เนื้อหาวันที่ : 2010-06-11 18:21:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1414 views

เปิดวิสัยทัศน์ อนาคตอุตฯไทย มองผ่านอุตฯรายสาขา

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นถือเป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมที่ทำหน้าที่เป็นแรงหนุนหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง ทุกวันนี้การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็นอย่างไร จะแข็งแกร่งและยั่งยืนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงผันผวนตลอดเวลาได้หรือไม่

.

อุตสาหกรรม คือ ภาคการผลิตที่สำคัญ เป็นแรงหนุนหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ ให้แข็งแกร่ง แต่ในขณะเดียวกันท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นถือเป็นความท้าทาย ซึ่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์นั้น ต้องมีทิศทางที่รัดกุมสามารถตอบโจทย์ด้านโลกาภิวัฒน์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ จึงจะสามารถพัฒนาพื้นฐานของภาคอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่งและยั่งยืนในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ผันผวน เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

.

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) หรือ โอไออี กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัจจัยท้าทายดังกล่าว จึงได้จัดสัมมนาใหญ่เรื่อง “อนาคตอุตสาหกรรมไทย” ขึ้น โดยเจาะลึกในอุตสาหกรรมสำคัญ 5 สาขา ได้แก่ สาขายานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อาหาร และพลาสติก ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจชาติ

.

โดยอุตสาหกรรมทั้ง 5 สาขา ล้วนมีวิสัยทัศน์ และเป้าหมายที่ชัดเจนในการก้าวไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน อย่างไรก็ตามก่อนที่จะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ต้องพิจารณารายละเอียดแต่ละอุตสาหกรรมว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร 

.

อุตสาหกรรมยานยนต์  เป็นอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวของตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและเกิดรายได้อย่างเห็นได้ชัด โดยปัจจุบันมีการผลิตรถยนต์ได้เกิน 1 ล้านคันต่อปี และมีมูลค่าส่งออกชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์มากกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศมากกว่าร้อยละ 70 

.

สำหรับเป้าหมายในการผลิตรถยนต์ภายในปี 2554 จะสามารถผลิตรถยนต์มากกว่า 1.8 ล้านคันต่อปี  และส่งออกมากกว่าร้อยละ 55 มีมูลค่าการผลิตมากกว่า 1 ล้านล้านบาท อีกทั้งได้เตรียมความพร้อมบุคลากรทั้งในด้านการบริหารและการผลิต   ด้วยการเตรียมบุคลากรใหม่ที่มีคุณภาพ และพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมและการผลิต เพื่อเป็นรากฐานการผลิตที่สำคัญและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อไป

.

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  เนื่องจากกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นในสังคมโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอุตสาหกรรม

.

ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ ด้วยกำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างบุคลากรที่มีทักษะ พร้อมทั้งมุ่งสร้างคุณภาพด้านการวิจัยและพัฒนา R&D เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อันจะเป็นกำลังสำคัญในการผลิต  เพราะถ้าหากขาด R&D อุตสาหกรรมอาจเกิดการชะลอตัว  

.

เนื่องจากไม่มีสินค้าใหม่ๆ สนองความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยังได้สร้างคุณค่าเพิ่ม หรือ Value creation เพื่อรองรับทิศทางการขยายตัวในทุกมิติ ซึ่งปัจจุบันกำลังก้าวไปสู่อุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ ซึ่งอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีจุดแข็งในการรองรับตลาดและเป็นผู้นำในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียนต่อไปในระยะยาว

.

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีการกระจายตัวของตลาดอยู่ทุกภูมิภาค  ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงต้องเร่งดำเนินการยุทธศาตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรองรับทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรม โดยมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการเป็นศูนย์กลางสิ่งทอและแฟชั่นของภูมิภาคอาเซียน ด้วยการผลิตผ้าผืน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าสิ่งทอ และสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อปี 

.

รวมถึงการเดินหน้าทำการตลาดและขยายการลงทุนเชิงรุกในอาเซียนและตลาดใหม่ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาและยกระดับ Cluster และ Supply Chain เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม และเป็นการสร้างตลาดแบบห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอีกด้วย โดยตลาดดังกล่าวจะขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยให้ก้าวไปสู่ตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง

.

อุตสาหกรรมอาหาร   ในปัจจุบันถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค ซึ่งจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมโลก ส่งผลต่อการบริโภคของมนุษย์  อุตสาหกรรมอาหารจึงมีการเติบโตและสร้างตลาดใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา

.

ด้วยเหตุผลดังกล่าว อุตสาหกรรมอาหารจึงได้มีวิสัยทัศน์ในการผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารไทย (Products from Thailand) ให้ติดอันดับ 1 ใน 3 ของทางเลือกของผู้บริโภคทั่วโลก โดยการสร้างนวัตกรรมและนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

.

นอกจากนี้ยังสร้างภาพลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากไทยว่าเป็นสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งหากมีการส่งเสริมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เชื่อว่ามูลค่าการส่งออกอาหารแปรรูปของไทยในปี 2555 จะมีมูลค่าประมาณ 5.80 แสนล้านบาท  ด้วยมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยเติบโต และเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกในตลาดโลกได้

.

อุตสาหกรรมพลาสติก  เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากกลั่นปิโตเลียม ซึ่งประเทศไทยมีอุตสาหกรรมด้านนี้ที่แข็งแกร่ง โดยอุตสาหกรรมพลาสติกจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์อย่างชัดเจนว่าจะเป็นผู้นำอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีมูลค่าเพิ่มสูงในภูมิภาคอาเซียน จีน เอเชียใต้ และสนับสนุนการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ของไทยอย่างยั่งยืนภายในปี พ.ศ. 2555

.

แนวทางในการก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้น อุตสาหกรรมพลาสติก ได้สร้างความเข้มแข็งโดยการเพิ่มปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติก โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 5  หรือ 4.576 ล้านตันในปี 2555 และมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี 

.

นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ส่งเสริมการส่งออกเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำตลาด และลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ด้วยการขยายตัวของอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกดังกล่าวจะผลักดันให้ทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกไทยมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

.

การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในอนาคตนั้น จะต้องพัฒนาด้านองค์ความรู้เป็นสำคัญควบคู่กับการปรับตัวรอบด้านทั้งการผลิตที่เทคโนโลยีต่างๆ มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และการปรับตัวทางด้านการตลาดเพื่อรองรับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อันจะนำมาซึ่งการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนอย่างแท้จริงต่อไป

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม