอากร     ขาเข้า และการรับโอนเงินยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลมี การเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 1,203,509 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.6 เนื่องจากในเดือนพฤษภาคม มีการหยุดราชการมากกว่าปกติจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง          

.

ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณ 246,179 ล้านบาท เมื่อรวมกับการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 72,059 ล้านบาท ส่งผลให้ขาดดุลเงินสดรวม 318,238 ล้านบาท และรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 212,572 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดหลังกู้ทั้งสิ้น 105,666 ล้านบาท โดยมีเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2553 จำนวน 188,170 ล้านบาท

.

นายสาธิตสรุปว่า “แม้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้และการเบิกจ่ายในเดือนพฤษภาคม แต่กระทรวงการคลังยังมั่นใจว่าในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ 2553 จะสามารถกระตุ้นการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่ฐานะการคลังของรัฐบาลยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง”

.
ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2553
(ตุลาคม 2552 – พฤษภาคม 2553)
หน่วย: ล้านบาท
8 เดือนแรก          เปรียบเทียบ
ปีงบประมาณ 2553 ปีงบประมาณ 2552 จำนวน ร้อยละ
1. รายได้                             957,330 758,946 198,384 26.1
2. รายจ่าย                            1,203,509 1,274,469 -70,960 -5.6
3. ดุลเงินงบประมาณ          -246,179 -515,523 269,344 -52.2
4. ดุลเงินนอกงบประมาณ -72,059 34,651 -106,710 -308.0
5. ดุลเงินสดก่อนกู้ (3+4) -318,238 -480,872 162,634 -33.8
6. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 212,572 353,530 -140,958 -39.9
7. ดุลเงินสดหลังกู้ (5+6) -105,666 -127,342 21,676 -17.0
.
ที่มา: กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง