อุปสรรคอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาโลกร้อน คือ มุมมองและข้อมูลที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันคือ ภาวะโลกร้อนเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
โดย:คุณจุมพฎ สายหยุด |
. |
. |
อุปสรรคอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาโลกร้อน คือ มุมมองและข้อมูลที่แตกต่างกัน ในระดับต่างๆ นับตั้งแต่มุมมองที่สุดขั้วที่ว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ปรกติ ไม่มีอะไรน่าวิตก หรือในระดับที่รองลงมาคือ เห็นพ้องกันจริงว่า ภาวะโลกร้อนเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ แต่มีข้อโต้แย้งว่าเกิดจากกิจกรรมในส่วนใด มากน้อยเพียงใด ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันไปอีก ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาก็ย่อมแตกต่างกันไปอีก |
. |
ยกตัวอย่างเรื่องของ ก๊าซมีเธน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการทำให้โลกร้อน |
เรื่องมีอยู่ว่า ในความรับรู้ส่วนใหญ่ ก๊าซที่เป็นตัวการสำคัญในการทำโลกร้อน ที่มักถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ ได้แก่ ก๊าซซีเอฟซี (CFC : Chlorofluorocarbon) หรือสารประกอบคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ที่เกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ และในกระบวนการอุตสาหกรรม ตามมาคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นผลจากกิจกรรมการเผาไหม้รูปแบบต่าง ๆ ทั้งเชื้อเพลิง การทำปศุสัตว์ หรือไฟป่า |
. |
แต่เนื่องจาก ก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นตัวการที่ยังมาแรง จึงกลายเป็นเป้าหมายหลักในการรณรงค์ หรือสร้างข้อตกลงเพื่อลดการปล่อยก๊าซ ถึงขั้นมีสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงคาร์บอนเครดิต |
. |
แล้วก็มาถึงคิวของ ตัวการทำโลกร้อนในลำดับถัดมาคือ ก๊าซมีเทน (CH4)ที่มีคุณสมบัติขอก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เสียอีก เพราะสามารถดูดกลืนรังสีอินฟราเรดได้ดีกว่า และยังมีศักยภาพในการทำให้โลกร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21 เท่า ! |
. |
ก๊าซมีเทน มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากกระบวนการตามธรรมชาติ เนื่องจากการทำนาข้าว ปศุสัตว์ รวมถึงการเผาไหม้มวลชีวภาพ การใช้และเผาไหม้เชื้อเพลิงประเภทถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ นั่นคือนอกเหนือจากเป็นผลของการเผาผลาญน้ำมัน ยังมี ส่วนเกี่ยวข้องกับอาชีพเกษตรกรรมซึ่งเป็นปากท้องของคนทั้งโลก นับตั้งแต่ การทำนาข้าว จนถึงวัว ควายที่เรอ |
. |
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) รายงานว่า ดินในนาข้าวมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนประมาณ 15-20% ของปริมาณมีเทนที่ปลดปล่อยสู่บรรยากาศ แถมยังบอกว่า ข้าวที่แช่น้ำนั้นปล่อยก๊าซมีเทนเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหิน หลายโรง นั่นหมายความว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก มีฐานะเป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนขนาดใหญ่ไปด้วย |
. |
เรื่องนี้ยังกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนมาก่อนเมื่อคราวการประชุมร่างพิธีสารเกียวโตซึ่งถือเป็นธรรมนูญในการกำหนดพันธกรณีของประเทศต่างๆที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาโลกร้อน ที่ประเทศอุตสาหกรรมใช้เงื่อนไขนี้บังคับให้ประเทศเกษตรกรรม มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก |
. |
แน่นอนว่าเรื่องนี้ มีข้อโต้แย้งจาก นักวิชาการไทย รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร ประธานสายสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ซึ่งได้ วิจัยก๊าซมีเทนในนาข้าว และสรุปว่า “....ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวคิดเเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก และยังเป็นการปล่อยเพื่อความอยู่รอด ของคนไทย เนื่องจากคนไทยทุกคนต้องกินข้าว การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวจึงไม่จำเป็น...” |
. |
งานวิจัยอธิบายว่าก๊าซจากนาข้าวเกิดจากการย่อยสลายสารอินทรีย์จากจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินนา จากการทำวิจัยพบว่า ช่วงเวลาที่มีการปล่อยก๊าซมากที่สุด คือ เวลาที่ต้นข้าวเริ่มออกดอกออกรวง จุลินทรีย์จะย่อยสลายสารอินทรีย์ที่ต้นข้าวและรากข้าว แปลงนาที่มีการปล่อยน้ำท่วมดินนาจะทำให้เกิดสภาพไร้อากาศในดินนา ก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจะถูกปลดปล่อยสู่ บรรยากาศมากที่สุดโดยผ่านทางช่องว่างในลำต้นของข้าว |
. |
เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน สามารถทำได้โดยการเลื่อนการปล่อยน้ำออกจากนา ไปในช่วงที่ต้นข้าวกำลังออกดอก ออกรวง เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุด การดึงน้ำออกจากนาจะทำให้ ดินนากลับคืนสู่สภาพมีออกซิเจน ทำให้จุลินทรีย์ ไม่สามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ได้ จากนั้นจึงสูบน้ำกลับเข้านาภายใน 3 วัน วิธีการเช่นนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ประมาณ 30-40% จากปริมาณการปล่อยเดิม |
. |
รายงานวิจัยยังระบุว่า ก๊าซเรือนกระจกของไทย ประมาณ 344 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์นั้นมาจากภาคพลังงานถึง 56% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในประเทศ รองลงมาภาคเกษตรกรรม 24% จากขยะมูลฝอย และ ของเสีย 8% จากป่าไม้และการใช้ที่ดิน 7% และจากกระบวนการอุตสาหกรรม 5% ดังนั้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ไทยควรให้ความสำคัญกับภาคพลังงานมากกว่าภาคเกษตรกรรม |
. |
ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้เป็นส่วนใหญ่ เพราะแม้ว่าการปลูกพืชจะก่อให้เกิดก๊าซมีเทนแต่ขณะเดียวกันพืชจะสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย แต่ก็ไม่ต้องการให้เราละเลยการปล่อยก๊าซมีเทนจากอุตสาหกรรมการเกษตร เพราะการปลูกข้าวทุกวันนี้ส่วนใหญ่เป็นระบบอุตสาหกรรมเกษตร โดยในหลายพื้นที่ทำนาปีละ 3 ครั้ง นั่นหมายความว่าโอกาสปล่อยก๊าซมีเทนย่อมมีมากกว่าปกติ 3 เท่า และผลต่อเนื่องที่เห็นได้ชัดเจนคือการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ การเพิ่มปริมาณการใช้สารเคมี และการใช้เชื้อเพลิงจากเครื่องจักรการเกษตร เป็นต้น |
. |
ตัวอย่างผลกระทบจากเกษตรกรรม ในระดับอุตสาหกรรม ดูได้จากกรณีการแห้งขอดลงของทะเลสาบอารัล ประเทศอุซเบกิสถาน |
ใครที่เคยอ่าน หนังสือ AnInconvenient Truth ของ อัล กอร์ จะสะดุดกับรูป “เรือประมงบนผืนทราย” ซึ่งเป็นภาพกองเรือประมงขนาดใหญ่จอดอยู่บนผืนทราย นั่นคือภาพทะเลสาบอารัล ครั้งหนึ่งเคยเป็นทะเลปิดกว้างใหญ่อันดับ 4 ของโลก บนพื้นที่ 68,000 ตารางกิโลเมตร หรือกว่า 1 ใน 10 ของพื้นที่ประเทศไทย วันนี้ได้กลายสภาพเป็น “ทะเลทราย”ไปแล้ว |
. |
นายบัน กี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติขนานนามเรื่องนี้ว่า หนึ่งในสุดยอดหายนะทางด้านสิ่งแวดล้อมช็อคโลก(one of the planet's most shocking environmental disasters)หลังจากที่ท่านไปตรวจเยี่ยม “อดีตเมืองประมง”ริม “อดีตทะเล” เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา |
. |
. |
. |
กระบวนการทะเลสาบ ให้เป็นทะเลทราย ย้อนหลังกลับไปร่วมเก้าสิบปีก่อน พอๆกับอายุของอดีตสหภาพโซเวียต ที่เริ่มโครงการเปลี่ยนเส้นทางของแม่น้ำสองสายซึ่งหล่อเลี้ยงทะเลอารัล ได้แก่แม่น้ำอามุ ดาเรีย ทางตอนใต้ และแม่น้ำเซียร์ ดาเรีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสร้างระบบชลประทานให้พื้นที่ทะเลทรายในการปลูกข้าว เมลอน ธัญพืช และโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ้าย |
. |
ระบบชลประทานที่ว่าเริ่มจากการขุดคลอง ก่อนที่จะกลายเป็นเขื่อนหลายแห่งที่ทำให้ระดับน้ำลดลงอย่างฮวบฮาบ ในปี พ.ศ. 2547 พื้นที่ทะเลลดลงเหลือร้อยละ 25 ของขนาดเดิม และมีค่าความเค็มมากกว่าเดิมถึง 5 เท่าซึ่งทำให้พืชและสัตว์ที่เคยอาศัยอยู่ตายเสียส่วนใหญ่ |
. |
ในปี พ.ศ. 2550 พื้นที่ทะเลลดลงเหลือเพียงร้อยละ 10 ของขนาดเดิม และแยกตัวออกเป็นทะเลสาบสามส่วน ซึ่งสองในสามนั้นเค็มเกินไปที่ปลาจะอาศัยอยู่ได้ อุตสาหกรรมการประมงล่มสลายพร้อมๆเมืองประมงที่อยู่รอบ ๆ ชายฝั่งเดิมกลายสภาพเป็นสุสานเรือ ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานและปัญหาเศรษฐกิจตามมา |
. |
การเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตรนั่นเองที่ก่อให้เกิดการใช้น้ำจนไม่มีน้ำให้เหลือใช้ ซึ่งแน่นอนว่า ทะเลอารัลไม่ใช่แหล่งน้ำแห่งเดียวที่ประสบชะตากรรมดังกล่าว หัวใจของเรื่องนี้ ก็คือ การบริโภคของมนุษย์ สามารถเป็นบ่อเกิดของโลกร้อนและหายนะในรูปต่างๆทุกทาง |
. |
บทความเป็นไปตามความเห็นของผู้เขียน คุณจุมพฎ สายหยุด |
. |
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน |