เนื้อหาวันที่ : 2010-06-17 09:42:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 605 views

5-5-5 ลีมอ ดาซาร์ ห้าจังหวัด ห้ารัฐ และห้าสาขาเศรษฐกิจ

โครงการยุทธศาสตร์ 5-5-5 ลีมอ ดาซาร์ ห้าจังหวัด ห้ารัฐ และห้าสาขาเศรษฐกิจ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

.

คำแถลงข่าวของ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) เดินทางเยือนประเทศมาเลเซีย ตาม “โครงการยุทธศาสตร์ 5-5-5 ลีมอ ดาซาร์ ห้าจังหวัด ห้ารัฐ และห้าสาขาเศรษฐกิจ” ณ ห้องกิติยากรวรลักษณ์ กระทรวงพาณิชย์

.

ประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันโดยเฉพาะทางด้านการค้า โดยมูลค่าการค้ารวมของประเทศทั้งสองในปี พ.ศ.2552 มีมูลค่าการค้ารวม 556,179 ล้านบาท เป็นการส่งออกสินค้าไทยมูลค่า 260,864 ล้านบาท และเป็นการนำเข้าสินค้าจากมาเลเซียมูลค่า 295,315 ล้านบาท หรือขาดดุลทางการค้า 34,452 ล้านบาท โดยการค้าระหว่างประเทศของประเทศไทยและมาเลเซียที่ดำเนินอยู่กว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าการค้ารวมเป็นการค้าชายแดน 

.

ในช่วงไตรมาสแรก (มค.-มีค.) ของปีนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยผ่านชายแดนไปประเทศมาเลเซียเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 64 หรือเท่ากับ 78,776 ล้านบาท และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 หรือเท่ากับ 45,002 ล้านบาท

.

มูลค่าการค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากความร่วมมือของอาเซียนที่มุ่งลดอุปสรรคการค้าโดยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน โดยนับแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 อัตราภาษีส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิกจะลดเหลือร้อยละ 0-5 ซึ่งจะส่งผลให้การค้าของประเทศในอาเซียนรวมถึงการค้าระหว่างไทยและมาเลเซียขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

จากการเดินทางไปเยือนประเทศมาเลเซียตามโครงการโลจิสติกส์สัญจรครั้งที่ 4/2552 ในระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2552 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) ได้ร่วมหารือผู้บริหารภาคราชการและเอกชน ใน 4 รัฐภาคเหนือ ได้แก่ รัฐปะลิส เคดาห์ เปรัคและกลันตัน และพิจารณาเห็นว่าประเทศไทยและมาเลเซียสามารถที่จะพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันเพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีแก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนของตนผ่านทางการสร้างความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และเครือข่ายทั้งในรูปความสัมพันธ์ในภาครัฐและเอกชน

.

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จึงได้ประกาศยุทธศาสตร์ 5-5-5 ลีมอ ดาซาร์ ห้าจังหวัด ห้ารัฐ และห้าสาขาเศรษฐกิจ คือ การค้า การลงทุน อุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว ระหว่าง 5 รัฐตอนเหนือของมาเลเซีย ได้แก่ รัฐปะลิส เคดาห์ เปรัคและกลันตัน และ รัฐปีนัง กับ 5 จังหวัดภาคใต้ของไทย ได้แก่ นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, สตูล และ สงขลา

.
การดำเนินการ แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมหลักคือ 

1. การจัดประชุมเชิงปฎิบัติการร่วมกับภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ ผู้แทนจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ผู้แทนจากหอการค้าจังหวัด ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดและผู้ประกอบการ โดยได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 ณ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเตรียมความพร้อมและสรุป รวบรวมประเด็นที่สำคัญ และเสนอโครงการความร่วมมือต่างๆ เพื่อนำไปหารือกับประเทศมาเลเซีย โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางไปเป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ด้วย

.

2. จัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินทางไปเยือน 5 รัฐเหนือของมาเลเซียในวันที่ 10-12 มิถุนายน พ.ศ.2553 เพื่อนำภาครัฐและเอกชน 5 จังหวัดใต้ไปพบหารือถึงโครงการความร่วมมือต่างๆที่จะเกิดขึ้น และเตรียมการจัดประชุม “ Business Forum”

.

3. จัดประชุม Lima Dasar Summit / Business Forum เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม ฮาลาล อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว โดยมีนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยและมาเลเซียเป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งจะมีผู้ว่าราชการภาคใต้ทั้ง 5 จังหวัด และมุขมนตรีรัฐภาคเหนือของมาเลเซียภาครัฐมาร่วมประชุม สำหรับ Business Forum เป็นการประชุมและการเจรจาการค้าการลงทุนระหว่างภาคเอกชน

.

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐและเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนจังหวัดละ 100 คน รวม 500 คน และ จากมาเลเซียรัฐละ 100 คน รวม 500 คน รวมทั้งสิ้น 1,000 คน โดยกำหนดจัดการประชุมดังกล่าวในช่วงเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม พ.ศ.2553 ณ จังหวัดสงขลา

.
ผู้นำภาครัฐและเอกชนที่ได้เข้าพบ ได้แก่

1. Dato Mukhriz Tun Mahathir, Deputy Minister (Trade) MITI
2. Dato’ Hj. Annuar Tan Abdullah, Kalantan State Government EXCO
3. Datuk Seri Dr Zambry Abdul Kadir, Chief Minister of Perak
4. Professor P. Ramasamy, Deputy Chief Minister of Penang
5. Dato Cook Ewe Seng, Executive Advisor of Penang Chinese Chamber of Commerce
6. Dato S. Manikumar A/L Subramaniam, State EXCO Member of Kedah
7. Dato' Seri Diraja Syed Razlan Ibni Almarhum Tuanku Syed Putra Jamalullail, State EXCO Member of Perlis
8. HJ. Fauzi Bin Hassan, Chairman Malay Chamber of Commerce 

.
ประเด็นสำคัญๆ ที่ได้เจรจาในครั้งนี้ เช่น 

1. การร่วมมือในอุตสาหกรรมฮาลาลเนื่องจากประเทศไทยมีความชำนาญในด้านการผลิตสินค้าฮาลาล ในขณะที่ประเทศมาเลเซียมีความเชี่ยวชาญในด้านการส่งเสริมตรารับรองสินค้าฮาลาล และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศผู้นำเข้าสินค้าฮาลาลในตลาดสำคัญ เช่น ตะวันออกกลาง
2. การจัด Trade Show / Road Show ระหว่าง5 รัฐ / 5 จังหวัดใต้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ชายแดน โดยให้โอกาสสำหรับสินค้าพื้นเมือง (OTOP) ของทั้งสองประเทศ

.

3. ความร่วมมือทางด้านการศึกษาโดยฝ่ายไทยมีมหาวิทยาลัยอิสลาม ปัตตานี เป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือ
4. การกำหนดสิทธิพิเศษสำหรับกลุ่มสมาชิกลิมอ ดาซาร์ 5 จังหวัด 5 รัฐ เช่น Fast Track ในการผ่านแดนและสินค้า หรือสิทธิพิเศษการใช้บริการต่างๆในอัตราพิเศษในรูปแบบ Lima Dasar Card เป็นต้น

.

5. การจดทะเบียนรถบรรทุกร่วม 5 จังหวัด 5 รัฐการ และเจรจากับประเทศมาเลเซียให้รถบรรทุกของไทยและมาเลเซีย สามารถวิ่งขนส่งสินค้าขาเข้าและขาออกระหว่างกัน ทั้ง 5 รัฐ ของประเทศมาเลเซียและ 5 จังหวัดภาคใต้ของไทยเพื่อส่งเสริมการประกอบการขนส่งระหว่างสองประเทศ 

.

6. การลงทุนในสาขาต่างๆในมาเลเซีย เช่น ความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และ การลงทุนขุดเจาะน้ำมันในทะเลในรัฐกะลันตัน, ความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีทางการเกษตรในรัฐเปรัคซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติมาก เช่น ปลาสวยงามที่สามารถร่วมมือกับประเทศไทยในด้านการผลิตและการตลาดได้ รวมทั้งความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยวและการศึกษาในรัฐเคดาห์ เป็นต้น

.

7. ความร่วมมือทางด้านโลจิสติกส์ เช่น การสร้างอุโมงค์เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดสตูลและรัฐปาริดและ การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโกลกแห่งที่สาม เป็นต้น

.

การดำเนิน โครงการยุทธศาสตร์ 5-5-5 ลีมอ ดาซาร์ ห้าจังหวัด ห้ารัฐ และห้าสาขาเศรษฐกิจ เป็นการ พัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะด้านการค้าชายแดน การลงทุน อุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการสร้างงานแก่ประชาชนในพื้นที่และทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ ได้ตั้ง เป้าหมายให้มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยและมาเลเซียในระยะ 5 ปี จากปี พ.ศ.2553-2557 เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10