เนื้อหาวันที่ : 2010-06-01 08:51:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2692 views

450 SCENARIO

Fossil Fuels ตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของภาวะโลกร้อน ทั่วโลกต้องหาทางควบคุมให้การใช้เชื้อเพลิงประเภทนี้ลดลงมากที่สุด เพื่อความหวังที่จะหยุดความเลวร้ายที่เกิดจากสภาวการณ์โลกร้อน

โดย:คุณมนูญ ศิริวรรณ  

.

.

การประชุมขององค์การสหประชาชาติ (UN) เกี่ยวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลก (Climate Change) ที่กรุง COPENHAGEN ประเทศ DENMARK มีการพูดถึงการลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่ได้มาจากซากพืชและสัตว์ (Fossil Fuels) ลง เพราะเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำให้โลกร้อนขึ้น  

.

เชื้อเพลิง Fossil ที่สำคัญๆ ที่โลกเราใช้อยู่ในขณะนี้ (น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ) กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของภาวะโลกร้อน และต้องควบคุมให้การใช้เชื้อเพลิงประเภทนี้ลดลงมากที่สุด เพื่อช่วยให้สภาวะการณ์โลกร้อนไม่เลวร้ายไปมากกว่านี้

.

ทางด้านทบวงพลังงานสากล (INTERNATIONAL ENERGY AGENCY – IEA) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านพลังงานของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 28 ประเทศในกลุ่ม OECD ได้วาดภาพการใช้พลังงานในอนาคตเพื่อลดภาวะโลกร้อน โดยนำเสนอโครงสร้างการใช้พลังงานของโลกนับจากปัจจุบัน – ปีค.ศ. 2030 ไว้ในรายงานชื่อ 2009 WORLD ENERGY OUTLOOK ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 

.

ในรายงานฉบับนี้ IEA วาดภาพการใช้พลังงานของโลกในอนาคตไว้ในหัวข้อที่ใช้ชื่อว่า “450 SCENARIO” คำว่า 450 นั้นหมายถึงเป้าหมายของการกำหนดความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก (Concentration of greenhouse gases) ในชั้นบรรยากาศไม่ให้เกิน 450 ส่วนในล้านส่วน หรือ 450 PPM ภายในปีค.ศ. 2030 (21 ปีนับจากนี้ไป)

.

ซึ่งถ้าสามารถทำได้จะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเพียง   2 องศาเซลเซียส แทนที่จะสูงขึ้นถึง 6 องศาเซลเซียสภายในปี 2030 และการที่จะทำเช่นนี้ได้ แผนการหนึ่งก็คือลดการใช้เชื้อเพลิงจาก Fossil ลงนั่นเอง

.

ใน “450 SCENARIO” IEA บอกว่าความต้องการน้ำมันนับจากนี้ไปจนถึงปี 2030 จะเพิ่มขึ้นถึง 40% โดยปีหน้า (2010) โลกจะใช้น้ำมันวันละ 86.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นหลังจากลดลงติดต่อกัน  2 ปี (2008 และ 2009) และในปี 2015 และ 2030 โลกจะต้องการน้ำมันวันละ 88 และ 105 ล้านบาร์เรลตามลำดับ

.

และถึงแม้เราจะพยายามลดการใช้น้ำมันมากเพียงใด เชื้อเพลิงจากฟอสซิลก็ยังคงมีสัดส่วนสูงถึง 67% ของการใช้พลังงานทั้งโลกในปี 2030 และจะมีสัดส่วนถึง 75% ของปริมาณความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นโดยมากกว่า 90% ของความต้องการที่เพิ่มขึ้นจะมาจากประเทศนอกกลุ่ม OCED (NON-OCED) โดยเฉพาะจีน/อินเดีย จะมีสัดส่วนมากกว่า 50%

.

ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็คือ ASEAN บ้านเรานี่แหละ ความต้องการพลังงานฟอสซิลจะขยายตัวถึง 76% ระหว่างปี 2007-2030 IEA ยังทำนายด้วยว่าประเทศจีนจะชิงตำแหน่งผู้นำเข้าน้ำมันและก๊าซอันดับ 1 ของโลกมาจากสหรัฐอเมริกาภายในปี 2025

.

ดังนั้นทางเลือกของโลกถ้าต้องการควบคุมก๊าซเรือนกระจกไม่ให้เกิน 450 PPM ก็คงมีอยู่เพียง 2 ทางเท่านั้นคือ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด (Clean Energy) อย่างเช่นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) กับเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) ซึ่งทั้งสองเรื่องนั้นต้องการการปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้มีราคาถูกลง และการส่งเสริมหรือบังคับใช้อย่างจริงจังจากรัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลก 

.

IEA บอกว่าโลกต้องจำกัดการใช้เชื้อเพลิง FOSSIL ให้อยู่ในระดับสูงสุด (PEAK) ที่ปี 2020 และอยู่ในระดับนั้นต่อไปโดยไม่เพิ่มขึ้นอีก ในขณะเดียวกันก็ต้องหันมาพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานคาร์บอนต่ำ (Non-Carbon Energy Technologies) แทนโดยในปี 2030 การผลิตไฟฟ้าทั่วโลกจะมาจากพลังงานหมุนเวียน 37% พลังงานนิวเคลียร์ 18% และชีวมวล 5% รวมแล้วเท่ากับ 60%

.

ในส่วนของการคมนาคมขนส่งก็เช่นกัน IEA ทำนายว่ายอดขายรถยนต์ประหยัดพลังงานอย่างเช่น รถยนต์ Hybrids, Plug-in Hybrids และรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าอย่างเดียว จะมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 60% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดทั่วโลกภายในปี 2030 เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันซึ่งมีสัดส่วนเพียงแค่ 1% เท่านั้น และจากการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปี 2020 และ 2030 จะอยู่ที่ 50 และ 110 เหรียญสหรัฐต่อตันตามลำดับ

.

ทั้งหมดนี้เป็นภาพโครงสร้างการใช้พลังงานของโลกในอนาคตอันไม่ไกลจากปัจจุบันมากนักและเป็นกระแสของโลกที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ถ้าเรายังต้องอยู่ในประชาคมโลก ดังนั้นแนวนโยบายของรัฐบาลในเรื่องที่เกี่ยวกับพลังงานและสิ่งแวดล้อม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน

.

เมื่อพิจารณาจากปัญหาและสถานการณ์ในอนาคต ผมใคร่จะขอแนะนำรัฐบาล ไม่ว่าจะชุดนี้หรือชุดต่อไป ให้บูรณาการการบริหารจัดการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน โดยแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเพื่อดูแลนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเบ็ดเสร็จ มีหน้าที่กำกับดูแลและประสานนโยบายตลอดจนการปฏิบัติการตามแผนให้เกิดเป็นรูปธรรม

.

ผลักดันให้นโยบายได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังโดยการออกกฎหมายหรือระเบียบต่างๆ ออกมาบังคับใช้ และประสานงานของหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อให้การทำงานของทุกกระทรวงมีเป้าหมายเดียวกัน และไม่อยู่ในภาวะต่างคนต่างทำอีกต่อไป

.
“Decarbonized future is count on less fuel and less CO2”         
.
ที่มา : สำนักนโยบายและแผนพลังงาน