เนื้อหาวันที่ : 2010-06-03 09:53:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 578 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 3 มิ.ย. 2553

1. กนง.มีมติคงดอกเบี้ยอาร์พี 1.25% ตามคาด

-  คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.25 % โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่เข้มแข็ง การคงอัตราดอกเบี้ยไว้สามารถสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อไปได้ในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ดี ปัญหาเศรษฐกิจการเงินในยุโรป และสถานการณ์การเมืองในประเทศยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย 

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 53 เติบโตมากกว่าที่คาดจากแรงขับเคลื่อนของภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว ที่ได้รับประโยชน์จาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในเดือนเม.ย. 53 การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ชะลอลง

.

ส่วนหนึ่งจากปัจจัยการเมืองที่กระทบการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของผู้บริโภครวมถึงภาคธุรกิจ ทั้งนี้แม้ว่าภาวะอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือน พ.ค. 53 มีทิศทางที่เพิ่มขึ้นแต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยจากช่วงต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี 

.
2. บีโอไอเร่งโรดโชว์ 25 ประเทศทั่วโลกฟื้นความเชื่อมั่น

-  เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า จะเร่งเดินทางเชิญชวนนักลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั่วโลก โดยในเดือนมิ.ย.-ก.ย.นี้ จะจัดกิจกรรมโรดโชว์ 38 ครั้งใน 25 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน โดยแต่ละครั้งจะจัดกิจกรรมสัมมนาชี้ช่องทางและโอกาสการลงทุนพร้อมหารือกับบริษัทชั้นนำภาคธุรกิจในต่างประเทศ

.

ขณะเดียวกันยังได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับ "อ๊อกฟอร์ดบิสเนส กรุ๊ป" เพื่อจัดทำเดอะรีพอร์ทไทยแลนด์ 2010 เสนองานการวิจัย ข้อมูลเชิงลึกด้านธุรกิจ เพื่อการลงทุน

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลตั้งแต่เดือน ม.ค.53-เม.ย.53 พบว่ามีบริษัทที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจำนวน 402 ราย มีเม็ดเงินลงทุนรวม 1.62 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาสูงถึงร้อยละ 53 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่กลับเข้ามาหลังเศรษฐกิจผ่านพ้นช่วงวิกฤติในปี 52 ไปแล้ว

.

โดยกิจการส่วนใหญ่เป็นกิจการประเภทการบริการและสาธารณูปโภคมีสัดส่วนร้อยละ 50.8 ของเงินลงทุนทั้งหมด รองลงมาเป็นกิจการอิเลคทรอนิคส์ และเคมี  ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 19.2 9.0 ของเงินลงทุนทั้งหมดตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองในเดือน พ.ค.เป็นปัจจัยลบที่จะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา เพื่อให้ยอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีนี้บรรลุเป้าหมายที่ระดับ 5 แสนล้านบาทตามที่ BOI ตั้งไว้

.
3. เศรษฐกิจของออสเตรเลียมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง

-  เศรษฐกิจออสเตรเลียที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมานานถึง 17 ปี  กำลังเผชิญกับการเติบโตที่ชะลอตัวลง  โดย GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 53 อยู่ที่ร้อยละ 0.5  นอกจากนี้  ธนาคารกลางออสเตรเลียยังได้มีนโยบายที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากระดับร้อยละ 4.25  ให้เหลือเพียงร้อยละ 2.5 ในเดือนมิถุนายน 53

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 53  ของออสเตรเลียเติบโตอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.5  ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีอัตราการเติบโต ร้อยละ 4.6  โดยมีปัจจัยสำคัญจากการที่การลงทุนมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 0.5  ซึ่งลดลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 4.6  โดยการลงทุนภาคเอกชนเติบโตลดลงร้อยละ -2.4  ในขณะที่การลงทุนของรัฐบาลเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า 

.

นอกจากนี้  ในภาคการส่งออกก็ยังต้องเผชิญปัญหาการส่งออกน้ำมันและแร่ธาตุ เช่น ถ่านหิน และสินแร่เหล็กไปยังประเทศจีนที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่เริ่มแผ่วลง  จึงคาดว่าในระยะสั้น เศรษฐกิจออสเตรเลียคงเติบโตได้ในอัตราที่ชะลงตัวลง  แต่ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของออสเตรเลีย จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก  และยังคงส่งผลดีต่อภาคการส่งออกไทยที่มีการส่งออกไปออสเตรเลียที่เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 6 ของไทย คิดเป็นร้อยละ 6.1 ของตลาดส่งออกรวม

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง