เนื้อหาวันที่ : 2010-06-15 10:33:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 617 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 15 มิ.ย. 2553

1. สภาอุตฯ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย เร่งหารือหลังจากราคาสินค้ามิ.ย. 53 ปรับตัวลดลง

-  อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในเดือนพ.ค. 53 มาจากภัยแล้งประกอบกับความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งจะส่งกระทบต่อการผลิตและการขนส่งสินค้าป้อนตลาดสด อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ณ เดือนมิ.ย. 53 ราคาผัก ราคาเนื้อสุกร/ไก่ และราคาปุ๋ยเคมี/ยาปราบศัตรูพืช เริ่มปรับตัวลดลง

.

ขณะที่ เลขาธิการสภาอุตฯกล่าวว่า ในวันที่ 15 มิ.ย. 53 นี้ ธปท. ได้เชิญ สภาอุตฯ มาหารือถึงทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่ง สภาอุตฯ ต้องการเสนอให้ ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (PR) ที่ระดับร้อยละ 1.25 จนถึงสิ้นปีนี้ และอาจมีการหารือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะไม่อยากให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

.

- สศค.วิเคราะห์ว่า แนวโน้มราคาสินค้าที่เริ่มปรับตัวลดลงในเดือนมิ.ย. 53 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดูไบในตลาดโลกวันที่ 1 – 14 มิ.ย. ที่เริ่มปรับตัวลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 72.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากเดือนก่อนหน้าที่เฉลี่ย 76.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้ การคงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน (4 มาตรการ 6 เดือน) ยังช่วยลดการถูกกดดันด้านราคาสินค้าและบริการลง ทั้งนี้ สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อ ณ ปี 53 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี (ช่วงการคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 – 4.5 ต่อปี ประมาณการ ณ มี.ค. 53)

.
2. “ซีพี”คาดเศรษฐกิจโตร้อยละ 4.5-5.5 โดยแนวโน้มโตได้ถึงร้อยละ 6 ขึ้นกับสถานการณ์การเมือง

-  “ซีพี”คาดเศรษฐกิจโตร้อยละ 4.5-5.5 โดยแนวโน้มโตได้ถึงร้อยละ 6 จากปัจจัยหนุนด้านการส่งออกยังดี และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง โดยคาดว่าภาคการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 17-18 เพราะมีคำสั่งซื้อในตลาดที่สำคัญอยู่ เช่น สหรัฐ จีน อินเดีย และอาเซียน โดยถึงแม้ไม่ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่ได้ลดลง ขณะเดียวกันก็คาดว่าทั้งปีน่าจะโตได้กว่าร้อยละ 6 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์บ้านเมือง

.

-  สศค.วิเคราะห์ว่า การคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ถึงร้อยละ 6 มีสาเหตุหลักมาจากการที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่1 ปี 2553 ขยายตัวดีมากที่ร้อยละ 12.0 ต่อปี และคาดว่าจะมีแรงส่งต่อเนื่องมายังไตรมาส 2 ให้ขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ อุปสงค์จากต่างประเทศที่คาดว่าจะยังคงดี ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยล่าสุด มูลค่าส่งออก 4 เดือนแรกของปี 53 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 32.4 ต่อปี

.
3. BIS ชี้วิกฤตหนี้ยุโรปกระทบความเชื่อมั่นมากกว่าข้อมูลด้านบวก

-  ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements :BIS) เปิดเผยว่า วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปได้สร้างปัจจัยลบต่อนักลงทุน แม้ว่าขณะนี้การรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจะบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวบ้างแล้วก็ตาม โดยนักลงทุนต่างพุ่งความสนใจไปยังปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินมากกว่าการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาในแง่บวก

.

นอกจากนี้ BIS ยังระบุเพิ่มเติมว่า ความวิตกกังวลในตลาดผ่อนคลายลงเพียงชั่วขณะ ซึ่งอีกไม่นานความเชื่อมั่นนักลงทุนอาจเลวร้ายลงอีก ท่ามกลางความหวั่นวิตกต่อการแก้ปัญหาหนี้สินที่มีขึ้นควบคู่กับการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

.

-  สศค.วิเคราะห์ว่า วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปที่เริ่มต้นที่กรีซและลุกลามไปยังหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมานี้ มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนอย่างมากทั้งในตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยจะเห็นได้จากค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลงมาก โดยแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 4 ปี เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ 1.19 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร

.

อีกทั้งดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรปต่างปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจยุโรปจากธนาคารกลางยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ น่าจะช่วยบรรเทาวิกฤตได้บ้าง

.

อีกทั้งการที่รัฐบาลฮังการีได้ออกมาประกาศว่าจะดำเนินนโยบายทางการคลังตามที่ได้รัฐบาลก่อนได้วางเป้าหมายไว้ และยังสามารถควบคุมสถานการณ์หนี้สาธารณะของฮังการีได้ ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจในเศรษฐกิจยูโรโซนมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนในปี 53 จะขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือนมี.ค. 53)

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง