1. กระทรวงการคลังประกาศหนี้สาธารณะในเดือนมี.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 42.39% ของ GDP |
- กระทรวงการคลัง เผยยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,124.71 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 49.57 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.39 ของ GDP การเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะดังกล่าว มีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง |
. |
หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยเพิ่มขึ้นสุทธิ 49.0 พันล้านบาท 2.5 พันล้านบาท และ 0.48 พันล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน ลดลงสุทธิ 2.5 พันล้านบาท |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะในเดือน มี.ค. 53 ถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจาก สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ร้อยละ 42.39 ยังคงต่ำกว่าระดับกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 ของ GDP นอกจากนี้ หนี้สาธารณะที่เป็นหนี้ต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 9.03 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด บ่งชี้ถึงเสถียรภาพทางการคลังที่ยังมั่นคง |
. |
2. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจหอการค้าไทยคาดจะมีเงินสะพัด 6 หมื่นล้านบาทช่วงบอลโลก |
- นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทนาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก 2010 พบว่าการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลกคาดว่าจะมีเงินสะพัด 5.96 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเทศกาลฟุตบอลยูโร 2008 ร้อยละ 8.7 โดยแบ่งเป็นการพนันบอล 3.72 หมื่นล้าน |
. |
การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและสังสรรค์ 1.9 หมื่นล้านบาทและการซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณ 2,205 ล้านบาทและอื่นๆอีก 1,234 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะมีเงินสะพัดในระดับ 7 หมื่นล้านบาท |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การใช้จ่ายในช่วงเทศการฟุบอลโลกน่าจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 ผ่านการบริโภคภาคเอกชน หลังจากที่ อุปสงค์ภายในประเทศเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงในเดือนเม.ย. 53 โดยส่วนหนึ่งจากปัจจัยการเมืองที่กระทบการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของผู้บริโภครวมถึงภาคธุรกิจ |
. |
ในขณะที่ภาคการส่งออกเริ่มมีแนวโน้มแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน ทั้งนี้ เทศกาลฟุตบอลโลกน่าจะช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นต่อการจับจ่ายใช้สอยในเดือน มิ.ย. ได้ในระดับหนึ่ง |
. |
3. นักวิเคราะห์คาดว่านาย Naoto Kan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นคนใหม่ |
- นักวิเคราะห์คาดว่านาย Naoto Kan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นคนใหม่ภายหลังจากที่นาย Yukio Hatoyama นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดได้ลาออกจากตำแหน่ง จากปัญหาการเมืองภายในประเทศ โดยนาย Kazuhiko Sano ผู้เชี่ยวชาญจาก Citigroup Global Markets Japan Inc. ให้เหตุผลว่า |
. |
ในช่วงที่ผ่านมา นาย Kan ผู้ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นรัฐมนตรีคลังที่ใช้มาตรการการคลังอย่างมหาศาล เริ่มแสดงท่าทีเป็นกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะของญี่ปุ่น และคาดว่าเมื่อนาย Kan ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะมีมาตรการปรับลดมาตรการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างแน่นอน |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า หนี้สาธารณะของประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการคาดการณ์ของสถาบัน EIU โดยปี 2552 หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 189.3 และคาดว่าจะปรับตัวขึ้นเป็นร้อยละ 197.0 ในปี 2553 และ ร้อยละ 201.9 ในปี 2554 โดยเมื่อต้นปี 53 ที่ผ่านมา บริษัทจัดเรตติ้ง S&P ได้กล่าวเตือนถึงระดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรญี่ปุ่น ว่าอาจจะถูกปรับลดลงจากระดับ AA ในปัจจุบัน |
. |
ทั้งนี้ สศค. คาดว่าแผนการควบคุมหนี้สาธารณะของญี่ปุ่น อาจจะเป็นการเพิ่มอัตราภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มภาษีดังกล่าว จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจจริงของญี่ปุ่นโดยเฉพาะภาคการบริโภคซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของ GDP ญี่ปุ่นได้ |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |