เนื้อหาวันที่ : 2007-02-02 16:01:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3842 views

เรื่องน่ารู้จากกรมศุลกากร

ค่าธรรมเนียมการดำเนินพิธีการทางศุลกากร เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบในภาคอุตสาหกรรมไทยต้องนำไปคิดคำนวณต้นทุนสำหรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ

ผู้เขียนมีข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องค่าธรรมเนียมพิธีการทางศุลกากรและข่าวคราวความคืบหน้าเกี่ยวกับ "ระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์"  (Container Security Initiative:CSI) มาฝากสำหรับท่านผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ต้องทำการนำเข้า-ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ และเพื่อใช้ในการเตรียมตัวในการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ แต่จะเป็นอย่างไรนั้น เราคงต้องมาติดตามอ่านกันต่อไป

.

ค่าธรรมเนียมการดำเนินพิธีการทางศุลกากร

สำหรับข่าวคราวเรื่องแรกเราคงขอกล่าวถึงเรื่องค่าธรรมเนียมการดำเนินพิธีการทางศุลกากร เพราะเป็นเรื่องที่ท่านผู้ประกอบการหลาย ๆ ท่าน กำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพื่อใช้ในการคิดคำนวณต้นทุนสำหรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ โดยตรง

.

จากการที่กรมศุลกากรได้ทำการปรับปรุง และเปิดให้บริการผ่านพิธีการทางศุลกากรในรูปแบบใหม่ เพื่อการลดขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้าให้ลดน้อยลงไปจากเดิมนั้น ทางกรมศุลกากรก็ได้มีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จอย่างแน่นอนและชัดเจนเพื่อให้ผู้ประกอบการตลอดจนผู้ที่มาติดต่อขอรับบริการทางศุลกากรได้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น จากระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งกรมศุลกากรได้นำมาใช้ในการปฏิบัติงานและดำเนินการทางด้านต่าง ๆ นั้น

.

ผลพวงจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการบำรุงรักษาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ เพื่อการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนผลพวงดังกล่าว ก็ได้ทำให้กรมศุลกากรมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการลงทุนสูง ซึ่งงบประมาณที่ได้เคยจัดสรรมาโดยตลอดนั้น ยังไม่เพียงพอและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสากล เพื่อการพัฒนาให้กรมศุลกากรไทยสามารถเพิ่มศักยภาพเทียบเท่าได้กับระบบศุลกากรสากล รวมถึงการพัฒนาเพื่อให้เป็นที่ยอมรับทางด้านการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก

.
วันนี้กรมศุลกากรจึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยขอทำการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบริการทางศุลกากร สำหรับการผ่านพิธีการศุลกากรใบขนสินค้าขาเข้าและใบขนสินค้าขาออก ดังจะมีค่าธรรมเนียมจัดเก็บใหม่ต่อไปนี้ คือ
.

ประเภทใบขนสินค้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียม

1) ใบขนสินค้าถ่ายลำ (ใบแนบ 9)

2) ใบขนสินค้าขาเข้าและใบขนสินค้าขาออก ทุกประเภท

.

ประเภทใบขนสินค้าที่ยกเว้นค่าธรรมเนียม

1) ใบขนสินค้าในนามของส่วนราชการ

2) ใบขนสินค้าที่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4

3) ใบขนสินค้าขาเข้าหรือใบขนสินค้าขาออกที่ขนย้ายหรือโอนระหว่างผู้ประกอบการภายในประเทศ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรภายในประเทศ

4) ใบขนสินค้าขาเข้าที่นำ "ของ" (สินค้าหรือวัตถุดิบ) ออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน เขตอุตสาหกรรมส่งออก หรือเขตปลอดอากร โดยใช้สิทธิยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 หรือ กฏหมายอื่น

5) ใบขนสินค้าขาเข้าตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2482 ที่ขนย้ายหรือโอนไปใช้สิทธิยกเว้นอากร ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 หรือกฏหมายอื่น

6) ใบขนสินค้าผ่านแดน

7) ใบขนสินค้าขาเข้าหรือใบขนสินค้าขาออกพิเศษ ที่มีราคา "ของ" (สินค้าหรือวัตถุดิบ) ไม่เกิน 20,000 บาท

8) ใบขนสินค้าขาออกที่มีราคาของไม่เกิน 50,000 บาท ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ ด่านศุลกากรที่อยู่ในสังกัด ของ สำนักงานศุลกากรภาค

.

อัตราการชำระค่าธรรมเนียม

1) สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าหรือใบขนสินค้าขาออกสำหรับการผ่านพิธีการและการตรวจปล่อยสินค้า ราคาฉบับละ 200 บาท

2) การบันทึกข้อมูลในใบขนสินค้าขาเข้าหรือใบขนสินค้าขาออก เพื่อเข้าสู่ระบบ ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็คทรอนิคส์ หรือ EDI (Electronic Data Interchange) โดยเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร ราคาฉบับละ 70 บาท (กรณีใช้บริการ ณ สำนักงานกรมศุลกากร ค่าใช้จ่ายคิดเป็นรายครั้ง)

.

วิธีการชำระค่าธรรมเนียม

สำหรับใบขนสินค้าที่ผ่านพิธีการศุลกากรด้วยระบบ EDI เพื่อให้ความสะดวกแก่ท่านผู้ประกอบการ ทางกรมศุลกากรจะเก็บค่าธรรมเนียมเป็นรายเดือน (กรณีใช้บริการ ณ สำนักงานของผู้ประกอบการค่าใช้จ่ายคิดเป็นรายเดือน)

.

โดยทางกรมศุลกากรจะจัดส่งใบแจ้งหนี้มาให้ท่านผู้ประกอบการ ภายในสัปดาห์แรกของเดือนถัดไป ซึ่งท่านผู้ประกอบการสามารถนำใบแจ้งหนี้ดังกล่าว ไปชำระค่าธรรมเนียมศุลกากรได้ที่  ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคาร นครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคาร เอเชีย จำกัด (มหาชน)

.

โดยท่านผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางมาชำระด้วยตนเอง ณ สำนักงานกรมศุลกากร แต่ในกรณีที่ท่านผู้ประกอบการไม่สามารถชำระเงินเป็นรายเดือนได้ ท่านผู้ประกอบการก็สามารถเดินทางมาชำระได้ที่ หน่วยรับชำระอากรของกรมศุลกากร ภายในสิ้นเดือนที่ตรวจปล่อยสินค้าหรือวัตถุดิบของท่านและสำหรับใบขนสินค้าที่ไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร ด้วยระบบ EDI ขอให้ท่านผู้ประกอบการ ชำระค่าธรรมเนียม ณ หน่วยรับชำระอากรของสำนักงานศุลกากร หรือด่านศุลกากร โดยกำหนดชำระเมื่อท่านผู้ประกอบการได้รับเลขที่ของใบขนสินค้าแล้ว จึงนำไปให้เจ้าหน้าที่ทำการบันทึกข้อมูลเพื่อเข้าสู่ระบบ EDI

.

ทางด้านค่าธรรมเนียมที่ทางกรมศุลกากรได้รับจากท่านผู้ประกอบการทุก ๆ เดือนนั้น นอกจากจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพ และเทคโนโลยีให้กับกรมศุลกากรไทยแล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้า และการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศของท่าน ได้รับความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส รวมถึง สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เพื่อให้การนำเข้า และการส่งออกสินค้าของท่านมีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในทุก ๆ ขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญท่านผู้ประกอบการก็สามารถคำนวณต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า และส่งออกของท่านในแต่ละครั้งได้อย่างถูกต้องด้วยความแม่นยำมากขึ้นนั่นเอง

.

กำหนดเวลาในการดำเนินงานศุลกากร

กรมศุลกากรได้เริ่มเปิดใช้ระบบประกันเวลาสำหรับการปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้า โดยมีการกำหนดระยะเวลาที่แล้วเสร็จแน่นอน โดยเฉลี่ยในการใช้เวลาผ่านพิธีการใบขนสินค้าขาเข้าและใบขนสินค้าขาออก โดยประมาณ 1-1.30 ชั่วโมง / 1 ใบขนสินค้า

.

โดยมีการกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติงานในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น

- การปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าขาเข้า เจ้าหน้าที่จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ในการตรวจสอบเอกสาร

- ค่าภาษีอากรที่มีอยู่ในรายการ ไม่เกิน 10 รายการ / ใบขนสินค้า 1 ฉบับ ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที

- การตรวจปล่อยสินค้า กรณี เป็นการส่งมอบ และยกเว้นการตรวจปล่อย ส่วนการปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าขาออก เจ้าหน้าที่จะใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที

- การตรวจเอกสาร และค่าภาษีอากร จะใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที ในการตรวจปล่อยสินค้า และสำหรับการปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าขาเข้า สำหรับเขตปลอดอากร เขตอุตสาหกรรมส่งออก หรือคลังสินค้าทัณฑ์บน

- ใบขนสินค้าขาเข้าจำนวนไม่เกิน 10 รายการ / ใบขนสินค้าขาเข้า 1 ฉบับ เจ้าหน้าที่จะใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที

- ใบขนสินค้าขาออก จำนวนไม่เกิน 10 รายการ / ใบขนสินค้าขาออก 1 ฉบับ เจ้าหน้าที่จะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที

- การตรวจปล่อยสินค้า เพื่อนำเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน กรณีให้ส่งมอบ และยกเว้นการตรวจจะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที

- การตรวจปล่อยสินค้า เพื่อนำออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน จะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที เหล่านี้เป็นต้น

.
ระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ 

ตามที่ทางนิตยสารอินดัสเตรียล เทคโนโลยี รีวิวิ ฉบับปีก่อนได้เคยนำเสนอเรื่องโครงการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ไปแล้วนั้น มาในฉบับนี้ผู้เขียนก็มีเรื่องราวความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว มานำเสนอให้กับท่านผู้ประกอบการไทยได้อ่านกันต่อ จะเป็นอย่างไรนั้น มาติดตามกันต่อเลยค่ะ

.

การลงนามสัญญาในครั้งล่าสุดนี้ กำลังอยู่ในระยะที่ 2 ของโครงการจัดหาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์ โดยกรมศุลกากรจะลงนามในข้อตกลงซื้อ-ขาย Mobile จำนวน 2 เครื่อง ด้วยวงเงิน 5.834 ล้านเหรียญสหรัฐ (ไม่รวมภาษีนำเข้า) โดยกำหนดให้ทำการค้าต่างตอบแทน ในวงเงิน 3.50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 60% ของราคาซื้อ-ขาย ซึ่งผู้แทนรัฐบาลจีนได้ทำสัญญากับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยรัฐบาลจีนจะซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรกรจากประเทศไทย จำนวน 14 รายการ ดังนี้ คือ

.

1) ผลไม้ปรุงแต่ง/แห้ง

2) กุ้งสด/แช่แข็ง

3) แป้งมันสำปะหลัง

4) สต๊าสมันสำปะหลัง

5) ไก่สด/แช่แข็ง

6) ผักสด/แช่แข็ง

7) ปลาสด/แช่แข็ง

8) เส้นหมี่

9) ผักตัดแต่ง/กระป๋อง

10) น้ำผลไม้

11) ผลิตภัณฑ์ยาง

12) ยางธรรมชาติ

13) เหล็ก / ผลิตภัณฑ์เหล็ก

14) ผลิตภัณฑ์ข้าว

.

หลังจากการลงนามในความตกลงครั้งนี้ ก็ส่งมอบเครื่อง Mobile ทั้ง 2 เครื่อง เมื่อเดือนธันวาคม 2547 ส่วนการเจรจาจัดซื้อระบบ Fixed Type ของระยะที่ 2 กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจา

.

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมศุลกากร การจัดเตรียมสถานที่และระบบสาธารณูปโภค เพื่อรองรับการตรวจสอบโดยใช้เครื่อง X-Ray Container ประเภท Mobile พร้อมสำหรับการทดลอง ปฏิบัติงานในเบื้องต้นแล้ว โดยศูนย์ปฏิบัติการถาวรก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ในเดือนกันยายน 2547 ปีที่แล้ว ส่วนการเจรจาและก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการถาวรของระบบ Fixed-Type มีความก้าวหน้าเป็นอย่างดี

.

โดยท่านอธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการจัดหาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ดังนี้

.
โครงการ : ระยะที่ 1

ใช้งบเงินกู้ เพื่อปรับปรุงโครงการสร้างเศรษฐกิจ (SAL) จำนวน 970 ล้านบาท เพื่อการจัดซื้อระบบตรวจสอบประเภท Mobile จำนวน 5 เครื่อง โดยกำหนดส่งมอบ 3 ครั้ง

- ครั้งที่ 1 ประเทศจีนได้ส่ง 2 เครื่องแรกถึงประเทศไทยแล้ว เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2547 และกรมศุลกากรก็ได้ทำพิธีเปิดการทดลองใช้ระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ด้วยเครื่อง X-Ray 2 เครื่องแรกนี้แล้ว เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2547 ณ ท่าเรือศุลกากรแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

- ครั้งที่ 2 เครื่องที่ 2,3,4 ส่งมอบถึงประเทศไทยประมาณกลางเดือน กรกฏาคม - เดือนสิงหาคม 2547 ปีที่แล้ว

.
โครงการ : ระยะที่ 2

ใช้งบประมาณ ปี 2547 จำนวน 1,600 ล้านบาท สำหรับระบบ Fixed-Type 2 ระบบ Mobile จำนวน 2 เครื่อง

.
โครงการ : ระยะที่ 3
จะใช้งบประมาณ ปี 2548 จำนวน 800 ล้านบาท สำหรับ Mobile จำนวน 4 เครื่อง ซึ่งทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้สามารถเพิ่มเติม Mobile ได้อีกจำนวน 2 เครื่อง หากกรมศุลกากรพิจารณาแล้ว เห็นว่าจำนวน Mobile ที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับปริมาณงานที่ต้องใช้ปฏิบัติงาน
.

โครงการจัดหาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้า (Container Inspection System) หรือเครื่องเอ็กซเรย์ตู้สินค้า เป็นนโยบายของกรมศุลกากร ที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการตรวจสอบสินค้านำเข้า-ส่งออก ซึ่งนอกจากจะเป็นการรองรับแผนการปฏิรูปราชการของกรมศุลกากร เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีอากร ป้องกันและปราบปรามการลักลอบหนีภาษีศุลกากร และเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการค้าในประเทศและระหว่างประเทศ แล้วยังเป็นการรองรับโครงการว่าด้วยความปลอดภัยเบื้องต้นในการขนส่งตู้สินค้า (Container Security Initiative : CSI) ของกรมศุลกากรสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทยอีกด้วย

.

เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะ สำหรับข้อมูลที่นำเสนอในข้างต้นนี้ ท่านผู้ประกอบการสามารถนำมาใช้เตรียมตัว และสามารถนำมาคำนวณต้นทุนในการลงทุนในแต่ละครั้งของท่านได้ ถ้าผู้เขียนได้รับข่าวคราวความคืบหน้าทางด้านงานศุลกากรต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ประกอบการไทยแล้ว ผู้เขียนจะรีบนำมานำเสนอแก่ท่านผู้ประกอบการได้อ่านกันในฉบับต่อ ๆ ไป   

.

และสำหรับฉบับนี้  คงต้องขอขอบพระคุณ คุณศริษา มงคลไชยสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมศุลกากร ที่ได้เอื้อเฟื้อข้อมูลอันมีประโยชน์ให้แก่ท่านผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทยได้อ่านกันอย่างจุใจ เพื่อการพัฒนาให้ระบบการค้าของประเทศไทยมีความก้าวหน้าและเป็นที่เข้าใจตรงกันดีทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนและภาครัฐบาล พบกันใหม่ฉบับหน้า ฉบับนี้สวัสดีค่ะ