เนื้อหาวันที่ : 2010-06-09 15:07:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4932 views

การศึกษาเศรษฐศาสตร์ตามแนวทางประวัติศาสตร์

เมื่อปี 2540 เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินขึ้นในประเทศของเรา เวลาล่วงผ่านมากว่า 10 ปี สังคมไทยเรียนรู้อะไรบ้างจากวิกฤตในครั้งนั้น หากเราทบทวนให้ดีจะพบความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

ท่านผู้อ่านคงจำกันได้ดีว่าเมื่อปี 2540 เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินขึ้นในประเทศของเรา เวลาล่วงผ่านมากว่า 10 ปี สังคมไทยเรียนรู้อะไรบ้างจากวิกฤตในครั้งนั้น หากเราทบทวนให้ดีจะพบความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวมากขึ้น ภาคการผลิต (Real Sector) เรียนรู้ว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าหรืออ่อนค่ามีผลกระทบต่อกำไรและขาดทุนอย่างไร 

.

ภาคเอกชนเข้าใจคำว่าการเปิดเสรีการค้า (Free Trade)จากนโยบายที่เรียกว่า FTA พรรคการเมืองเริ่มหันมาชูนโยบายประชานิยมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง กองทุนหมู่บ้าน พักชำระหนี้เกษตรกร และหลักประกันสุขภาพ เป็นต้น และปัจจุบันประเทศไทยกำลังหันกลับมาสู่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยที่ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากันต่อไป

.

สำหรับ Macroeconomic Outlook ฉบับนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงการศึกษาเศรษฐศาสตร์ตามแนวทางประวัติศาสตร์ หรือเรียกอีกชื่อว่า การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ (History of Economy)

.
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจคืออะไร

หลังจากจบซีรีส์เรื่องยาวของ เศรษฐศาสตร์หลายสำนัก ผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย (History of Thai Economy) แต่ก่อนที่จะไปถึงเรื่องดังกล่าว เรามาทำความรู้จักกับความหมายของคำว่าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจกันก่อน Douglas C North, นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 1993, ได้ให้คำจำกัดความของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจว่าเป็น การศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยมุ่งศึกษามิติทางเศรษฐกิจของมนุษย์เป็นสำคัญ

.

Douglas C North
เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์
ผู้มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกงานวิจัยประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ

.

ในอดีตนั้นหนังสืออย่าง The Wealth of Nation (1776) ของ Adam Smith ก็จัดเป็นตำราประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่สำคัญเล่มหนึ่ง เพราะกล่าวถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐของยุโรปในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ในวงวิชาการประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ, ได้นับเอาช่วงเวลาการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ประมาณต้นศตวรรษที่ 18 เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจของมนุษยชาติ

.

ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาจากนักวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นมีส่วนทำให้การผลิตแต่ละครั้งสามารถผลิตได้ครั้งละมาก ๆ (Mass Products) ประกอบกับการคมนาคมขนส่งที่เริ่มสะดวกขึ้นอันเนื่องมาจากเครื่องจักรไอน้ำทำให้การขนส่งสินค้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทำได้มากขึ้น ผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดสินค้าให้ใหญ่ขึ้น

.

ขณะเดียวกันวิชาเศรษฐศาสตร์ได้พัฒนาไปพร้อม ๆ กับความเจริญของอุตสาหกรรมในยุโรป ซึ่งความคิดของนักเศรษฐศาสตร์สำนัก Classic เช่น Adam Smith, David Ricardo, Robert Multhus และ John Stuart Mill ล้วนสร้างอิทธิพลทางความคิดให้กับผู้ปกครองประเทศต่าง ๆ ของยุโรปในสมัยนั้น

.

นักเศรษฐศาสตร์บนแผ่นดินยุโรปมีส่วนสร้างสรรค์วิชาเศรษฐศาสตร์ให้มีความเป็นศาสตร์ที่ทันสมัยมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมีการนำคณิตศาสตร์มาช่วยอธิบาย เช่น งานของ Augustine Coutnot และ Leon Walras นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งเศสทั้งสองท่านนี้มีส่วนทำให้วิชาคณิตศาสตร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์ อย่างไรก็ตามการศึกษาเศรษฐศาสตร์มิได้มีเพียงคณิตศาสตร์เท่านั้นที่เป็นเครื่องมือ หากแต่ยังมีประวัติศาสตร์มาเป็นเครื่องมือในการอธิบายกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์

.
เริ่มต้นที่เยอรมันกับสำนัก German Historical School

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ได้ถือกำเนิดบนภาคพื้นยุโรป โดยในแต่ละประเทศล้วนมีสำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เช่น อังกฤษเป็นฐานที่มั่นของเหล่านักเศรษฐศาสตร์สำนัก Classic ฝรั่งเศสเป็นจุดศูนย์กลางของการศึกษาเศรษฐศาสตร์เชิงคณิตศาสตร์ ขณะที่ในเวียนนา นักเศรษฐศาสตร์ออสเตรีย มีส่วนในการพัฒนาแนวคิดเรื่อง Marginal Utility นอกจากนี้ยังมีสำนักคิดที่ตั้งอยู่ใน สต๊อกโฮล์ม สวีเดน และ ลูเซิน สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น 

.

อย่างไรก็ดีในเยอรมันเองนับเป็นแหล่งบ่มเพาะปราชญ์มาหลายยุคหลายสมัยอย่าง เกอเธ่, นิทช์เช่ หรือ คาร์ล มาร์กซ์ เจ้าแห่งลัทธิสังคมนิยม เช่นเดียวกันการศึกษาเศรษฐศาสตร์ตามแนวทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจึงถือกำเนิดขึ้นที่เยอรมันในช่วงกลางถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19

.

นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในเยอรมันที่สำคัญได้แก่ Wilhelm Roscher, Karl Knies, Bruno Hildelbrand และ Gustav Schmoller สำหรับ Schmoller นั้นนับว่ามีชื่อเสียงมากที่สุดในฐานะที่เป็นหัวหอกในการสร้างสำนักคิด German Historical School ซึ่งเป็นสำนักคิดที่มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ

.

สองนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจคนสำคัญชาวเยอรมัน

.

ขณะที่เยอรมันได้พัฒนาแนวทางการศึกษาเศรษฐศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ของอังกฤษเองได้พยายามจะศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของอังกฤษซึ่งแตกต่างจากแนวทางการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักสมัยนั้น นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงมากที่สุดท่านหนึ่งคือ Sir William James Ashley ซึ่งการศึกษาของ Ashley ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ได้เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลด้านสถิติทางเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยมุ่งทำการวิจัยเรื่องพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปและอเมริกา

.

Sir William James Ashley
นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชาวอังกฤษ
Ashley ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์
ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจคนแรกของมหาวิทยาลัย Harvard

.
วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ

นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจมีความสนใจศึกษาเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) ของแต่ละสังคม รวมถึง การกระจายรายได้และทรัพย์สินภายในระบบเศรษฐกิจ (Economic Distribution) ว่ามีลักษณะอย่างไร นักเศรษฐศาสตร์ที่ยึดมั่นในแนวทางวิจัยเชิงประวัติศาสตร์นั้น ได้แบ่งประเภทของการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจออกเป็น 5 ลักษณะ ดังนี้

.

1. ศึกษาโดยยึดปัจจัยเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด ทั้งนี้นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจมองว่าพัฒนาการของแต่ละระบบเศรษฐกิจล้วนมีที่มาจากปัจจัยเศรษฐกิจ ทั้งทุน แรงงาน และผู้ประกอบการ นอกจากนี้ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดรูปแบบของเศรษฐกิจคือ บทบาทของรัฐทั้งในด้านการออกกฎหมาย การกำหนดกรรมสิทธิ์ในการครอบครองทรัพย์สิน

.

2. ศึกษาโดยอธิบายประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแบบเป็นขั้นเป็นตอน หรือ Stages Theory วิธีการดังกล่าวเป็นการนำเสนอภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจจากขั้นตอนหนึ่งไปสู่ขั้นตอนหนึ่ง เช่นงานของ Rostow นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่อธิบายถึงขั้นตอนการเติบโตทางเศรษฐกิจว่าประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน คือ ขั้นแรก สังคมยังล้าหลังอยู่ (Traditional Society)

.

ต่อมาสังคมเริ่มเตรียมตัวเข้าสู่การเติบโต (Pre take off stage) หลังจากนั้นสังคมเริ่มมีการพัฒนา (Take off stage) จนกระทั่งสังคมจะพยายามรักษาระดับการอยู่ตัวนั้น (Maturity Society) และขั้นสุดท้ายกลายเป็นสังคมที่พร้อมบริบูรณ์ (High Mass Consumption Society) ในที่สุด Rostow นับเป็นนักเศรษฐศาสตร์พัฒนาที่สามารถฉายภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจได้เห็นเป็นรูปธรรม

.

แนวทางของ Rostow จึงถูกนำไปประยุกต์ใช้ในกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจของ World Bank นอกเหนือจากการอธิบายประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอย่างเป็นขั้นตอนแล้ว การอธิบายในลักษณะ Cycle หรือ วัฎจักรทางเศรษฐกิจก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจนิยมใช้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังที่บุกเบิกงานแนวนี้คือ Joseph Schumpeter ได้อธิบายกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดวัฏจักรทางธุรกิจ 

.

Joseph Schumpeter
นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรีย
ผู้บุกเบิกงาน Business Cycle

.

3. ศึกษาเฉพาะบทบาทของ “สถาบันทางเศรษฐกิจ” เช่น ศึกษาวิวัฒนาการของระบบธนาคาร หรือ บทบาทของการสร้างทางรถไฟต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่ง นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในการศึกษาตามแนวทางนี้ ได้แก่ Thomas Cochran และ Robert Fogel สำหรับ Fogel นั้นเขามีส่วนในการพัฒนาองค์ความรู้ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของอเมริกาโดยนำเอาวิธีการทางเศรษฐมิติมาช่วยในการวิเคราะห์ และภายหลัง Fogel ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1993 ร่วมกับ Douglas C North ในฐานะที่มีผลงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ

.

.

4. ศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแนวใหม่ (New Economic History) โดยนำเอาเศรษฐมิติมาช่วยในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ หรือเรียกอีกชื่อว่า Cliometrics งานศึกษาแนวนี้เป็นการศึกษาในเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) เช่นงานของ Simon Kuznets ที่ศึกษาวิวัฒนาการของการจัดทำบัญชีรายได้ประชาติซึ่งภายหลังพัฒนามาเป็น GDP นั่นเอง ทำให้ Kuznets ได้รับรางวัลโนเบลอีกเช่นกัน

.

5.  ศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเชิงเปรียบเทียบโดยนำเอาปัจจัยอื่น ๆ มาร่วมพิจารณา เช่น ศาสนา วัฒนธรรม สังคม ผลงานที่สำคัญของแนวทางนี้ คือ งานของ Max Weber ที่ศึกษาอิทธิพลของนิกาย Protestant ที่มีต่อการพัฒนาของระบบทุนนิยม

.

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจมีความสำคัญอยู่ ไม่น้อย เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์มีความสนใจในศาสตร์หลายด้านทำให้พื้นที่การศึกษาจึงเปิดกว้างอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้เองทำให้องค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ยังคงเติบโตได้ต่อไป สำหรับฉบับหน้า, ผู้เขียนจะเล่าถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย โดยจะเริ่มต้นด้วยตอนเศรษฐศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

.

เอกสารประกอบการเขียน

1. ภาพจาก www.economyprofessor.com, http://cepa.newschool.edu/het/ และ www.wikipedia.org
2. Roger E Backhouse, The penquin history of economics
3. กนกศักดิ์ แก้วเทพ, วารสารเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์ 5, 1, มกราคม 2536