เนื้อหาวันที่ : 2007-02-02 09:41:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 907 views

ปิดบัญชีนักธุรกิจการเมืองไทย ผลพวงมาจากรัฐบาลทักษิณ

ปรากฏการณ์เช็คบิลในหลาย ๆ เรื่องในขณะนี้เป็นผลพวงมาจากรัฐบาลทักษิณ เหตุใหญ่มาจากความไม่ชอบมาพากลในการได้มาซึ่ง เงินในหลายรูปแบบและช่องทางที่สังคมต้องการเห็นความโปร่งใส และเป็นเงินที่มาจากการค้ากำไรเกินควรหรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ

ปรากฏการณ์เช็คบิลในหลาย ๆ เรื่องในขณะนี้เป็นผลพวงมาจากรัฐบาลทักษิณ เหตุใหญ่มาจากความไม่ชอบมาพากลในการได้มาซึ่ง เงินในหลายรูปแบบและช่องทางที่สังคมต้องการเห็นความโปร่งใส  และเป็นเงินที่มาจากการค้ากำไรเกินควรหรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ งานวิจัยเรื่อง การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจในประเทศ โดย ธานี  ชัยวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร ได้ศึกษารูปแบบค่าเช่า วิธีการแสวงหาและผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองไทยในช่วง พ.ศ.2544-2546 เนื่องจากเป็นการเข้าสู่การเมืองทางตรงของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และได้รับเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยภายหลังการเข้าสู่การเมือง มูลค่าค่าเช่าของนักธุรกิจดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบ 1 เท่าตัวจากหลากหลายปัจจัย โดยมีรากฐานค่าเช่าที่สำคัญคือ สัมปทาน

.

ขณะที่การแสวงหาค่าเช่าที่เกิดขึ้นซึ่งมีทั้งการคงสภาพ สร้างขึ้นใหม่และถ่ายโอนค่าเช่า โดยผลลัพธ์ต่อสังคมที่เกิดขึ้นอาจส่งผลลบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว นอกจากนี้ความพยายามลดต้นทุนการแสวงหาค่าเช่าทำให้กลไกการกำกับดูแลและกลไกการให้ข้อมูลข่าวสารมีประสิทธิภาพน้อยลง และยังมีความพยายามรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งการกระทำเหล่านี้อาจส่งผลลบต่อการพัฒนาทางการเมืองในระยะยาวด้วย การค้ากำไรเกินควรหรือการแสวงหารายได้เกินกว่าระดับปกติซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ หรือ ค่าเช่า ผ่านการอิงหรือเกาะกุมอำนาจทางการเมืองของนักธุรกิจและนักการเมืองที่ทำธุรกิจ มีแนวโน้มที่จะส่งผลลบกับสังคมโดยรวมมากกว่าผลดี เพราะรายได้ที่เกินกว่าระดับปกติจะต้องได้มาจากการถ่ายโอนหรือดึงทรัพยากรจากคนอื่นหรือจากสังคมนั่นเอง  รวมทั้ง การแสวงหาค่าเช่านำไปสู่การฉ้อราษฎร์บังหลวงหลายรูปแบบ

.

ดังนั้น สังคมที่มีนักการเมืองทำธุรกิจหรือที่มีนักธุรกิจต่าง ๆ เข้าเกาะกุมการเมือง จึงเผชิญกับทั้งปัญหาคอรัปชันและพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่ค่าเช่าบางประเภทก็อาจมีผลดีกับเศรษฐกิจถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี การทำความเข้าใจกับเรื่องค่าเช่า แหล่งที่มาของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวโยง และความโยงใยกับการเมืองจะทำให้เราสามารถพิจารณาต่อไปถึงเรื่องที่ว่า จะบริหารจัดการค่าเช่าอย่างไรเพื่อลดทอนผลทางลบได้ชัดเจนขึ้น งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า กรณีของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ.2544-2549 ซึ่งคณะรัฐมนตรีล้วนแล้วแต่เป็นนักธุรกิจหรือโยงกับครอบครัวธุรกิจ  การหากำไรเกินควรที่พบเห็นมากที่สุดคือการทำธุรกิจผูกขาด
(ทำให้เกิดการค้ากำไรเกินควร) หรือการพยายามเข้าถึงอำนาจอื่น ๆ

.

โดยเฉพาะอำนาจรัฐ เพื่อทำให้ธุรกิจได้รับจากรัฐบาลซึ่งเงินอุดหนุน การได้รับสิทธิพิเศษ เช่น การยกเว้นภาษี การได้เข้าถึงทรัพยากรมีค่าแบบไม่ต้องลงทุน เช่น ใช้อำนาจการเป็น ส.ส. หรือการมีอิทธิพลแบบเจ้าพ่อท้องถิ่นครอบครองที่สาธารณะ เพื่อหารายได้แล้วเอาไปลงทุนผู้ที่เข้าถึงอำนาจรัฐจึงมักได้เปรียบผู้ที่อยู่วงนอก การแสวงหาค่าเช่าดังกล่าวจะทำให้การทำงานของตลาดเบี่ยงเบนไปจากที่ควรจะเป็น เช่น การผูกขาดทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อของราคาแพง การใช้อำนาจรัฐเข้าครอบครองที่ดินสาธารณะส่งผลเสียกับประชาชนคนอื่น นั่นคือ การหากำไรเกินระดับปกติ  การแสวงหาค่าเช่าของนักธุรกิจ ซึ่งจะเกิดขึ้นในบรรดานักการเมืองที่ทำธุรกิจด้วย จึงมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงม่ได้

.

การแสวงหาค่าเช่าจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากอย่างน้อยสองกลุ่ม คือ กลุ่มการเมืองซึ่งเข้าถึงอำนาจรัฐบาล และกลุ่มธุรกิจที่มีอำนาจทุนในระดับหนึ่งมารองรับ โดยแม้จะมีกลุ่มนักวิชาการหรือกลุ่มข้าราชการมาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย แต่การแสวงหาผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมักจะมาจากสองกลุ่มนี้เป็นหลัก โดยการจัดสรรผลประโยชน์จากคอร์รัปชันและค่าเช่าที่เหมาะสมให้กับกลุ่มการเมืองและกลุ่มธุรกิจนั้น หากเป็นการคอร์รัปชันทางงบประมาณแนวโน้มจะเป็นของกลุ่มการเมืองและหากเป็นค่าเช่าแนวโน้มจะเป็นของกลุ่มธุรกิจ การจัดสรรผลประโยชน์จำเป็นต้องอยู่ในกระบวนการจัดองค์กรเพื่อการดำรงอยู่ขององค์กร โดยกลุ่มการเมืองจะทำหน้าที่รักษาฐานะคะแนนเสียงในการเลือกตั้งและกลุ่มธุรกิจจะทำหน้าที่เป็นฐานทางการเงิน การไหลเวียนของทรัพยากรในกลุ่มที่ร่วมมือกันแสวงหาค่าเช่านั้นได้เปลี่ยนแปลงไป

.

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 กลุ่มธุรกิจขึ้นมาเป็นส่วนบนของอำนาจรัฐ โดยเฉพาะในอำนาจบริหาร การยึดโยงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นภายในรัฐบาลส่วนใหญ่จึงไปอยู่ที่อำนาจของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น การไหลของทรัพยากรจึงมี 2 ระดับ คือ หากเป็นผลประโยชน์มูลค่ามากหรือผลประโยชน์ในระดับชาติ จะต้องเป็นการจัดสรรจากความยินยอมของตัวนายกรัฐมนตรี ขณะที่หากกลุ่มการเมืองต้องการค่าเช่าด้วยตนเองโดยไม่ผ่านนายกรัฐมนตรีก็สามารถทำได้โดยการร่วมมือกับข้าราชการและนักธุรกิจ แต่จะเป็นได้เพียงผลประโยชน์ในระดับท้องถิ่นเท่านั้นอย่างไรก็ตามเกมการแสวงหาค่าเช่าในรอบที่สองมีความแตกต่างอย่างมากจากรอบแรก กระบวนการแสวงหาค่าเช่าในส่วนธุรกิจของผู้นำกลุ่มจะเน้นไปที่การคงสภาพสิทธิและสถาบันอันเป็นรากฐานค่าเช่าเป็นหลัก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การดำรงอยู่ขององค์กรคงไม่ใช่ว่าเพียงรอการแจกจ่ายจากผู้นำรัฐบาลเท่านั้น แต่กลุ่มอื่น ๆ ก็ต้องการเข้าถึงผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุดด้วย ผลที่ตามมาคือเกิดความพยายามที่แต่ละกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์อย่างเต็มที่ในทรัพยากรผลประโยชน์ที่มีข้อจำกัด เปรียบได้กับการเข้าถลุงทรัพยากรธรรมชาติของสังคมที่จะสร้างความเสื่อมโทรมอย่างรุนแรงในระยะยาว

.

สาเหตุมาจากมุมมองที่ต่างกัน กลุ่มการเมืองเป็นเพียงการเล่นครั้ง ๆ ไป ส่วนกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ก็ต้องการค่าเช่าที่มากขึ้นเพื่อการขยายธุรกิจและบางส่วนก็ถูกนำไปหล่อเลี้ยงกลุ่มการเมือง การอนุมัติสัมปทานใหม่เป็นเรื่องที่มีต้นทุนสูงและทำได้ยาก แนวทางที่รัฐบาลใช้ก็คือการใช้ประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์ที่สามารถมีผู้รับหลาย ๆ รายพร้อมกันได้ เมื่อผลประโยชน์ที่ต้องการในองค์กรมีมากขึ้น กระบวนการลดต้นทุนก็ต้องเข้มข้นขึ้นด้วย แน่นอนว่าพฤติกรรมของกลุ่มต่าง ๆ ในองค์กรแสวงหาค่าเช่ามีต้นทุน การกระจายภาระต้นทุนให้กับสังคมกลับเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าการให้เอกชนเป็นผู้รับ ผลที่ตามมาก็คือผลลัพธ์ค่าเช่าจะยิ่งเป็นผลเสียต่อสังคมโดยรวมมากขึ้น ตัวอย่างการกระจายภาระต้นทุนที่เห็นได้ชัดประการหนึ่ง คือ ความพยายามในการนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แม้ว่าอาจจะเป็นไปโดยเจตนาที่ดี แต่ผู้ได้รับประโยชน์ก็ยังเป็นเพียงกลุ่มน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนผู้บริการทั้งประเทศที่ร่วมกันเป็นเจ้าของในปัจจุบัน

.

ทั้งนี้ งานศึกษาได้คำนวณมูลค่าสินทรัพย์และระดับกำไรสุทธิของกิจการ และใช้เป็นตัววัดระดับของค่าเช่าของกลุ่มธุรกิจหลัก ๆ 8 กลุ่ม ในคณะรัฐมนตรีและธุรกิจที่เกี่ยวโยงของรัฐบาลไทยในช่วงปี 2543-2546 (กลุ่มชินวัตร, โพธารามิก, มาลีนนท์, เจียรวนนท์, สิริวัฒนภักดี,มหากิจศิริ, จุฬางกูร และจึงรุ่งเรืองกิจ) พบว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของทุกกลุ่มมีสินทรัพย์รวมกันแล้วเพิ่มขึ้น จาก 639,870 ล้านบาทในปี พ.ศ.2543 เป็น 663,337 ล้านบาทในปี พ.ศ.2546 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.66 ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 9,650 ล้านบาทในปี พงศ.2543 เป็น 21,409 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2546 หรือสูงขึ้นถึง 2.22 เท่า อัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์และกำไรสุทธิของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของทุกกลุ่มเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของบริษัทอื่นๆ ที่อยู่นอกกลุ่มธุรกิจ 8 กลุ่มที่ศึกษา บอกให้เห็นถึงการที่กลุ่มธุรกิจโยงกับการเมืองสามารถมีรายได้ เกินระดับปกติ ในแบบที่เรียกว่า ค่าเช่า นั่นเอง

.

สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว รายได้เกินกว่าระดับปกติหรือค่าเช่าที่เกิดจากการดำเนินงานของบริษัทชินคอร์ปอเรชัน และการถือหุ้นในธนาคารทหารไทย โดยสมาชิกของครอบครัวชินวัตรในช่วงก่อน พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีมีมูลค่า 7,159.47 ล้านบาท และหลังจากเป็นนายกรัฐมนตรีเพิ่มเป็น 14,135.75 บ้านบาท กล่าวคือ มีมูลค่าค่าเช่าเพิ่มสูงขึ้น 6,616.28 ล้านบาทหรือประมาณ 1 เท่าตัวภายในเวลาเพียง 3 ปี จาก พ.ศ. 2543-2546 การศึกษาแสดงให้เห็นระดับการคอร์รัปชันที่สูงของครอบครัวนายกรัฐมนตรี และกลุ่มธุรกิจสำคัญที่โยงกับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลทักษิณ ส่งผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ระบบพรรคพวก (Cronyism) ทำให้นักธุรกิจที่อยู่นอกศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองถูกกีดกันออกไป อำนาจเหนือตลาดของนักธุรกิจวงในจึงส่งผลเสียกับนักธุรกิจวงนอก ก่อเป็นความขัดแย้งและน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของกระบวนการเข้าสู่ ขาลงของทักษิณ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 จนจบลงที่การยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอกประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549.