จากเหตุการณ์ความรุนแรงจากการชุมนุมที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนรวมถึงผู้ประกอบการในประเทศไทยอย่างมหาศาล โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบต่างต้องกุมขมับไปตาม ๆ กันกับการนับตัวเลขที่เสียหายไปและการหามาตรการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตด้วยต้นทุนที่ต้องเพิ่มสูงขึ้น
. |
จากเหตุการณ์ความรุนแรงจากการชุมนุมที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมจนถึงช่วงวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2553 ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนรวมถึงผู้ประกอบการในประเทศไทยอย่างมหาศาล ซึ่งในปัจจุบันภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างระดมความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ต่อผู้ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น |
. |
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมทางการเมือง ได้สร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ในเบื้องต้นแล้วคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 138,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 1.4 ของมูลค่า GDP ของประเทศ โดยเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วประมาณ 80,000 ล้านบาท จากรายได้ของภาคธุรกิจและมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม รวมทั้งมูลค่าอาคารสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินที่ถูกเผาทำลายในช่วงหลังจากการยุติการชุมนุม |
. |
ขณะที่ความเสียหายอีกไม่ต่ำกว่า 58,000 ล้านบาท เป็นผลพวงต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยจะสูญเสียโอกาสทางรายได้ในอนาคตไปตลอดระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ เช่น ผู้ประกอบการที่อาคารหรือร้านค้าถูกเผาทำลาย หรือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ที่ภาพเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงที่เผยแพร่ออกไปสู่ประชาคมโลก จะทำให้การฟื้นฟูความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทยในสายตาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อาจยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5-6 เดือนขึ้นไป |
. |
ถ้าพิจารณาความเสียหายในส่วนของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากตัวเลขดังกล่าว สามารถประมาณการเป็นมูลค่าความเสียหายรวมไม่น้อยกว่า 70% หรือ 95,000 ล้านบาท โดยเฉพาะมูลค่าผลกระทบต่อการสูญเสียโอกาสทางรายได้ ซึ่งอาจมีสัดส่วนมากกว่า 75-80% หรือประมาณ 43,500-46,500 ล้านบาทขึ้นไป |
. |
เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจรายใหญ่ซึ่งมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีกว่า โดยเฉพาะการประกันภัยธุรกิจ ทั้งในด้านการประกันอัคคีภัย การประกันวินาศภัย การประกันภัยก่อการร้าย หรือการประกันภัยจากธุรกิจหยุดชะงัก และการที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีขนาดของเงินทุน หรือมีความสามารถระดมทุนให้เพียงพอในการลงทุนเพิ่มเติมหรือชดเชยในส่วนที่สูญเสียไป |
. |
ในขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs มีการบริหารความเสี่ยงที่ด้อยกว่าหรืออาจไม่มีเลย รวมถึงเงินทุนของธุรกิจที่สูญเสียไปกับสินทรัพย์จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ที่ไม่มีการกันสำรองหรือไม่สามารถหาเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อชดเชยส่วนที่สูญเสียไปได้ แม้ว่าจะมีโครงการการสนับสนุนทางการเงินเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาของภาครัฐก็ตาม |
. |
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มาตการหรือกลยุทธ์เกี่ยวกับการป้องกันในการประกอบธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญหรือนำเข้ามาใช้ปฏิบัติในอนาคต แม้ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือคิดว่าธุรกิจของตนเองจะไม่ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน เนื่องจากถ้าเกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต ความเสียหาย และผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจมากมายเกินกว่าที่ผู้ประกอบการจะคาดคิดได้ |
. |
อย่างไรก็ตาม ในแนวทางหรือกลยุทธ์การป้องกัน ย่อมส่งผลให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นกับธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในอดีตผู้ประกอบการ SMEs อาจไม่เคยมีต้นทุนในส่วนนี้หรือมีการคำนึงถึงต้นทุนในส่วนดังกล่าวนี้เลย แต่จากเหตุการณ์ความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้น ต้นทุนที่ผู้ประกอบการ SMEs อาจจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม หรือจะกลายเป็นต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อใช้ในการป้องกัน บรรเทา หรือเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีความแน่นอนหรือมีความขัดแย้งเช่นในปัจจุบัน |
. |
โดยจากสมมติฐานสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีทุนของกิจการอยู่ระหว่าง 1-5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ของประเทศไทย ถ้าทำการวิเคราะห์ต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในลักษณะมาตราการป้องกันด้านต่างๆ เพื่อหาค่าเฉลี่ยว่า ถ้าธุรกิจได้ดำเนินการแล้ว ต้นทุนการดำเนินการของธุรกิจจะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณกี่เปอร์เซนต์ จะได้รายละเอียดดังนี้ |
. |
ต้นทุนการป้องกันด้านกายภาพ ได้แก่ ต้นทุนการก่อสร้างหรือตกแต่ง การออกแบบหรือการปรับเปลี่ยนวัสดุให้เหมาะสมสำหรับต้านทานอัคคีภัยเบื้องต้น รวมถึงการติดตั้งระบบป้องกันการโจรกรรม เช่น การติดตั้งสัญญาณกันขโมย การติดตั้งทีวีวงจรปิด การติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง โดยต้นทุนส่วนนี้เป็นการลงทุนเพิ่มเติมในสินทรัพย์ถาวรและอุปกรณ์ ซึ่งจะกลายเป็นการตัดราคาค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินตามช่วงเวลาอายุการใช้งาน โดยจะถูกเพิ่มเข้าไปในต้นทุนเดิมในการดำเนินกิจการอีกประมาณ 1.0%-1.7% |
. |
ต้นทุนการป้องกันด้านบริหารจัดการ ได้แก่ กระบวนการฝึกอบรมพนักงานหรือบุคลากรในการเตรียมความพร้อม หรือการปฏิบัติตามขั้นตอนว่า ตนเองจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น เช่น อัคคีภัย โจรกรรม วินาศภัย หรือแม้แต่กระบวนการทำงานต่างๆ ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ เช่น การเก็บรักษาเอกสารสำคัญ การจัดเก็บหรือการสำรองข้อมูล |
. |
รวมถึงการวางแผนระบบการจัดเก็บสินค้าคงคลังหรือ Stock สินค้า ที่อาจจำเป็นต้องแยกหรือมีการจัดเก็บต่างหากจากร้านค้าหรือสถานประกอบการ ซึ่งจะเกิดต้นทุนหรือค่าขนส่งสินค้าเพิ่มเติมขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs มักเก็บสินค้าทั้งหมดไว้ในสถานประกอบการ หรือร้านค้าซึ่งเมื่อเกิดความเสียหาย นอกจากสถานประกอบการจะเสียหายแล้ว Stock สินค้าทั้งหมดก็จะเสียหายด้วย เช่นกัน โดยจะถูกเพิ่มเข้าไปในต้นทุนเดิมในการดำเนินกิจการอีกประมาณ 2.9%-3.1% |
. |
ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยง ได้แก่ รูปแบบการป้องกันหรือถ่ายโอนความเสี่ยงความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ซึ่งมักอยู่ในลักษณะของการประกันภัยทั้งในตัวทรัพย์สินหรือต่อบุคคลที่สาม การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก และการป้องกันภัยก่อการร้าย โดยค่าใช้จ่ายหรือเบี้ยประกันดังกล่าวจะพิจารณาจากทุนประกันที่กำหนด |
. |
โดยภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้เบี้ยประกันดังกล่าวสูงขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบหรือการก่อการร้าย ซึ่งถ้าผู้ประกอบการต้องการประกันให้ครอบคลุมทุกด้าน อาจจำเป็นต้องจ่ายเบี้ยประกันถึงระหว่าง 2.0-2.5% ขึ้นไปของทุนประกัน โดยจะถูกเพิ่มเข้าไปในต้นทุนเดิมในการดำเนินกิจการอีกประมาณ 0.7%-0.9% |
. |
ต้นทุนเพิ่มด้านการป้องกันด้านการเงิน ได้แก่ การสำรองเงินสดในกิจการเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างหยุดการดำเนินการธุรกิจ และผลจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ในอนาคตต้นทุนดอกเบี้ยการกู้ยืมจากธนาคารหรือสถาบันการเงินสำหรับการประกอบธุรกิจ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1-1.25% อันมาจากจากต้นทุนเงินทุนกู้ยืมระหว่างประเทศหรือระหว่างสถาบันการเงินสูงที่เพิ่มขึ้น โดยจะถูกเพิ่มเข้าไปในต้นทุนเดิมในการดำเนินกิจการอีกประมาณ 3.4%-4.1% |
. |
ต้นทุนจากการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่เกี่ยวข้องกับตลาดลูกค้าต่างประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงที่แพร่กระจายออกไปทั่วโลก ย่อมจะทำให้ลูกค้าเดิม โดยเฉพาะลูกค้าต่างประเทศ ย้ายฐานทั้งด้านการสั่งซื้อสินค้าหรือการลงทุนไปยังตลาดในประเทศอื่นที่มีความมั่นคงกว่า อันจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม |
. |
จึงทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้ต้นทุนในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือสร้างกิจกรรมทางการตลาดมากขึ้น รวมถึงจากการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน จะส่งผลต่อรายได้ที่ลดลงของธุรกิจ โดยต้นทุนส่วนนี้ในการชดเชยและค่าเสียโอกาสจะเพิ่มเฉลี่ยเข้าไปในต้นทุนเดิมในการดำเนินกิจการอีกประมาณ 5.7%-6.9% |
. |
โดยถ้ารวมต้นทุนเพิ่ม ถ้าผู้ประกอบการ SMEs ได้มีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันต่างๆทั้งหมดทุกด้านข้างต้น จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นในทันทีอีกประมาณ 13.7%–16.7% จากต้นทุนเดิมที่เป็นอยู่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นต้นทุนเพิ่มที่อยู่ในระดับสูงมากอย่างยิ่ง |
. |
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SMEs อาจไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มในทุกๆ ด้าน โดยสามารถดูจากสภาพของธุรกิจและความจำเป็นของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ เนื่องจากหากผู้ประกอบการ SMEs มีต้นทุนที่สูงมากเกินไป ก็จะทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งขันอื่นได้เช่นกัน |
. |
โดยในปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งของภาครัฐ ที่ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เช่น การเปิดเว็บไซต์ rajprasong.com เพื่อเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม พร้อมเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเป็นช่องทางในการติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากสสว.หรือหน่วยงานอื่นๆ |
. |
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเยียวยาและฟื้นฟูจะเป็นมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs แต่ทว่ามาตรการในการป้องกัน หรือการบรรเทาความเสียหายสำหรับตัวผู้ประกอบการเอง ก็ไม่สามารถมองข้ามได้เช่นกัน และจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ไม่ประสบปัญหาจากความสูญเสียหรือความเสียหายของทรัพย์สินหรือของธุรกิจในอนาคตเช่นในปัจจุบัน |
. |
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม |