บีโอไอมั่นใจ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังพร้อมรองรับการลงทุนจากทั่วโลก เตรียมจัดงาน นายกฯ พบนักลงทุน พร้อมคลอดมาตรการใหม่หวังสร้างความเข้มแข็งระยะยาว
บีโอไอมั่นใจ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังพร้อมรองรับการลงทุนจากทั่วโลก เตรียมจัดงาน “นายกฯ พบนักลงทุน” 18 มิถุนายนนี้ พร้อมเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นด้วยการคลอดมาตรการใหม่ส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว |
. |
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยในระยะสั้น แต่มิได้ทำให้ศักยภาพการลงทุนหรือโอกาสทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะกลางและระยะยาว |
. |
ดังนั้น บีโอไอจึงมีแผนที่จะตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วยการสร้าง ขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกเหนือจากการกระตุ้นการลงทุนในระยะสั้น ด้วยการผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุนในด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Development) และด้านศูนย์กลางการดูแลสุขภาพ (Health care) |
. |
“ขณะนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ค้ารายย่อย ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างมาก ส่วนผู้ประกอบการภาคการผลิตมิได้รับผลกระทบ บีโอไอจึงต้องการเร่งสร้างศักยภาพในระยะยาวแก่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ทั้งไทยและต่างประเทศด้วย” เลขาธิการบีโอไอกล่าว |
. |
และเพื่อเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ บีโอไอจึงกำหนดจัดงาน “นายกรัฐมนตรีพบนักลงทุน” ในวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2553 ตั้งแต่เวลา 11.00 – 15.00 น. ณ อาคาร แชเลนเจอร์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี เพื่อชี้แจงให้นักลงทุนเข้าใจถึงทิศทางที่รัฐบาลจะสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยจะมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 1,000 ราย |
. |
นอกจากนี้ สำนักงานบีโอไอประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้รายงานว่า บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่มีแผนการลงทุนชัดเจนแล้วมองว่า แม้จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในประเทศไทย แต่ก็ยังเห็นว่า การเข้ามาลงทุนในไทยมีโอกาสทางธุรกิจมากกว่าความเสี่ยงทางการเมืองในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ |
. |
ทั้งนี้ เสียงสะท้อนจากนักลงทุนญี่ปุ่น ยังสอดรับกับความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยของนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในไทยจำนวน 99 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 25,611 ล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 152 เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนของญี่ปุ่นในช่วงเดียวกันปี 2552 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 10,148 ล้านบาท โดยโครงการขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะและชิ้นส่วนยานยนต์ |