ปัจจุบันหลายประเทศในโลกมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ขณะที่หลายประเทศเศรษฐกิจก็กำลังโตอย่างต่อเนื่อง ภาวะอุตสาหกรรมเองก็มีสัญญาณฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกให้เห็น
. |
ปัจจุบันหลายประเทศในโลกมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ขณะที่หลายประเทศก็มีระดับเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องไปจากปี 2552 โดยรายงานตัวเลขดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจผสม )Composite Leading Indicator : CLI) ของ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) หรือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา |
. |
ซึ่งวัดจากประเทศกลุ่ม OECD 29 ประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว) และประเทศสำคัญๆ นอกกลุ่มอีก 6 ประเทศ ได้แก่ บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย รัสเซีย และแอฟริกาใต้ ค่าดัชนีล่าสุดของหลายประเทศเศรษฐกิจส่งสัญญาณดีในการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ |
. |
โดยประเทศส่วนใหญ่ต่างก็มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าบางประเทศการขยายตัวอาจจะมีการชะลอตัวบ้างไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศจีน ยกเว้นบราซิลกับอินเดียที่ยังคงอยู่ในภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ |
. |
ทั้งนี้ OECD Area Composite Leading Indicator ซึ่งวัดกิจกรรมการผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม OECD 29 ประเทศ เดือนมีนาคม 2553 มีทิศทางการขยายตัวมากอยู่ที่ 103.9 เพิ่มขึ้น 0.6 จุด จากเดือนก่อนหน้า และยังเพิ่มขึ้น 11.8 จุด จากเดือนเดียวกันของปี 2552 รวมถึงดัชนีเพิ่มขึ้นและมีค่าเกิน 100 ซึ่งเป็นระดับอ้างอิงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน จากสัญญาณของดัชนีชี้นำดังกล่าว ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเศรษฐกิจโลกได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว |
. |
ที่มา : OECD และ JPMorgan |
. |
นอกจากนี้ ทิศทางของภาคการผลิตโลก ก็ขยายตัวเช่นเดียวกับทิศทางของเศรษฐกิจ โดยดัชนี JP Morgan Global Manufacturing PMI ซึ่งวัดคำสั่งซื้อสินค้าของภาคการผลิตทั่วโลกกว่า 7,500 โรงงาน ในประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ 26 ประเทศ ก็พบสัญญาณการฟื้นตัว และการฟื้นตัวนี้มาจากจุดต่ำสุดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 (2008) มีค่ามากกว่า 50 เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน (ดัชนีมีค่ามากกว่า 50 หมายถึง สถานการณ์ด้านการผลิตดีขึ้น) |
. |
โดยในเดือนมีนาคม 2553 อยู่ที่ 56.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งอยู่ที่ 55.4 ในภาพรวมพบว่าหลังเดือนกุมภาพันธ์มีอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วทั้งการผลิต คำสั่งซื้อ ราคาวัตถุดิบและการจ้างงาน |
. |
จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจโลกดังกล่าวข้างต้นแสดงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างชัดเจน แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนอาจจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ตามหลังการฟื้นตัวของภูมิภาคอื่นๆ บ้างจากปัญหาหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในประเทศกรีซรวมถึงบางประเทศในสหภาพยุโรป |
. |
ในส่วนของภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทยเองก็มีสัญญาณการฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยจากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด เครื่องชี้ฯ ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวอย่างชัดเจน |
. |
โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ภาคอุตสาหกรรม หรือ GDP ภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1/2553 ขยายตัวร้อยละ 22.8 สูงที่สุดในรอบ 16 ปี และเป็นการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 20 เป็นครั้งแรก โดยขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง จากไตรมาสที่ 4/2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 |
.. |
ในส่วนของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรวมในไตรมาสที่ 1/2553 ขยายตัวร้อยละ 31.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนมีนาคม 2553 ขยายตัวถึงร้อยละ 32.6 ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นบวก 5 เดือนติดต่อกัน |
. |
นอกจากนี้ยังเป็นการขยายตัวสูงที่สุดนับตั้งแต่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหรือ สศอ. เริ่มจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในปี 2543 หรือในรอบ 10 ปี และทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้กำลังผลิตเกินร้อยละ 60 เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน (กันยายน 2552-มีนาคม 2553) ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2551 ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 62.6 |
. |
ทั้งนี้จากการขยายตัวที่ดีของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงปลายปี 2552 ทำให้ดัชนีอุตสาหกรรมในปี 2552 หดตัวหรือติดลบเพียงร้อยละ 7.2 ต่ำกว่าที่ สศอ. คาดไว้ว่าจะติดลบที่ร้อยละ 8-9 อัตราการใช้กำลังการผลิตและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในระดับสูงดังกล่าว เป็นเครื่องชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างชัดเจน |
. |
ที่มา : สศอ. |
. |
เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่สำคัญอีกหนึ่งตัวซึ่งเป็นเครื่องชี้ฯ ทางด้านแรงงาน ได้แก่ ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยในไตรมาสที่ 1/2553 ดัชนีแรงงานฯ ขยายตัวร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในเดือนมีนาคม 2553 ขยายตัวถึงร้อยละ 14.8 ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน (ธันวาคม 2552–มีนาคม 2553) จากที่ติดลบมา 15 เดือนติดต่อกันตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 และยังเป็นการขยายตัวสูงที่สุดนับตั้งแต่ สศอ. เริ่มจัดทำดัชนีแรงงานฯ ในปี 2543 หรือในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกับดัชนีผลผลิต |
. |
อุตสาหกรรม ทั้งนี้อาจจะกล่าวได้ว่าดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องชี้ที่สามารถบอกถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยที่แท้จริง ซึ่งอาจจะอธิบายเหตุผลอย่างง่ายๆ ได้ว่า เมื่อมีการผลิตสินค้าเกิดขึ้นก็เท่ากับว่าต้องมีการจ้างงาน หรือมีการใช้ปัจจัยการผลิต ทำให้เจ้าของปัจจัยการผลิตหรือแรงงานมีรายได้ |
. |
เมื่อมีรายได้ ก็เท่ากับว่าได้รับสิ่งที่เป็นสื่อกลางหรือเงินมาไว้ใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้า หรือที่เรียกว่าเกิดการบริโภคขึ้น เมื่อสินค้าถูกบริโภคจนหมด ผู้ผลิตก็จะผลิตสินค้าขึ้นมาใหม่ในรอบถัดไป |
. |
จากนั้นก็เกิดเป็นวงจรหมุนเวียนระหว่างระหว่างการผลิตกับการบริโภคไปเรื่อยๆ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกมักว่าเกิด “กระแสการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ” แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะตีความ “การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” จะแตกต่างกันไปอย่างไรสำหรับผู้กำหนดนโยบาย นักการเมืองหรือนักวิชาการ แต่ในสายตาของประชาชนทั่วไปแล้ว ดัชนีชี้วัดหรือเครื่องชี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แม่นยำที่สุด นั่นคือ การมีงานที่มั่นคงทำ |
. |
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ |
. |
ในด้านของเครื่องชี้ในภาคต่างประเทศที่สามารถแสดงถึงภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในแต่ละช่วงเวลาได้ดีเช่นกันคือ มูลค่ากานำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบ และมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งนี้ในการวิเคราะห์จะใช้มูลค่าที่ไม่รวมทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป (ทองคำแท่ง) เนื่องจากส่วนใหญ่การนำเข้าและส่งออกทองคำแท่งในระยะหบังจะเป็นการซื้อทองคำเพื่อการลงทุนหรือการเก็งกำไรมากกว่าใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ |
. |
ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบ (ไม่รวมทองคำ) ที่เป็นเครื่องชี้หรือดัชนีชี้นำ (Leading Indicator) ของภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ตัวเลขในไตรมาสที่ 1/2553 มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐของสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบ (ไม่รวมทองคำ) กลับมาขยายตัวเป็นบวกในอัตราที่ร้อยละ 27.9 และ 67.0 ตามลำดับ หลังจากที่ทั้ง 2 รายการเริ่มติดลบมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 |
. |
เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนมีนาคม 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 54.2 เป็นการขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน คิดเป็นมูลค่า 4,114.8 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งนับเป็นเดือนที่ 9 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 ที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนมีมูลค่าเกิน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่มีการนำเข้าในช่วงก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 |
. |
ในด้านของมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนมีนาคม 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 65.8 เป็นการขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน คิดเป็นมูลค่า 5,732.74 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งนับเป็นเดือนที่ 4 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 ที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ (ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่าเกิน 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นระดับที่มีการนำเข้าในช่วงก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 |
. |
จากตัวเลขในส่วนของการนำเข้าดังกล่าวข้างต้นก็เป็นเครื่องยืนยันการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมไทยอีกหนึ่งแรง ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักของไทยเรา ในการผลิตส่วนใหญ่มีการนำเข้าชื้นส่วนและวัตถุดิบต่างๆ มาจากต่างประเทศ นำมาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปในประเทศไทยและส่งออก เมื่อมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็ย่อมส่งผลต่อระดับการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ย่อมจะต้องมีการขยายตัวตามกันไปด้วย |
. |
จากทางด้านของการนำเข้าซึ่งเกี่ยวกับผู้ผลิตหันมาพิจารณาในส่วนของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคกันบ้าง ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะเป็นเครื่องสะท้อนความต้องการหรืออุปสงค์ในสินค้าอุตสาหกรรมจากภายนอกประเทศ (External or Foreign Demand) |
. |
โดยในไตรมาสที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมทองคำมีการขยายตัวร้อยละ 42.67 เป็นการขยายตัวเป็นบวกติดต่อกัน 2 ไตรมาส เมื่อพิจารณาข้อมูลเป็นรายเดือน เดือนมีนาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 40.89 เป็นการขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน จากที่ติดลบมาตั้งแต่ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 12,263.92 ล้านเหรียญ ซึ่งนับเป็นเดือนที่ 7 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 ที่มูลค่า |
. |
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมทองคำมีมูลค่าเกิน 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นระดับที่มีการส่งออกในช่วงก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 ทั้งนี้การขยายตัวดังกล่าวข้างต้นกระจายไปในทุกกลุ่มสินค้าตลอดจนทุกตลาดหลัก โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากข้อตกลงเอฟทีเอ และเศรษฐกิจประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ขยายตัวค่อนข้างแข็งแกร่ง |
. |
กล่าวโดยสรุป เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้กล่าวในข้างต้น ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวอย่างค่อนข้างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ แต่อย่างไรก็ดีในส่วนของสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม และเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม |
. |
ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายและบรรยากาศของการบริโภค และภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งอาจทำให้เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีการชะงักและสะดุดลงในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 แม้ว่าแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกจะยังคงทำหน้าที่ได้ดีก็ตาม |
. |
ทั้งนี้ สศอ. ได้ทำการประเมินผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจรวมของประเทศและโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม โดยสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างชัดเจนมีอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ 1.การท่องเที่ยว 2.การเบิกจ่ายงบของภาครัฐตามโครงการต่างๆ ที่อาจจะมีความล่าช้าเกิดขึ้น และ 3.ความเชื่อมั่น |
. |
สำหรับผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกรณีรุนแรงมาก และคาดว่าส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนรวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ โดย สศอ. ประเมินว่า การบริโภคภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.9 และการลงทุนภายในประเทศลดลงร้อยละ 2.8 (ปนะมาณการจากการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงร้อยละ 1 จะส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศลดลงร้อยละ 0.9 และส่งผลต่อไปยังการลงทุนภายในประเทศลดลงร้อยละ 2.8) |
. |
จะทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมทั้งปี 2553 ลดลงจากกรณีฐานร้อยละ 0.9 คิดเป็นมูลค่า 33,076 ล้านบาท อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากได้แก่ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปูนซีเมนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ผลกระทบที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องของความไม่มั่นใจต่อผู้ประกอบการไทยที่จะส่งมอบสินค้าได้ทันตามกำหนดเวลาหากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นอีก |
. |
ซึ่งในกรณีนี้อาจจะส่งผลต่อคำสั่งซื้อหรือออเดอร์ในช่วงครึ่งหลังของปี หากยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้าต่างประเทศให้กลับคืนมาได้ ทั้งนี้ในระยะสั้นในไตรมาสที่ 2-3 ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบอาจจะยังไม่มากนัก เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศล่วงหน้า 3.-6 เดือนแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอนิสงค์จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มดีขึ้น |
. |
ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูงที่ทิศทางการส่งออกตลอดทั้งปี 2553 ของไทยจะมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยสูงเป็นตัวเลข 2 หลัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอานิสงส์จากการเปิดตลาดการค้าเสรีที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกนี้ น่าจะยังช่วยประคับประคองการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยในปีนี้ไว้ได้ |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม |