เนื้อหาวันที่ : 2010-06-02 10:24:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 674 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 2 มิ.ย. 2553

1. ก.พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนพ.ค. 53 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ต่อปี

-  ก.พาณิชย์ เผย ตัวเลขดัชนีเงินเฟ้อเดือน พ.ค. 53 อยู่ที่ 107.87 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.20 จากเดือน เม.ย. 53 ขณะที่ดัชนีเงินเฟ้อ 5 เดือนแรกของปี 53 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ต่อปี สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานอยู่ที่ระดับ 103.51 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ต่อปี

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การที่อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค. 53 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 สาเหตุสำคัญจากฐานคำนวณที่ต่ำในปีก่อนหน้า ประกอบกับราคาน้ำมันดิบโลกและราคาสินค้าในหมวดผัก-ผลไม้ปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีราคาในหมวดที่สำคัญมีการเปลี่ยนแปลง คือ 1) ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวร้อยละ 4.6 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากผักและผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้ผลผลิตได้รับผลกระทบ

.

เช่น ผักคะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาว เป็นต้น และ 2) ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มขยายตัวร้อยละ 2.8 ปัจจัยหลักมาจากดัชนีในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื่อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ค่าไฟฟ้า น้ำประปาและแสงสว่าง เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค. 53 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 0.20 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.49 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 53 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 53)

.
2. ธปท.ส่งสัญญาณไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมกนง.วันนี้

-  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า  ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 2 มิ.ย. 53 คณะกรรมการทั้งหมดจะให้ความสำคัญกับการพิจารณาปัจจัยทุกอย่างเพื่อดูว่าควรจะปรับอัตราดอกเบี้ย นโยบาย จากปัจจุบันที่ 1.25% หรือไม่ โดยจากการพิจารณาน่าจะยังให้น้ำหนักอยู่ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

.

เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากภาคธุรกิจจากปัญหาการเมืองและการใช้จ่ายในประเทศที่ยังต้องติดตามอยู่อีก โดยเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 0.5-3.5%

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าภาวะอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนพ.ค. 53 จะสะท้อนว่าทิศทางเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแต่หากพิจารณาในรายละเอียดพบว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำโดยจากช่วงต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี ประกอบกับปัจจัยทางการเมืองได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ 

.

ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้ กนง.จึงน่าจะยังให้ความสำคัญในเรื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากวิกฤตหนี้ยุโรปและปัญหาการเมืองในประเทศ

.

3. เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวลงจากผลความกังวลในวิกฤตหนี้ยุโรป

-  ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index – PMI) สำหรับเดือน พ.ค. 2553 อยู่ที่ระดับ 53.9 จุด ลดลงจากระดับ 55.7 จุดในเดือน เม.ย. 2553 ต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ระดับ 54.5 จุด แสดงถึงความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นต่อผลกระทบที่จะเกิดจากวิกฤตหนี้ยุโรปต่อเศรษฐกิจในเอเชียซึ่งอาศัยการส่งออกเป็นสำคัญ

.

แม้ว่าดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 จุด ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 ซึ่งเป็นระดับที่บ่งชี้ว่ามีการขยายตัวหรือหดตัวของภาคอุตสาหกรรม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่าการชะลอตัวนี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนมีโอกาสที่จะเจริญเติบโตในระดับปานกลาง (moderate growth)ในอนาคต

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า สัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง เนื่องจากจีนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนสูงถึงร้อยละ 11.9 ต่อปี ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 10.7 ต่อปี

.

การชะลอตัวลงของจีนย่อมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะไทย ซึ่งมีภาคการส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (มูลค่าการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 44.4 ต่อปี ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553) โดยจีนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.6 ของการส่งออกสินค้าโดยรวม

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง