1. ธปท.ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต |
- ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งสัญญาณเตือนมายังภาคเอกชนเพื่อให้เตรียมพร้อมรับมือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เนื่องจากเห็นว่ามีการใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำมานาน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับต่ำอยู่ กอปรกับภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้มีการฟื้นตัว |
. |
- สศค.วิเคราะห์ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเช่นกันที่ระดับร้อยละ 0.5 ต่อปี เพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนภายในประเทศ |
. |
ทั้งนี้ สศค. คาดว่า หากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่องและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารกลางในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลียที่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยของปี 53 สศค. ตั้งสมมุติฐานอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงร้อยละ 1.25-1.50 ต่อปี |
. |
2. BOI ภาคใต้ตอนบนเผยยอดลงทุน 5 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 300 |
- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ภาคใต้ เปิดเผยถึง โครงการที่ได้รับการอนุมัติให้มีการส่งเสริมการลงทุนช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.53 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมจำนวน 25 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 9.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 300.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มีการลงทุนเพียง 2.3 พันล้านบาท และการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 73.8 |
. |
- สศค.วิเคราะห์ว่า จำนวนการโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในภาคใต้ตอนบน พบว่า จังหวัดที่มีการลงทุนสูงสุด คือ 1) จังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 12 โครงการ มีเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 6.1 พันล้านบาท 2) จังหวัดนครศรีธรรมราช มี 4 โครงการ มีเงินลงทุน 1.7 พันล้านบาท 3) จังหวัดภูเก็ต มี 3 โครงการ มีเงินลงทุน 1.7 พันล้านบาท 4) จังหวัดชุมพร จำนวน 2 โครงการ มีเงินลงทุน 2.0 พันล้านบาท เป็นต้น ซึ่งประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ |
. |
กลุ่มบริการและสาธารณูปโภค 12 โครงการ รองลงมาเป็นกลุ่มเกษตรกรรมและผลิตผลทางการเกษตร จำนวน 10 โครงการ และอุตสาหกรรมเบา 2 โครงการ เนื่องจากภาคใต้ตอนบนมีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน ทั้งนี้ เศรษฐกิจภาคใต้คิดเป็นร้อยละ 10.0 ของเศรษฐกิจทั้งประเทศ ซึ่งมีศักยภาพขยายตัวได้อีกในอนาคต |
. |
3. อัตราเงินเฟ้ออังกฤษเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ชะลอลงจากร้อยละ 3.7 ในเดือนก่อน |
- สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 3.4% ชะลอลงเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.7 ขณะเดียวกันดัชนีราคาในภาคค้าปลีกเดือนเดียวกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 1991 ขณะที่ดัชนีราคาค้าปลีกไม่รวมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนองในเดือนเดียวกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ชะลอจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.4 |
. |
- สศค.วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับตัวลดลง ผลมาจากราคาสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่ดัชนีราคาในภาคค้าปลีกในเดือนเดียวกันปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระดับราคาสินค้าประเภทดังกล่าวในเดือนเมษายน 2553 ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์เถ่าถ่านภูเขาไฟที่ทำให้มีความต้องการในใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ประกอบกับปริมาณสินค้าในตลาดที่มีอยู่อย่างจำกัด |
. |
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของอังกฤษอยู่ที่ร้อยละ 2.9 สูงกว่ากรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 2 ดังนั้น จึงคาดว่าธนาคารกลางอังกฤษจะเริ่มมีการทบทวนนโยบายการเงินโดยอาจพิจารณาเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่อยู่ในอัตราร้อยละ 0.5 และพิจารณาปรับลดวงเงินสินเชื่อซื้อขายสินทรัพย์ (Asset Purchase Program) จากปัจจุบันอยู่ที่ 200 พันล้านปอนด์ |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |