เนื้อหาวันที่ : 2007-02-01 10:07:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1739 views

โครงสร้างด้านล่างแท็กซี่เวย์ สนามบินสุวรรณภูมิ คุณภาพต่ำ !

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ยอมรับผลการตรวจสอบปัญหา แท็กซี่เวย์และรันเวย์ โครงสร้างด้านล่างมีความเสียหายหนัก เสนอรัฐเลือกแนวทางระหว่างซ่อมแซมและสร้างใหม่

สำนักข่าวไทยรายงานข่าว นายต่อตระกูล ยมนาค  คณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ยอมรับผลการตรวจสอบปัญหาทางขับ (แท็กซี่เวย์)  และทางวิ่ง (รันเวย์) เบื้องต้นชัดเจนว่าโครงสร้างด้านล่างมีความเสียหายหนัก โดยเมื่อมีเครื่องบินวิ่งผ่าน หรือน้ำหนักกดทับ จุดใดก็ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น และเตรียมเสนอให้รัฐบาลเลือกแนวทางระหว่างซ่อมแซมและสร้างใหม่

.

นายต่อตระกูล ยมนาค กรรมการ ทอท. และประธานคณะกรรมการกลางตรวจสอบปัญหาแท็กซี่เวย์และรันเวย์  ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบปัญหาโครงสร้าง หลังจากมีการตรวจพบว่าแท็กซี่เวย์และรันเวย์ยังประสบปัญหาการแตกร้าวอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้คณะทำงานได้ทำการขุดเจาะผิววัสดุพิเศษและคอนกรีตลงสู่ชั้นทรายของแท็กซี่เวย์ ลึกประมาณ 20 เซนติเมตร และมีการนำวัสดุทรายเหล่านี้นำส่งห้องแล็บ เพื่อตรวจสอบว่าทรายที่นำมาใช้ในการก่อสร้างเป็นไปตามสเปกการออกแบบหรือไม่ เนื่องจากตามเทคนิคการออกแบบชั้นทรายเหล่านี้จะมีความสำคัญในการดูดความชื้นจากชั้นดิน เพื่อทำให้โครงสร้างรับน้ำหนักของแท็กซี่เวย์มีความแข็งแรง 

.

ทั้งนี้  คณะทำงานได้พยายามเร่งรัดการตรวจสอบ ซึ่งกำหนดจะแล้วเสร็จภายใน 2  สัปดาห์ โดยวันที่ 2  กุมภาพันธ์นี้คณะทำงานจะเข้ารายงานผลการตรวจสอบชั้นดินให้ พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  และที่สำคัญการเร่งรัดผลการตรวจสอบเพื่อให้สามารถทราบแนวทางแก้ไขโดยเร็วเพื่อไม่ให้ความเสียหายของผิวแท็กซี่เวย์มีมากกว่านี้ 

.

จากการตรวจสอบความเสียหายของผิวแท็กซี่เวย์และรันเวย์ยังเกิดขึ้นและมีอยู่ต่อไป แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพื้นที่โครงสร้างด้านล่างผิวแท็กซี่เวย์มีความเสียหายมาก เพราะเมื่ออากาศยานวิ่งผ่านไปยังจุดใด หรือมีแรงกดทับ ก็จะเกิดรอยล้อเป็นความเสียหายขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยด่วน นายต่อตระกูล  กล่าว

.

นอกจากนี้ นายต่อตระกูล กล่าวถึงตัวอย่างของปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมาที่ต้องมีการปิดซ่อมรันเวย์เป็นการเร่งด่วนในเวลา 17.00-23.00 น. และส่งผลให้เที่ยวบินล่าช้าและมีการนำเครื่องไปลงจอดที่สนามบินอู่ตะเภาเพื่อเติมน้ำมันนั้น เนื่องจากมีนักบินของสายการบินไทยแอร์เอเชีย แจ้งให้หอบังคับการบินทราบว่าพบเห็นวัสดุแตกร้าวอยู่บนรันเวย์ ซึ่งตามระเบียบการบินทั่วโลกนักบินจะสามารถแจ้งจุดปัญหาที่เกิดขึ้นที่อาจกระทบต่อความปลอดภัยเพื่อให้มีการปิดสนามบินซ่อมได้ การแจ้งข่าวดังกล่าวส่งผลให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องทำการปิดฉุกเฉินในช่วงเวลาดังกล่าว

.

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญผลกระทบเรื่องนี้ คณะกรรมการต้องการสอบข้อเท็จจริง และต้องการพบนักบินไทยแอร์เอเชียที่แจ้งเหตุ เนื่องจากก่อนเวลา 17.00 น.ไม่เกิน 24 ชั่วโมง  คณะกรรมการได้ลงตรวจสอบพื้นที่ปัญหาแตกร้าวแล้ว ซึ่งหากรอยแตกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่าผิวแท็กซี่เวย์และรันเวย์ของสุวรรณภูมิเข้าขั้นวิกฤติไม่ใช่แค่ปิดซ่อมบางจุด แต่ต้องปิดซ่อมทั้งหมด

.

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหา  ซึ่งขณะนี้มี  2 ทางเลือก คือ การซ่อมแซมและทุบสร้างใหม่เมื่อการตรวจสอบได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว โดยคณะกรรมการจะนำเสนอผลการตรวจสอบในเชิงวิศวกรรมอย่างตรงไปตรงมามากที่สุดให้รัฐบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการซ่อมแซมหรือสร้างใหม่ เพื่อให้ฝ่ายนโยบายเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางไหน  เนื่องจากหากพิจารณาเห็นว่าการซ่อมแซมซึ่งอาจต้องใช้เทคนิคพิเศษและทำให้ต้นทุนค่าซ่อมแซมสูงกว่าการก่อสร้าง ก็จะเป็นโจทย์สำคัญประกอบการตัดสินใจ

.

เทคนิคทางวิศวกรรมที่เคยมีคนใช้ในโลก เพื่อเพิ่มความแข็งของผิวรองรับน้ำหนัก เช่น การวางระบบท่อแอร์ในผิวชั้นดิน  เพื่อให้ดินอุ้มน้ำเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำแข็งรองรับน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น แต่หากใช้แนวทางนี้ต้นทุนค่าซ่อมแซมก็จะสูง ซึ่งคนอาจสงสัยว่าการดำเนินการจะคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับการก่อสร้างใหม่ นายต่อตระกูล กล่าว.