นำร่องภาคใต้ - อีสาน คาดเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2557 เพิ่มความมั่งคงด้านการผลิตไฟฟ้าและการจัดหาพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าของประเทศ
นำร่องในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2557 เพิ่มความมั่งคงด้านการผลิตไฟฟ้าและการจัดหาพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าของประเทศ ลดการนำเข้าและการใช้น้ำมันดิบเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก |
. |
. |
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. ได้ร่วมลงนามกับ การการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมแบบทุ่งกังหันลม (Wind Farm) กำลังการผลิต 5-10 เมกะวัตต์ในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก โดยใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 300-700 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2557 ทดแทนการใช้น้ำมันได้ 2.26-4.53 ล้านลิตร/ปี |
. |
ซึ่งความร่วมมือกันระหว่าง ปตท. และ กฟภ. ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มความมั่งคงด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าและการจัดหาพลังงานเพื่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรในประเทศที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ลดการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและกระแสไฟฟ้าจากต่างประเทศ |
. |
รวมทั้งช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดซึ่งเป็นทรัพยากรมีอยู่ตามธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วยการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลในกระบวนการผลิต และช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย |
. |
นายอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์ ผู้ว่าการ การการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า จากการศึกษาศักยภาพพลังงานลมภายในประเทศโดยกระทรวงพลังงาน พบว่าประเทศไทยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ประมาณ 1,600 เมกะวัตต์ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้กำหนดแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี โดยตั้งเป้าหมายให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ไม่น้อยกว่า 115 เมกะวัตต์ ในปี 2554 และเพิ่มขึ้นเป็น 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 |
. |
กฟภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่หลักในการผลิต จัดหา จัดให้ได้มา จัดส่ง และ จัดจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประชาชน รวมทั้งการประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ จึงได้ขานรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าวด้วย และ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ค่อนข้างสูง รัฐบาลจึงมีนโยบายในการให้เงินสนับสนุนด้วยการให้ค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder) จากการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก |
. |
อย่างไรก็ตามในอนาคตคาดว่าเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมจะมีการพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้น และจะสามารถลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง ซึ่งจะส่งผลให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมากขึ้นและเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ |