เนื้อหาวันที่ : 2010-06-14 08:58:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 596 views

ฐานะการคลังภาครัฐบาล ตามระบบ สศค.

ฐานะการคลังภาครัฐบาล (รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)
ตามระบบ สศค. ไตรมาสที่ 2 (มกราคม – มีนาคม 2553)
และในช่วง 6 เดือนแรก (ตุลาคม 2552 – มีนาคม 2553) ของปีงบประมาณ 2553                     

.

ฐานะการคลังของภาครัฐบาลตามระบบ สศค.   (ระบบ Government Finance Statistics : GFS) ในไตรมาสที่ 2 (มกราคม - มีนาคม  2553) ประจำปีงบประมาณ 2553 ภาครัฐบาล (รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ) อัดฉีดเงินสุทธิเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหรือขาดดุลการคลังทั้งสิ้น 99,218.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.0 ของ GDP  ขาดดุลลดลงจากระยะเวลาเดียวกันปีที่แล้ว 85,930.1 ล้านบาท ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

.
1. ผลการดำเนินงานของภาครัฐบาลใน ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2553

1.1 รายได้ภาครัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 569,359.2 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 5.9 ของ GDP) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีที่แล้ว 85,910.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.8 ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมหลักเพิ่มขึ้นได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และรถยนต์ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ อากรขาเข้า ตามลำดับ 

.

ส่งผลให้รายได้รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 48,393.7 และ 22,140.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.4 และ 25.2 ตามลำดับ ส่วนบัญชีเงินนอกงบประมาณ (กองทุนนอกงบประมาณและเงินฝากนอกงบประมาณ) มีรายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 15,375.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.4 เนื่องจากได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

.

1.2. รายจ่ายของภาครัฐบาล (รวมการให้กู้หักชำระคืนตามนโยบายรัฐบาล) ซึ่งมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง มีจำนวน 614,282.8 ล้านบาท  ลดลงจากระยะเดียวกันปีที่แล้ว 20,631.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2 เนื่องจากการเบิกจ่ายของรัฐบาลลดลงโดยมีจำนวน 497,062.4 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 50,062.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.2 

.

ขณะที่ อปท. คาดว่าจะมีรายจ่ายจำนวน 86,625.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 58.4 และรายจ่ายจากบัญชีเงินนอกงบประมาณและเงินให้กู้หักชำระคืนตามนโยบายรัฐบาลรวม 30,400.1 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.9 ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเบิกจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนรายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศมีการเบิกจ่าย 194.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 118.3 ล้านบาท

.

1.3. ดุลการคลังภาครัฐบาล จากการที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ทำให้ภาครัฐบาลขาดดุลการคลังจำนวน 99,218.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.0 ของ GDP ขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 85,930.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.4 ของ GDP สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance)  

.

ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของรัฐบาลและทิศทางของนโยบายการคลังของรัฐบาลอย่างแท้จริง โดยไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ย และการชำระคืนต้นเงินกู้ ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2553 ขาดดุลทั้งสิ้น 77,187.6 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP) ในขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วขาดดุล 154,076.9 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของ GDP)

.
2. ฐานะการคลังตามระบบ สศค. 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 – มีนาคม 2553)

2.1 รายได้ภาครัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 1,102,130.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.3 ของ GDPเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 19.8 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้รัฐบาล และบัญชีเงินนอกงบประมาณ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

.

1) รัฐบาลมีรายได้รวม 695,274.6 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 7.1 ของ GDP) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 20.9 ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมหลัก (กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร) ที่เพิ่มขึ้น และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 

.

2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คาดว่าจะมีรายได้ทั้งสิ้น 201,435.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.1 ของ GDP และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 30.8 ทั้งนี้เนื่องจากการเงินที่รัฐบาลแบ่งให้ อปท. เพิ่มขึ้น 

.

3) บัญชีเงินนอกงบประมาณซึ่งประกอบด้วยกองทุนนอกงบประมาณและเงินฝากนอกงบประมาณ มีรายได้รวม 205,420.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.1 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.4

.

2.2 รายจ่ายของภาครัฐบาล (รวมการให้กู้หักชำระคืนตามนโยบายรัฐบาล) ซึ่งมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง มีจำนวน 1,302,920.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.4 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมีรายละเอียด ดังนี้

.

1) รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 940,643.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.7 ของ GDP (ปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 10.5 ของ GDP) และต่ำกว่าปีที่แล้ว 6,147.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.6 

.
2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคาดว่าจะมีจำนวนทั้งสิ้น 154,222.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของ GDP (ปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 1.5ของ GDP) และสูงกว่าปีที่แล้ว 19,093.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.1 
3) เงินกู้ต่างประเทศ (Project Loans) มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 450.4 ล้านบาท ต่ำกว่าปีที่แล้ว 42 ล้านบาท  
.

4) บัญชีเงินนอกงบประมาณ (รวมรายจ่ายและเงินให้กู้หักชำระคืนตามนโยบายรัฐบาล) จำนวน 207,605.2 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วจำนวน 21,247.0 คิดเป็นร้อยละ 144.3 ซึ่งมีสาเหตุจากรายจ่ายของกองทุนเพิ่มขึ้น เช่น รายจ่ายเพื่อชดเชยราคาน้ำมันของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น

.

2.3. ดุลการคลังภาครัฐบาล ขาดดุลการคลังจำนวน 200,790.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.1 ของ GDP ขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ขาดดุลจำนวน 147,715.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.4 ของ GDP สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance)

.
ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของรัฐบาลและทิศทางของนโยบายการคลังของรัฐบาลอย่างแท้จริง โดยไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ย และการชำระคืนต้นเงินกู้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 ขาดดุลทั้งสิ้น 178,510.3 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.8 ของ GDP) ในขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วขาดดุล 284,895.4 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 3.1 ของ GDP)