เนื้อหาวันที่ : 2010-05-27 11:54:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1103 views

คลังยันเศรษฐกิจไทยยังโตต่อเนื่อง

ก.คลังเผยเศรษฐกิจไทยในเดือนเม.ย. 53 ขยายตัวต่อเนื่องจากการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากผลกระทบของสถานการณ์ทางการเมือง

“ดัชนีเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2553 บ่งชี้ถึงการขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งจากการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากผลกระทบของสถานการณ์ทางการเมือง”

.

.

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2553 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะจากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 35.2 ต่อปี แต่หดตัวร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

.

ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนเมษายน 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 21.0 ต่อปี แต่หดตัวร้อยละ -3.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และการการลงทุนภาคเอกชนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 39.4 ต่อปี แต่หดตัวร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า”

.

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2553 ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องโดยได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวที่ดีของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับแรงส่งจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ในระดับสูงที่ร้อยละ 12.0 ต่อปี       

.

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและของภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2553 ปรับตัวลดลงเช่นกัน”

.

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวสรุปว่า “สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 โดย สศค. จะได้นำเอาปัจจัยเชิงบวกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยเชิงลบด้านการเมืองมาปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยเพื่อแถลงต่อสาธารณชน ในวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ต่อไป”

.
รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2553 

ดัชนีเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2553 บ่งชี้ถึงการขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งจากการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากผลกระทบของสถานการณ์ทางการเมือง

.

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2553 ยังคงมีการขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปีก่อนแต่มีสัญญาณแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนเมษายน 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 21.0 ต่อปี แต่หดตัวที่ร้อยละ -3.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ขยายตัวร้อยละ 37.4 ต่อปี แต่หดตัว ร้อยละ -3.4 จากเดือนก่อนหน้า

.

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.2 จุด ลดลงจากเดือนมีนาคม 2553 ที่อยู่ที่ระดับ 69.8 จุด โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองที่มีความตึงเครียดมากขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2553          

.

ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนปรับตัวดีขึ้นมาก ทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้า สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนเมษายน 2553 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 64.4 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 28.1 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงปรับตัวดีขึ้น ตามราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง 

.

2. การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีเช่นกันเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่มีสัญญาณแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า  สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนเมษายน 2553 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 39.4 ต่อปี แต่หดตัวร้อยละ -4.0 จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนเมษายน ขยายตัวที่ร้อยละ 30.0 ต่อปี แต่หดตัวที่ร้อยละ -8.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า          

.

สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนเมษายน 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี สะท้อนถึงการลงทุนและธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

.

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนเมษายน 2553 พบว่า บทบาทนโยบายการคลังยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ผ่านการใช้จ่ายงบประมาณและการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยการเบิกจ่ายงบประมาณมีจำนวน 145.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี ทำให้ผลการเบิกจ่ายสะสมในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552-เมษายน 2553) เท่ากับ 1,079.5 พันล้านบาท       

.

ในขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในเดือนเมษายนเท่ากับ 21.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเบิกจ่ายสะสมล่าสุดของโครงการไทยเข้มแข็ง ในช่วงเดือนกันยายน 2552 ถึง เมษายน 2553 มีจำนวน 126.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 36.2 ของกรอบวงเงินอนุมัติ (350 พันล้านบาท)    

.

ในขณะที่รายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) เท่ากับ 159.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 29.0 ต่อปี โดยการจัดเก็บรายได้ที่สูงขึ้นสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลของการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เบียร์ ยาสูบ และสุรา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 ทั้งนี้ รายได้รัฐบาลที่สูงกว่ารายจ่ายงบประมาณทำให้ดุลการคลังในเดือนเมษายน 2553 เกินดุลจำนวน 17.1 พันล้านบาท

.

4. การส่งออกและการนำเข้าในเดือนเมษายน 2553 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่มีสัญญาณแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนเมษายน 2553 อยู่ที่ 14.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ขยายตัวที่ร้อยละ 35.2 ต่อปี โดยมาจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 20.6 ต่อปี และราคาสินค้าส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 12.1 ต่อปี

.

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่ปรับตัวได้ดีขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และเกษตร เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ -2.5

.

สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดี โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนเมษายนอยู่ที่ 14.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงมากที่ร้อยละ 46.0 ต่อปี โดยมาจากปริมาณการนำเข้าที่ขยายตัวร้อยละ 30.7 ต่อปี และราคาสินค้านำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 11.8 ต่อปี          

.

ทั้งนี้ หมวดสินค้านำเข้าที่ขยายตัวได้สูง ได้แก่ ยานพาหนะและอุปกรณ์ สินค้าวัตถุดิบ สินค้าทุนและเครื่องจักร สะท้อนแนวโน้มการผลิตและการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ -5.5 ทั้งนี้ มูลค่านำเข้าที่สูงกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนเมษายน 2553 ขาดดุลที่ 0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

.

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนเมษายน 2553 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคบริการจากการท่องเที่ยวเริ่มมีสัญญาณชะลอลงจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 30.6 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

.

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2553 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 99.3 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 101.6 จุด ต่ำกว่าระดับ 100 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน สะท้อนความกังวลของผู้ประกอบการที่มีต่อสถานการณ์การเมือง

.

ในขณะที่เครื่องชี้ภาคบริการจากการท่องเที่ยวในเดือนเมษายน 2553 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ 1.08  ล้านคน หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้า หดตัวลงในระดับสูงที่ร้อยละ -14.1 เป็นผลจากสถานการณ์ทางการเมือง          

.

สำหรับเครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนเมษายน 2553 หดตัวที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังที่หดตัวลงมาก จากปัญหาภัยแล้งและการระบาดของเพลี้ยแป้ง ทั้งนี้ ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 20.1 ต่อปี ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 16.9 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.9 ต่อปี 

.

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม 2553 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเท่ากับ 3.7 แสนคน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี จากราคาสินค้าในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยายตัวสูงขึ้นเป็นหลัก  

.

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 อยู่ที่ร้อยละ 41.9 ซึ่งต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 

.

สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2553 อยู่ในระดับสูงที่ 147.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 5.0 เท่า

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง