เนื้อหาวันที่ : 2010-05-25 16:38:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1449 views

MPA นิด้า จี้รัฐเพิ่มสัดส่วนงบลงทุน หนุนเศรษฐกิจแกร่งระยะยาว

MPA NIDA จี้รัฐเพิ่มสัดส่วนงบลงทุน อัดฉีดโครงสร้างพื้นฐาน ติงเจียดงบดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมน้อยเกินไป หวั่นเกิดปัญหาซ้ำรอยมาบตาพุด

MPA NIDA จี้รัฐเพิ่มสัดส่วนงบลงทุน อัดฉีดโครงสร้างพื้นฐาน ติงเจียดงบดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมน้อยเกินไป หวั่นเกิดปัญหาซ้ำรอยมาบตาพุด

.

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต
คณะรัฐประศาสนศาสตร์  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (MPA NIDA)

.

ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ MPA NIDA จี้รัฐเพิ่มสัดส่วนงบลงทุน หลังพบงบประมาณปี 54 จัดสรรงบลงทุนแค่ 3.4 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 16.6% เท่านั้น         

.

ระบุต้องเร่งอัดฉีดโครงสร้างพื้นฐาน สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจระยะยาว พร้อมติงเจียดงบดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมน้อยเกินไป หวั่นระยะยาวเกิดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน ซ้ำรอยปัญหามาบตาพุด 

.

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (MPA NIDA) เปิดเผยว่า จากกรอบงบประมาณประจำปี 2554 (ต.ค.53-ก.ย.54) ที่มีวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2.07 ล้านล้านบาท 

.

หากพิจารณาการใช้จ่ายงบดังกล่าว ตามประเภทของการใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของกรอบงบประมาณปี 54 พบว่าสัดส่วนรายจ่ายสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ งบการใช้จ่ายในการบริหารประเทศ คิดเป็น 25.1% งบการใช้จ่ายเพื่อเศรษฐกิจ 20.4% งบใช้จ่ายเพื่อการศึกษา 20.4% งบใช้จ่ายเพื่อการสาธารณสุข 10.1% และงบใช้จ่ายเพื่อป้องกันประเทศ 8.2% 

.

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงสัดส่วนรายจ่ายของงบประมาณปี 54 ก็พบว่า ภายใต้กรอบการใช้เงินงบประมาณ 2.07 ล้านล้านบาทนั้น เป็นรายจ่ายประจำสูงถึง 1.66 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 80.3% ของบทั้งหมด และเหลือเป็นงบเพื่อการลงทุนเพียง 3.44 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 16.6% เท่านั้น ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากงบส่วนนี้รัฐบาลจะนำไปใช้เพื่อการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน .

.

ดังนั้น ภาครัฐควรหาทางที่เพิ่มงบประมาณในส่วนของการลงทุนให้มากขึ้น โดยอาจเลือกแนวทางการปรับลดรายจ่ายประจำลงมา ด้วยการปรับลดขนาดของหน่วยงานภาครัฐ หรือยุบบางหน่วยงานเพื่อลดบุคลากรที่เป็นข้าราชการลงในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดรายจ่ายประจำของรัฐบาลลงมาให้เหลือเพียง 60% ของงบรายจ่ายประจำปี และนำไปเพิ่มให้กับงบเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น 

.

ขณะที่แนวทางที่สอง ภาครัฐอาจเลือกใช้การปรับลดภาษีนิติบุคคลธรรมดา เพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศที่มีความต้องการขยายกิจการ เพื่อให้ภาคเอกชนลงทุนแทนภาครัฐ และสามารถมีรายได้จากการเก็บภาษีในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติม รวมถึงการใช้มาตรการภาษีเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม เช่น การจัดเก็บภาษีมรดก การจัดเก็บภาษีที่ดิน ให้มีผลในการการจัดเก็บที่เป็นรูปธรรมเร็วขึ้น

.

ขณะเดียวกัน จากการติดตามกรอบงบประมาณในครั้งนี้ พบว่า ภาครัฐกลับไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม หลังจากมีการจัดสรรงบเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมเพียง 0.2% จากงบประมาณทั้งหมด ทั้งที่หลายประเทศให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น และไทยเองก็ประสบปัญหาในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ทำให้โรงงานกว่า 60 แห่งต้องหยุดกิจการลงชั่วคราวจนกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน เนื่องจากไม่ได้ทำตามระเบียบของหน่วยงานที่ดูแลสิ่งแวดล้อมมาแล้ว 

.

“การใช้จ่ายเงินงบประมาณในเรื่องของการบริหาร เศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุข ดูเป็นเรื่องที่เหมาะสม ที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นในสังคม แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเราเคยเกิดบทเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุดมาแล้ว กลับไม่ได้ได้รับการจัดสรรงบในส่วนนี้ในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดีพอ

.

ซึ่งหวั่นเกรงว่า จากการขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลสิ่งแวดล้อม และขาดงบประมาณในการดูแลอย่างจริงจัง ในอนาคตอาจเกิดปัญหาจนส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจการค้าการลงทุน อย่างเช่นกรณีมาบตาพุดขึ้นมาอีก” รศ.ดร.มนตรี กล่าว