เนื้อหาวันที่ : 2010-06-07 09:17:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4290 views

เขตการค้าเสรีอาเซียน : ที่มาและผลกระทบ

AFTA เป็นเป้าหมายหนึ่งของความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน อันจะนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจไทยและอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บทวิเคระห์เรื่อง เขตการค้าเสรีอาเซียน : ที่มาและผลกระทบ1

.

.

- AFTA เป็นเป้าหมายหนึ่งของความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

.

- จากการรวบรวมผลการศึกษาวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบของการเปิดเสรีการค้าภายใต้กรอบ AFTA ต่อเศรษฐกิจไทยและอาเซียน พบว่า AFTA ส่งผลให้สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (Intra-regional Trade) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของสวัสดิการทางเศรษฐกิจและการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามมาด้วย

.

- การเปิดการค้าเสรีภายใต้กรอบ AFTA เป็นเพียงความสำเร็จในขั้นแรกของการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้น ความท้าทายในระยะต่อไป อยู่ที่ความคืบหน้าของอาเซียนในการดำเนินตามพันธกิจหลักอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับนัยต่อประเทศไทยในระยะสั้ย รัฐบาลควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้กรอบ AFTA

.

ในระยะปานกลางถึงระยะยาว รัฐบาลควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบริษัทเอกชนไทยให้กลายเป็นบริษัทระดับภูมิภาค (ASEAN Company)

.
1. ที่มาของเขตการค้าเสรีอาเซียน

เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Agreement : AFTA) ได้ถูกจัดทำขึ้นในปี 2535 ภายใต้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nation : ASEAN) โดยเป็นปัจจัยสำคัญในการขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในตลาดโลก  

.

ผ่านการลดอัตราภาษีศุลกากรและข้อจำกัดทางการค้าอื่นๆ ที่มิใช่ภาษี (Non-Trariff Barriers) และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีศุลกากรเพื่อเอื้ออำนวยต่อการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิก อันจะนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) อย่างแท้จริง

.

ในปี 2546 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีเป้าหมายย่อยในการ (1) ส่งสเริมการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน (2) เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (3) พัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาคและ (4) บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก

.

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้กำหนดกรอบระยะเวลาให้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงภายในปี 2558 เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรีระหว่างประเทศสมาชิก รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น ในการนี้ อาเซียนได้จัดทำแผนงานเพื่อการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) อันเป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินงานในด้านเศรษฐกิจของอาเซียนให้ชัดเจนตามระยะเวลาที่กำหนด ดังมีสาระสำคัญคือ

.

1.1 การปรับลดอัตราภาษีศุลกากร โดยประเทศสมาชิกจะต้องปรับลดภาษีศุลกากรลงเหลือร้อยละ 0 ทุกรายการในบัญชี Inclusion List (IL) ภายในปี 2553 สำหรับประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ และภายในปี 2558 สำหรับประเทศสมาชิกใหม่2โดยในส่วนของประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ ให้ลดภาษีสินค้าในบัญชี Inclusion List (IL) เหลือร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 5 ภายในวันที่ 1 มกราคม 2546 และลดให้เป็นร้อยละ 0 ภายในปี 2553

.

ในส่วนของประเทศสมาชิกใหม่กำหนดให้ลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 5 ให้ได้มากที่สุด เช่น ประเทศเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ประเทศลางและประเทศพม่า กำหนดให้เริ่มต้นลดภาษีภายในปี 2543 ปี 2553 ปี 2551 และ 2551 ตามลำดับ

.

1.2 การยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี กรอบการตกลง AFTA กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีภายใน 5ปี หลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ปรับลดภาษีลงแล้ว และให้ยกเลิกมาตรการจำกัดปริมาณ (Quantitative Restriction) ทันทีสำหรับสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ

.

นอกจากนี้ ให้พัฒนากฏหมายด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) ด้วยการทบทวนกฏว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่ใช้โดยประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งในภาพรวมและรายประเทศ อำนวยความสะดวกทางการค้า ปรับประสานกฏระเบียบ ขั้นตอนและวิธีการให้เปฌนแนวเดียวกัน เพื่อลดต้นทุนทางธุรกรรมในอาเซียนและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน

.

1.3 การเคลื่อนย้ายบริการเสรี โดยการลดข้อจำกัดต่อผู้ให้บริการของอาเซียน การให้บริการและการประกอบธุรกิจในประเทศสมาชิกอื่น การเจรจาการค้าบริการบางสาขา เช่น การเงินและการขนส่งทางอากาศ โดยยกเลิกข้อกีดกันการเปิดเสรีการค้าบริการตามข้อตกลงภายใต้ AEC Blueprint ใน 4 สาขาสำคัญ ได้แก่ ขนส่งทางอากาศ เทคโนโลยีสารสนเทศ สสุขภาพ และท่องเที่ยว ภายในปี 2553 และบริการโลจิสติกส์ ภายในปี 2556

.

1.4 การเคลื่อนย้ายการลงทุนเสรี เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยภายใต้กรอบความตกลงเขตการลงทุนของอาเซียนระบุให้มีการเสรีในทุกภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิต เกษตร ประมง ป่าไม้และเหมืองแร่  และบริการที่เกี่ยวข้องอีกทั้งให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (Nation Treatment) แก่นักลงทุนและการลงทุนที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ การเปิดเสรีการลงทุนใหม่และการนำผลกำไรกลับมาลงทุนใหม่จะช่วยสนับสนุและพัฒนาเศรษฐกิจภายในของอาเซียน

.

1.5 การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี โดยการอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับบุคคลธรรมดาที่เกี่ยวกับการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน เช่น การออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญและแรงงานฝีมือ

.

ทั้งนี้ การเคลื่อนย้ายสินค้าเสรีนับเป็นเป้าหมายที่อาเซียนได้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ดังนั้น ในส่วนต่อไปจะกล่าวถึงผลกระทบของการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AFTA ต่อการค้า สวัสดิการทางเศรษฐกิจ (Economic Welfare) และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) ของประเทศสมาชิกอาเซียน

.
2. ผลกระทบของการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AFTA

ในส่วนนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมผลการศึกษาวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบของการเปิดเสรีการค้าภายใต้กรอบ AFTA ต่อเศรษฐกิจไทยและอาเซียน โดยได้แบ่งออกเป็นผลกระทบด้านการค้า ด้านสวัสดิการทางเศรษฐกิจ และด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

.

2.1 ด้านการค้า ทฤษฎีทางเศรษฐกิจชี้ให้เห็นว่าการรวมกลุ่มทางการค้าและการปรับลดอัตราภาษีศุลกากร จะส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสมาชิกมากขึ้น (Trade Creation) เนื่องจากราคาของสินค้าที่นำเข้าลดลง ทำให้มีการแบ่งกันผลิตตามความชำนาญของแต่ละประเทศซึ่งสอดคล้องกับหลักการได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) อันจะนำมาซึ่งสวัสดิการทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศสมาชิกที่สูงขึ้น

.

จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนที่ให้ประเทศสมาชิกลดอัตราภาษีศุลกากรลงเหลือร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 5 ภายในปี 2553 และ 2558 และยกเลิกมาตรการจำกัดปริมาณการค้านั้น ได้ส่งผลให้สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (Intra-regional Trade) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

.

โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.2 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของอาเซียนในปี 2536 มาเป็นร้อยละ 25.1 และร้อยละ 26.8 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของอาเซียนในปี 2546 และปี 2551 ตามลำดับ ดังแสดงในตารางที่ 1

.
ตารางที่ 1 การขยายตัวของการค้าภายในภูมิภาคอาเซียน

ที่มา : ASEAN Economic Community Chartbook 2009
.

สำหรับประเทศไทย กรอบการค้าเสรี AFTA กำหนดให้ไทยต้องลดภาษีสินค้าลดลงเหลือร้อยละ 0 ในสินค้า 8,287 รายการหรือคิดเป็นร้อยละ 99.8 ของสินค้าทั้งหมด ยกเว้นสินค้าอ่อนไหว 4 รายการ (13 ประเภทย่อย)  ได้แก่ กาแฟ ไม้ตัดดอก มะพร้าวแห้ง และมันฝรั่ง ให้ลดภาษีลงเหลือร้อยละ 5 ภายในปี 2553 โดยที่ผ่านมา ไทยได้เริ่มปรับลดภาษีสินค้าดังกล่าวลงอย่างตอ่เนื่องนับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ส่งผลให้การค้าระหว่างไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนขยายตัวเป็นอย่างมาก

.

จากตารางที่ 2 พบว่า มูลค้าการส่งออกของไทยไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 10,874 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2542 มาเป็น 40,152 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2551 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 270 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 7,907 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐในปี 2542 มาเป็น 29,662 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ นังตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับอาเซียนมาโดยตลอด

.

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า การปรับลดอัตราภาษีศุลกากรภายใต้กรอบ AFTA เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนให้เพิ่มมากขึ้น และประเทศไทย ได้รับอานิสงค์จากการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าว ผ่านการส่งออกและนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้น

.
ตารางที่ 2 สินค้าออกและสินค้าเข้าของไทยภายในภูมิภาคอาเซียน

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย (2552)
หมายเหตุ : ปี 2542  เป็นปีแรกที่ประเทศ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน
.

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรับลดภาษีตามกรอบ AFTA จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกผ่านการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจก่อมห้เกิดผลเสียต่อประเทศสมาชิกผ่านการเบี่ยงเบนการค้า (Trade Diversion) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเมื่อการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรภายใต้กรอบ AFTA

.

ส่งผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนนำเข้าสินค้าที่มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าจากประเทศสมาชิกอีกประเทศหนึ่ง ทดแทนการนำเข้าเดิมจากประเทศที่มิใช่สมาชิกซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ทั้งนี้ ในทางทฤษฎี การเบี่ยงเบนการค้าจะทำให้สวัสดิการทางเศรษฐกิจลดลง ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรระหว่างประเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้การผลิตเกิดขึ้นในแหล่งที่ไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบ

.

ดังนั้น เขตการค้าเสรีอาเซียนจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อประเทศสมาชิกหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงผลสุทธิระหว่างการสร้างเสริมการค้า และการเบี่ยงเบนการค้า ถ้าผลทางการเสริมสร้างการค้ามีมากกว่าการเบี่ยงเบนการค้าอาจกล่าวได้ว่าการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนทำให้สวัสดิการทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม

.

หากผลทางการเบี่ยงเบนการค้ามีมากกว่าการส่งเสริมการค้าอาจกล่าวได้ว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนทำให้สวัสดิการทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกลดลง ทั้งนี้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนอาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสวัสดิการทางเศรษฐกิจ (Economic welfare) และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Economic growth)

.

2.2 ด้านสวัสดิการทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Welfare) จากการศึกษาของ ภัควรัทย์ เลิศวิริยะนุกุล (2551) พบว่า AFTA จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสวัสดิการทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนในระดับอุตสาหกรรม กล่าวคือ การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AFTA จะทำให้ประเทศมาเลเซียและประเทศไทยมีมูลค่าสวัสดิการสุทธิโดยรวมสูงขึ้น โดยคิดเป็นมูลค่าสวัสดิการต่อคนที่ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน และ 6.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนตามลำดับ

.

ในขณะที่ การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AFTA จะทำให้ประเทศอินโดนีเซียและประเทศฟิลิปปินส์มีมูลค่าสวัสดิการสุทธิโดยรวมลดลงที่ 1.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนและ 1.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ตามลำดับ และเมื่อพิจารณามูลค่าสวัสดิการสุทธิตามกลุ่มสินค้า ภัควรัทย์ เลิศวิริยะนุกุล (2551) พบว่า สินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ไม้และเฟอนิเจอร์หลายเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์จาก AFTA มากที่สุด เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการลดภาษีมากที่สุด

.
ตารางที่ 3 การประเมินผลกระทบต่อสวัสดิการทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้กรอบ AFTA ปี 2558 จากกรณีฐานปี 2547

ที่มา : Michael G. Plummer และ Chia Siow Yue (2552)
หมายเหตุ : AFTA กรณีที่ประเทศสมาชิกปรับลดอัตราภาษีศุลกากรในทุกรายการสินค้าเหลือร้อยละ 0 AFTA+กรณีที่ประเทศสมาชิกยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีทั้งหมด
.

นอกจากนี้ การศึกษาของ Michael G. Plummer และ Chia Siow Yue (2552) พบว่า หากประเทศสมาชิกอาเซียนปรับลดอัตราภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ในทุกรายการสินค้าในปี 2558 จะทำให้สวัสดีการทางเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

.

ในกรณีที่ประเทศสมาชิกยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีทั้งหมด สำหรับประเทศไทย สวัสดิการทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในกรณีที่ไทยยลดอัตราภาษีลงเหลือร้อยละ 0 และ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

.

ในกรณีที่ไทยยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี ดังแสดงในตารางที่ 3 สอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย )TDRI) ที่พบว่า การเปิดเขตการค้าเวรีอาเซียน (AFTA) ทำให้สวัสดิการทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มสูงขึ้น 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าสวสัดิการสูงขึ้นเป็นอันดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์ในปี 2548 จากฐานข้อมูลปี2544 ดังปรากฏในตารางที่ 4

.
ตารางที่ 4 ผลกระทบของการลดภาษีศุลกากรภายใต้กรอบ AFTA

ที่มา : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2551)
.

2.3 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDR) ในปี 2551 พบว่า การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนภายใต้กรอบ AFTA จะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดบในส่วนของประเทศไทยนั้น  

.

จากการศึกษาพบว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.85 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นอันดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.97 ขณะที่จะทำให้ประเทศมาเลเซียมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดที่ร้อยละ 0.32 ดังปรากฏในตารางที่ 4

.

แม้ว่าการลดอัตราภาษีนำเข้าภายใต้กรอบ AFTA อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการผลิตต่ำและไม่มีความสามารถในเชิงแข่งขัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะส่งผลดีต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกผ่านการนำเข้าวัตถุดิบในราคาที่ตร่ำลง อันเป็นการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

.
3. บทสรุป 

กล่าวโดยสรุป ในภาพการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนนั้น ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของสวัสดิการทางเศรษฐกิจและการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามมาด้วย อย่างไรก็ตาม การเปิดการค้าเสรีภายใต้กรอบ AFTA เป็นเพียงความสำเร็จในขั้นแรกของการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

.

ดังนั้น ความท้าทายในระยะต่อไป อยู่ที่ความคืบหน้าของอาเซียนในการดำเนินตามพันธกิจหลักอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การส่งเสริมเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกันในด้านบริการ การลงทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีการเสิรมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค และบูรณาการเศรษฐกิจอาเซียนให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก

.

นอกจากนี้ หากอาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ความเป็นไปได้ที่อาเซียนจะพัฒนาเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีการบูรณาการนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเงินในลักษณะเช่นเดียวกันกับสหภาพยุโรป ทั้งนี้ อาเซียนควรต้องพินิจพิจารณาว่าการรวมกลุ่มที่เข้มข้นขึ้นกว่า AEC ในรูปแบบใดจะเหมาะสมกับบริบทของอาเซียนมากที่สุด  

.

กล่าวคือ หลังปี 2558 อาเซียนควรมุ่งไปสู่การรวมกลุ่มแบบ Custom Union หรือ ใช้เงินสกุลเดียวกันแบบ Common Currency Area ดังเช่นในสหภาพยุโรปหรือไม่ สิ่งที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การจับตามองประสบการณ์และปัญหาจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปโดยเฉพาะปัญหาหนี้สินที่สูงของประเทศกรีซ

.

สำหรับนัยต่อประเทศไทย ในระยะสั้น รัฐบาลควรส่งเสิมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้กรอบ AFTA เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุด สำหรับในระยะปานกลางถึงระยะยาว รัฐบาลควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดการค้าภายใต้กรอบ AFTA และผลักดันให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน

.

รวมทั้งแรงงานมีฝีมืออย่างเสรีระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบริษัทเอกชนไทยให้กลายเป็นบริษัทระดับภูมิภาค (ASEAN Company) ที่มีเครือข่ายการค้าและการลงทุนภายในอาเซียน อันเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทไทยก้าวไปสู่บริษัทระดับสากลได้

.

1ผู้เขียน ดร.สิริกมล  อุดมผล และนางสาวธนภรณ์  หิรัญวงศ์  ส่วนการวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ขอขอบคุณ ดร.ศรพล  ตุลยะเสถียร สำหรับคำแนะนำในการเขียนบทความนี้
.
2อาเซียนหรือสมคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ก่อตั้งขึ้นในปี 2510 โดยปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศแบ่งเป็นประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย และประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศได้แก่ เวียดนาม (2538) ลาวและพม่า (2540) และกัมพูชา (2542) ทำให้อาเซียนมีประชากรประมาณ 600 ล้านคน

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง