เนื้อหาวันที่ : 2010-06-09 13:45:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1362 views

ก.อุตฯ เดินหน้าแผนไทยเข้มแข็ง กระตุ้นเอกชนเตรียมรับการแข่งขัน

"วิฑูรย์" ย้ำเดินหน้าแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง คุยโวมีผู้ประกอบการเข้าร่วมเกินคาด เร่งทุกโครงการดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สู่เป้าหมายการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม

"วิฑูรย์" ย้ำเดินหน้าแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง คุยโวมีผู้ประกอบการเข้าร่วมเกินคาด เร่งทุกโครงการดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ  สู่เป้าหมายการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม

.

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี   ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

.

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี   ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินโครงการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ภายใต้แผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีการฟื้นฟูเศรษฐกิจและให้เกิดการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศ 

.

โดยขณะนี้ได้เดินหน้าในหลายโครงการ  ได้แก่ 1.)โครงการพัฒนาห้องปฎิบัติการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม       2.) โครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารไทย (Thailand Food Forward)    

.

3.) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฎิบัติการส่งเสริม SMEs 4.) โครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมเพื่อการสหกรณ์ห้องเย็นและการตลาดกลางผัก ผลไม้ จังหวัดปัตตานี ซึ่งแต่ละโครงการได้มีการลงนามในสัญญาเพื่อใช้งบประมาณในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านการค้าและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน

.

“ถือได้ว่า การดำเนินงานในขณะนี้เกือบทุกโครงการมีความก้าวหน้ามากกว่า 50 % ซึ่งคาดว่าแผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็ง จะสามารถดำเนินโครงการต่างๆและมีการใช้จ่ายงบประมาณได้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้  เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจหลายด้าน  ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีการลงทุนในเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐในระยะยาว”    นายวิฑูรย์ กล่าว

.

ทั้งนี้  สำหรับโครงการพัฒนาห้องปฎิบัติการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  อยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  (สมอ.) มีผลการดำเนินงานทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ภายใต้งบประมาณ 180 ล้านบาท มุ่งเน้นการปรับปรุงและพัฒนาบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ทันสมัย และจำเป็นต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมให้มีการผลิต

.

สินค้าที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน  ด้วยการจัดหาเครื่องมือในห้องปฎิบัติการทดสอบให้ห้องปฎิบัติการ        3 สถาบัน ได้แก่ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ  และสถาบันอาหาร  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทดสอบผลิตภัณฑ์ตามกฎระเบียบของประเทศคู่ค้า

.

เช่น ระเบียบว่าด้วยการควบคุมเคมีภัณฑ์ (REACH)  ระเบียบด้านวัสดุและสิ่งของที่ใช้สัมผัสอาหาร (Food Contact Materials)  ซึ่งในห้องปฎิบัติการจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรในห้องทดสอบที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถตรวจสอบและรองรับผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล  

.

ส่วนโครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารไทย (Thailand Food Forward)   ดำเนินการโดยสถาบันอาหาร มีการดำเนินงานคืบหน้าไปมาก ภายใต้งบประมาณ 97 ล้านบาท  ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์  โดยขณะนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการกว่า 60 ราย        นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินงานคัดเลือกผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ซึ่งมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

.

สำหรับ โครงการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฎิบัติการส่งเสริม SMEs ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ด้วยงบประมาณ 300 ล้านบาท  เน้นการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ SMEs  ซึ่งขณะนี้ได้ทำสัญญาว่าจ้างกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เป็นผู้ดำเนินการ มีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพไม่น้อยกว่า 20 รายการ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 100 รายการ เป็นต้น

.

นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมเพื่อการสหกรณ์ห้องเย็นและการตลาดกลางผัก ผลไม้ จังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ด้วยงบประมาณ 36 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างปรับพื้นที่สร้างอาคารอเนกประสงค์ และห้องเย็นแช่แข็งให้เป็นพื้นที่ตลาดกลางสำหรับซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีเป้าหมายที่จะอบรมสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 4,000 ราย เพื่อให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ

.
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม