เนื้อหาวันที่ : 2010-06-04 10:26:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 594 views

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าดัน GI ไทยเข้าตลาด EU

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าดัน GI ไทยเข้าตลาด EU และเผยแนวทางดิ้นหลุด PWL พร้อมชี้แจงการใช้งบไทยเข้มแข็ง 705 ล้านบาท และเดินเครื่องจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ ตามที่ ครม. อนุมัติ

.

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) ของไทยในสหภาพยุโรป เพื่อขอรับความคุ้มครองสินค้าในประเทศสมาชิก EU  พร้อมเผยผลความคืบหน้าในการประชุมร่วมกับสหรัฐเพื่อผลักดันไทยหลุดจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL)   และชี้แจงการใช้งบประมาณโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 705 ล้านบาท 9 โครงการ

.

รวมทั้งเดินเครื่องเตรียมจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการดูแลนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามมติที่ครม. เห็นชอบ

.

นางปัจฉิมา  ธนสันติ  อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เดินทางไปยื่นคำขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทย คือ กาแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุง รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการจดทะเบียนข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในสหภาพยุโรป  เพื่อขอรับความคุ้มครองสินค้าของไทยในประเทศสมาชิก 

.

โดยคำขอจดทะเบียนกาแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุง ทางสหภาพยุโรปได้รับคำขอไว้เพื่อดำเนินการต่อไป   ส่วนคำขอจดทะเบียนข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ที่ประเทศไทยได้ยื่นคำขอมาตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2549 และมีการปรับปรุงแก้ไขตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำและส่งข้อมูลมาให้เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2553 นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการแปลคำขอ 

.

โดยคาดว่าหากไม่มีคำคัดค้านใดๆก็สามารถจดทะเบียนได้ภายในเดือนมกราคม 2554  ทั้งนี้ ทางสหภาพยุโรปแจ้งว่าได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะทราบดีว่าข้าวเป็นสินค้าที่มีความสำคัญมากสำหรับประเทศไทย  พร้อมทั้งมีการหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะจดทะเบียนไหม เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทย          

.

ซึ่งทางสหภาพยุโรปแจ้งว่า ด้วยกฎระเบียบกำหนดว่า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสหภาพยุโรปต้องเป็นสินค้าที่สามารถบริโภคได้เท่านั้น โดยมีข้อยกเว้นสำหรับสินค้าบางประเภทซึ่งยังไม่รวมถึงไหม จึงไม่สามารถจดไหมเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสหภาพยุโรปได้ แต่อาจได้รับความคุ้มครองในบางประเทศที่ไม่มีข้อจำกัดเช่นนี้ เช่น สาธารณรัฐประชาชนเชค หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น  

.

นอกจากนี้ ทางกรมฯ ยังได้เข้าพบนาย Jean-Louis Buer ตำแหน่ง Director General ของสถาบันแหล่งกำเนิดสินค้า (INAO – National Institute of Appellation of Origin)  ของประเทศฝรั่งเศส  เพื่อหารือเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล การศึกษาดูงานและอบรมสร้างองค์ความรู้ร่วมกันต่อไป

.

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ “Thailand Creative Economy Agency” เรียกโดยย่อว่า “TCEA” ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ. .... ที่กระทรวงพาณิชย์

.

โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาเสนอ โดยสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ จะเป็นหน่วยงานภายในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีคณะกรรมการบริหารสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ (กบศส.) ที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) เป็นประธานกรรมการ

.

โดยจะมีลักษณะเป็นหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบดูแลทั้งในเรื่องการเสนอแนะนโยบายต่อรัฐบาล  การนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฎิบัติจริง การประสานงานและติดตามดูแลการดำเนินงานของหน่วยงานเครือข่ายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นไปในทิศทางเดียงกันและตอบโจทย์เป้าหมายของพันธสัญญาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ได้ 

.

ครอบคลุมถึงการให้คำปรึกษา การให้งบประมาณสนับสนุนทั้งแก่ภาครัฐและเอกชนในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยการจัดตั้ง “สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ” นี้ จะเป็นการสร้างโอกาสและความท้าทาย  ให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันทำให้สำนักงานนี้ขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ          

.

นอกจากจะส่งผลให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยมีศักยภาพสูงขึ้นแล้ว ยังจะทำให้ในอนาคตไทยเราจะมีโอกาสเป็นประเทศต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่หลายๆ ประเทศจะมาศึกษาดูงาน และนำแนวคิดของเราไปประยุกต์ใช้ในประเทศต่างๆต่อไป  

.

ด้านความคืบหน้าจากการประกาศผลการจัดอันดับประเทศไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301พิเศษ ประจำปี 2553 ที่ได้คงไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) และให้มีการทบทวนสถานะนอกรอบ (Out of Cycle Review – OCR) ไปนั้น  ในวันนี้ทางกรมฯ ได้มีการประชุมร่วมกับผู้แทนสถานเอกอัครราชฑูตสหรัฐฯ และได้กำหนดจัดการประชุมกับ USTR  ผ่านระบบ VDO Conference  ในวันที่ 24 มิถุนายน 2553 เพื่อหารือเรื่องการทบทวนสถานะนอกรอบของไทย          

.

โดยได้แจ้งให้สหรัฐทราบว่าขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยเฉพาะในเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยเดือดร้อนจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า เพื่อเอาผิดเจ้าของพื้นที่ที่ใช้ในการกระทำความผิดและการยกร่างกฎหมายป้องกันการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ เป็นต้น 

.

นอกจากนี้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังเปิดเผยว่า ในวันที่ 25 มิถุนายน 2553 นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ เพื่อให้นโยบบายการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นในทุกระดับ

.

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สีแดงต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางกรมฯ ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยการจัดทำแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

.

การเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty – PCT) รวมทั้งการดำเนินมาตรการสร้างจิตสำนึก และความตระหนักของประชาชนในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทางกรมฯ จะได้ขยายผลการจากประชุมครั้งนี้เพื่อดำเนินงานในการผลักดันไทยให้หลุดจากประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษต่อไป