เนื้อหาวันที่ : 2010-06-10 08:30:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2093 views

ผุดศูนย์ BOC สร้างความแข็งแกร่ง SMEs ทั่วประเทศ

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งฟื้นฟูเอสเอ็มอีไทย หลังทรุดจากพิษการเมืองและการแข่งขันรุนแรง ผุดศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ BOC ใน 13 จังหวัดทั่วประเทศ หวังเป็นเซ็นเตอร์ข้อมูลอุตสาหกรรมแบบครบวงจร

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งฟื้นฟูเอสเอ็มอีไทย หลังทรุดจากพิษการเมืองและการแข่งขันรุนแรง ผุดศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ BOC ใน 13 จังหวัดทั่วประเทศ หวังเป็นเซ็นเตอร์ข้อมูลอุตสาหกรรมแบบครบวงจร

.

.

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งฟื้นฟูเอสเอ็มอีไทย หลังประสบภาวะทรุดหนักจากพิษการเมืองและการแข่งขันรุนแรง ผุดศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ BOC ใน 13 จังหวัดทั่วประเทศ หวังเป็นเซ็นเตอร์ข้อมูลอุตสาหกรรมแบบครบวงจร พร้อมจัดผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาโดยตรง คาดจะสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยในระยะยาว 

.

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการข้อมูลและปรึกษาแนะนำแห่งศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ BOC กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่ภาคธุรกิจของประเทศ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางด้านการเมือง รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 

.

และเพื่อเป็นการช่วยเหลือภาคเอกชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้ทำแผนฟื้นฟูทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเราได้ผลักดันศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ BOC ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งให้บริการแล้วในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี สุพรรณบุรี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา และกรุงเทพมหานคร 

.

“เหตุที่เราเน้นพัฒนากลุ่ม SMEs เป็นหลัก เพราะปัจจุบัน SMEs มีปริมาณกว่าร้อยละ 90 ของธุรกิจในประเทศไทย หรือเรียกได้ว่า เป็นเฟืองหลักที่ทำให้ธุรกิจไทยขับเคลื่อนในเชิงมหภาค ดังนั้นจึงควรผลักดัน SMEs จากระดับย่อย และส่งเสริมให้เติบโตได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน ที่ต้องการความใส่ใจและการดูแลจากภาครัฐ ในอันที่จะพัฒนาด้านอุตสาหกรรมให้สามารถเติบโตได้ระดับมาตรฐาน และสามารถแข่งขันกับตลาดในระดับสากลได้” 

.

ทั้งนี้ ศูนย์ BOC นอกจากจะมุ่งพัฒนาบุคลกรภาคอุตสาหกกรรม เทคโนโลยี และการตลาดอุตสาหกกรรมของไทยให้แข่งขันกับตลาดโลกได้แล้ว ที่แห่งนี้ยังมีบริการข้อมูลผ่านห้องสมุดอุตสาหกรรม (Business Library) มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาให้คำปรึกษา นอกจากนี้ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประเทศญี่ปุ่น ทางศูนย์ก็ได้จัดผู้ชำนาญการจากจากญี่ปุ่นโดยตรง ในนาม “โต๊ะญี่ปุ่น” มาแนะนำแนวทางให้ผู้ประกอบการที่สนใจ โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO 

.

“ศูนย์ BOC ค่อนข้างครบวงจรสำหรับผู้ประกอบการ SMEs โดยในส่วนของห้องสมุดฯ จะเป็นแหล่งการเรียนรู้ และสืบค้นข้อมูลด้านอุตสาหกรรม การจัดการ การผลิต การตลาด การเงิน และเทคโนโลยี ที่สามารถยืมไปอ่านได้ โดยเรามีระบบการค้นข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ท และยังมีการนำเอกสารทั้งเก่าและใหม่มาทำเป็นข้อมูลอิเลคทรอนิคส์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ http://library.dip.go.th ได้อีกด้วย”

.

ด้านบริการการให้คำปรึกษาและแนะนำ (Business Advisory) นั้น นายภาสกร เผยว่า จะเน้นการจับคู่ระหว่าง “ผู้ต้องการเรียนรู้” และ “ผู้รู้” ที่เรียกว่า “ที่ปรึกษา (Advisor) เข้าด้วยกัน เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนําที่ถูกต้อง ทั้งข้อมูล, บริการธุรกิจ, การวิเคราะห์การลงทุน และลู่ทางตลาด ในส่วนของโต๊ะญี่ปุ่นนั้น จะเน้นการดึงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ

.

และภาคเอกชนในประเทศญี่ปุ่น เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตัวอย่างโครงการความร่วมมือต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว อาทิ โครงการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายบริการทดสอบ วิเคราะห์วิจัยด้านอุตสาหกรรม หรือ ทีเอสเอ็นซี ที่ให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมไปแล้วกว่าร้อยราย, โครงการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตผ้าผืน, โครงการต้นแบบเตาหลอมประสิทธิภาพสูง, โครงการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการตรวจสารไดออกซินในประเทศไทย เป็นต้น

.

“ปัจจุบันสินค้าอุตสาหกรรมในประเทศไทย ยังเป็นที่ต้องการสำหรับตลาดโลก เพราะด้วยคุณภาพสินค้า และ Business wise หรือจริยธรรมในการทำธุรกิจ ทำให้สินค้าไทยมีคุณภาพและเทคโนโลยีที่สูงกว่าหลายประเทศ อีกทั้งไทยยังมีความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจในสายตาต่างประเทศ และเมื่อภาครัฐยื่นมือให้การสนับสนุน ก็จะทำให้ SMEs ของไทย มีความแข็งแกร่ง และพัฒนาได้อย่างมั่นคงแน่นอน” 

.
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถขอรับบริการได้ที่ ศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม (BOC) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร 02-202-4426-7