เนื้อหาวันที่ : 2010-06-04 11:24:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1962 views

วิกฤตสิ่งแวดล้อมไทย ในวันสิ่งแวดล้อมโลก

นักวิชาการไทยชี้ประเทศไทยยังมีวิกฤตเร่งด่วนอีกหลายด้านที่รอให้ทุกคนในสังคมหันมาร่วมกันดูแล รักษา และเยียวยาโลกใบนี้ให้ดีขึ้น

ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.

.

.

ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เพื่อคอยกระตุ้นเตือนให้ประชากรทั่วโลกหันมาตระหนักถึงวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม และร่วมกันหาแนวทางในการดูแลแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ในส่วนของนักวิชาการไทยที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมนั้น เมื่อหันมาทบทวนถึงสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ต่างเห็นพ้องว่ายังมีวิกฤตเร่งด่วนอีกหลายด้านที่รอให้ทุกคนในสังคมหันมาร่วมกันดูแล รักษา และเยียวยาโลกใบนี้ให้ดีขึ้น

.

ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (Biodiversity Research and Training Program) หรือโครงการ BRT กล่าวว่า หากมองในภาพรวมสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยในขณะนี้ ถือว่าอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง ทั้งในเรื่อง ดิน น้ำ อากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งต้องยอมรับว่า การบริหารจัดการของเรายังไม่ดีพอ เมื่อเทียบกับประเทศที่ยังไม่มีทรัพยากรที่สมบูรณ์มากเท่าเรา 

.

“ประเทศสิงคโปร์เขาไม่มีทรัพยากรมาก แต่กลับบริหารจัดการให้มีและทำให้ดีได้ เช่น เขาไม่มีป่า แต่พยายามสร้างเมืองให้เป็นป่า ขณะที่ของเรามีป่า แต่กลับพยายามเปลี่ยนป่าให้เป็นเมือง หรือประเทศสิงคโปร์เขาไม่มีที่ดิน ก็พยายามซื้อทรายไปถมสร้างพื้นที่ ส่วนบ้านเรากลับพยายามลักลอบขุดทรายไปขายให้เขา ไม่เว้นแม้แต่กรณีปัญหาล่าสุด การขยายถนนสาย 2090 ทางขึ้นเขาใหญ่ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เรายังมีวิธีคิดที่ขาดจิตสำนึกในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มากเพียงพอ

.

ทั้งนี้การดำเนินงานเพื่อให้การอนุรักษ์เกิดประสิทธิผล ภาครัฐอาจจะต้องหันมาทบทวนและสร้างนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรชีวภาพให้มีเอกภาพ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำงานดังเช่นที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างนักวิชาการที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพราะประเทศไทยมีความหลากหลายของทรัพยากรมาก มีระบบนิเวศที่ซับซ้อน

.

ฉะนั้นตราบใดที่เรายังไม่รู้จักทรัพยากรของเราที่ดีพอ ก็ยากที่จะบริหารจัดการให้ถูกทิศทาง นอกจากนี้ในส่วนของภาคเอกชนก็ควรทำธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นด้วย เพราะหากวันนี้ไม่ช่วยกันรักษา เชื่อว่าในไม่ช้าสิ่งแวดล้อมจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตอย่างแน่นอน”

.

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนขณะนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของโลกร้อน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวและมีผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต คือการเกษตรและอาหาร   

.

เนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เช่น ทำให้ฝนตกล่าช้า เกิดความแห้งแล้ง หรือฝนตกมากจนก่อให้เกิดน้ำท่วม พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้ อีกทั้งภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจก่อให้เกิดแมลงศัตรูพืชชนิดใหม่ๆ มากขึ้นด้วย 

.

ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งวิจัยพัฒนา คือ การศึกษาหาพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ที่เจริญเติบโตได้ท่ามกลางสภาพอากาศที่แปรปรวน หรือแม้กระทั่งเรื่องของน้ำที่อาจเป็นปัญหาขาดแคลนในอนาคต ก็ต้องหาวิธีพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลดการใช้น้ำมารองรับ ซึ่งตรงนี้เป็นการมองภาพในระยะยาว แต่ว่าในระยะสั้นต้องช่วยกันลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด ทั้งในเรื่องการประหยัดใช้พลังงาน การใช้น้ำ

.

นอกจากนี้ปัญหาสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่จะตามมาคือในเชิงของการค้า โดยทั้งประเทศคู่ค้าและผู้บริโภคเองอาจต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ต้องมีการพิจารณาถึงเรื่องวัฏจักรผลิตภัณฑ์ คาร์บอนฟุต-พริ้นท์ ฉลากสีเขียว เป็นต้น ฉะนั้นเราจึงควรมีการวิจัยเพื่อหาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากที่สุด

.

รศ.ดร.สมโภชน์ ศรีโกสามาตร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมในขณะนี้น่าเป็นห่วงทั้งระบบ แต่หากกล่าวถึงในส่วนของสถานการณ์สัตว์ป่านั้นพบว่า มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์มากขึ้นเกือบทุกชนิด

.

ยกตัวอย่างเช่น ชะนี ประเทศไทยมีชะนีอยู่ 4 ชนิด คือ ชะนีมือขาว ชะนีมงกุฎ ชะนีมือดำ และชะนีดำใหญ่ ซึ่งหากย้อนไปเมื่อราว 20-30 ปีก่อน มีเพียงชะนีมงกุฎเท่านั้นที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ แต่ผลการศึกษาล่าสุดพบว่าชะนีมือขาว ที่เคยพบได้ทั่วไปเริ่มเข้าสู่ภาวะใกล้สูญพันธุ์แล้ว หรือ กรณีของ ช้าง          

.

ทุกวันนี้มีภาพข่าวของช้างเยอะมาก ทั้งช้างที่ออกมาทำลายพืชไร่ พืชสวนของเกษตรกร ช้างที่เดินตามท้องถนน หรือข่าวช้างถูกฆ่าเยอะแยะไปหมด จึงอาจทำหลายคนให้เข้าใจว่าประชากรของช้างยังคงมีอยู่มาก ทั้งที่ความจริงแล้วประชากรช้างยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง อีกทั้งยังถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาหาร ถิ่นที่อยู่อาศัย หรือมีการจับลูกช้างมาขายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

.

“ทุกวันนี้สถานการณ์การค้าสัตว์ป่าอาจดูว่าเงียบหายไป แต่ความจริงยังคงมีการลักลอบซื้อขายอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เดิมมีการซื้อขาย ขนย้ายข้ามประเทศ เวลาจับได้จะมีจำนวนมาก เป็นข่าวใหญ่ แต่หลังๆ มีการล่าขายเป็นตัวๆ ทำให้มีข่าวน้อยลง แต่หากติดตามศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าหรือมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าต่างๆ จะพบว่ายังคงมีสัตว์ป่าถูกส่งเข้ารับการรักษาและดูแลอย่างต่อเนื่อง  

.

สะท้อนให้เห็นว่าการค้าขายสัตว์ป่ายังคงมีอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้หากย้อนไปในอดีตประเทศไทยมีประวัติที่ดีมากในเรื่องการอนุรักษ์ แต่ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าแม้เราจะมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจำนวนมาก แต่ลึกๆ แล้วการอนุรักษ์ หรือ ระบบการจัดการเพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่าในประเทศไทยก็ยังคงมีปัญหาอยู่มาก”

.

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. กล่าวว่า ตอนนี้โลกของเราไม่เหมือนเดิมแล้ว ภาวะโลกร้อนที่สะสมกันมาเนิ่นนานเริ่มส่งผลให้เห็นชัดเจน และผลที่เกิดขึ้นจะยังคงอยู่ต่อเนื่องไปอีกไม่ต่ำกว่า 50 หรือ 100 ปี อีกทั้งอาจจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

.

ยกตัวอย่างกรณีปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในทะเลอ่าวไทยและอันดามันขณะนี้ เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างรู้ว่าดีว่า การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงหลังมานี้มีความสัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจน          

.

อีกทั้งยังมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น โดยที่ผ่านมาในประเทศไทยได้มีการศึกษาปะการังมากว่า 60-70 ปีแล้ว พบปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่รุนแรงเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้ง คือ ปี พ.ศ. 2541 และปีนี้ พ.ศ. 2553 จะเห็นได้ว่าเมื่อ 30-40 ปีก่อนอาจจะมีปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่รุนแรง ทว่าขณะนี้ปรากฏการณ์ที่รุนแรงเกิดถี่มากขึ้น 

.

“สิ่งสำคัญตอนนี้ คือ ต้องช่วยกัน พยายามหาทางดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราให้ดีที่สุด ให้ธรรมชาติสู้กับธรรมชาติ เพราะว่ามีแต่ธรรมชาติเท่านั้นที่พอจะต่อสู้กับภัยพิบัติจากธรรมชาติได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของป่าไม้ ท้องทะเล ดังจะเห็นว่ามีปรากฏการณ์และภัยพิบัติต่างๆ เข้ามาแทบทุกปี เพราะฉะนั้นทุกคนต้องใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้มากกว่าเดิม

.

การอนุรักษ์ปัจจุบันไม่ใช่แค่คำว่าสงสาร เช่น สงสารปลา สงสารสัตว์ป่า สงสารต้นไม้ เท่านั้น เพราะความสำคัญของสิ่งแวดล้อมดำเนินมาถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นทางรอดของพวกเราแล้ว แต่ถึงกระนั้นเราคงไม่สามารถทำให้ทุกคนในประเทศไทยมาช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้

.

บอกได้เพียงว่า ใคร หรือชุมชนใดที่ดูแลรักษาธรรมชาติได้มากกว่า คน หรือชุมชนนั้นก็จะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะธรรมชาติให้ประโยชน์ทั้งในเรื่องของอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่การท่องเที่ยว ฉะนั้นขึ้นอยู่กับทุกคนแล้วว่าจะหันมาดูแลหม้อข้าวของคุณหรือไม่ และที่สำคัญหากวันนี้เรายังไม่เริ่มดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง วันหน้าอาจไม่เหลืออะไรให้ดูแลแล้วก็เป็นได้”

.

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ศรภอ.) และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มองว่าเร่งด่วนขณะนี้ หนึ่งคือ กรณีมาบตาพุด เพราะเป็นต้นแบบของปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อีกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย และเป็นตัวอย่างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แสดงให้เห็นว่า เรายังไม่มีระบบการจัดการปัญหาที่จะทำให้รู้จริงๆ ว่าปัญหาคืออะไร และการที่จะนำความรู้จริงๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาจะทำได้อย่างไร     

.

ส่วนปัญหาที่สอง คือ การกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งยังไม่มีการบูรณาการในเรื่องของความรู้และข้อมูลที่ข้ามสาขากัน และที่สำคัญคือการกระทำหรือการแก้ปัญหาในหลายๆครั้งนั้น ไม่ได้ตัดสินใจบนฐานของความรู้ อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ยกขึ้นมาทั้งสองกรณีล้วนเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ที่ยังไม่มีระบบการจัดการเพื่อนำไปสู่การแก้ไขได้จริง 

.

“ทุกวันนี้การรณรงค์ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมมีอยู่มากมาย แต่กลับยังไม่เกิดประสิทธิผล เนื่องจากแม้เราจะรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร แต่ผู้ที่มีอำนาจในการออกกฎระเบียบ หรือการจัดสรรงบประมาณที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการปฏิบัติได้จริงนั้นยังไม่เกิดขึ้น จึงทำได้เพียงต่างคนต่างทำ ใครมีกำลังทำได้แค่ไหนก็ทำแค่นั้น

.

อีกทั้งในเรื่องของโครงสร้างราคาสินค้าก็ยังไม่เอื้อต่อการปฏิบัติ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังมีราคาแพงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และที่สำคัญ คือ การรณรงค์ผิดทาง เพราะการรณรงค์ส่วนใหญ่มักแฝงด้วยการโฆษณา ทำให้คนในสังคมรับรู้เพียงว่ามีปัญหา แต่ไม่ได้เข้าถึงปัญหาที่แท้จริง” ดร.อานนท์ กล่าว