ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนพฤษภาคม 2553 และในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 |
. |
นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยในเดือนพฤษภาคม 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.76 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้า 2.7 พันล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมายกว่า 2.1 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 23.2 |
. |
เดือนพฤษภาคม 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิเป็นจำนวนสูงถึง 276,095 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,725 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.0 เนื่องจากเดือนนี้ครบกำหนดการยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิรอบสิ้นปีบัญชี 2552 (ภงด.50) ส่งผลให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 126,907 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,899 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ |
. |
นอกจากนี้ การบริโภคและการนำเข้าที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องส่งผลให้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่าประมาณการ 7,167 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณ 22,078 ล้านบาท เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ |
. |
ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 – พฤษภาคม 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,123,449 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 211,869 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.2 สาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังที่สูงกว่าประมาณการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน และภาษีรถยนต์ รวมทั้งการได้รับเงินจากการยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท เมื่อเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมา |
. |
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ในเดือนพฤษภาคม 2553 ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมดังกล่าว ได้ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจากการบริโภคและ การนำเข้าชะลอตัวลงเล็กน้อย |
. |
นายสาธิตฯ สรุปว่า “แม้ว่าเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบ ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้รัฐบาล แต่กระทรวงการคลังยังมั่นใจว่า จะสามารถ จัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้จำนวน 1.522 ล้านล้านบาท (ไม่รวมรายรับจากการยึดทรัพย์ฯ 49.016 พันล้านบาท) อย่างแน่นอน” |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |