เนื้อหาวันที่ : 2010-05-24 15:45:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2733 views

กรีซ กับ วิกฤตเครดิตของประเทศ

ตั้งแต่ต้นปีนี้ วิกฤตเศรษฐกิจดูจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในทวีปยุโรปซึ่งมีสาเหตุมาจากการก่อหนี้สาธารณะเกินตัว โดยเฉพาะประเทศกรีซ ที่กำลังประสบปัญหา

The 21st Century Economy
กรีซ กับ วิกฤตเครดิตของประเทศ (Sovereign Debt Crisis)

.
วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจโลกยังเผชิญกับภาวะถดถอยและยังคงผันผวนอยู่นะครับ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาหรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า Hamburger Crisis 

.

ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวนอกจากจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาถึงกับ “เซ” ไปพักใหญ่แล้ว ยังลากยาวต่อเนื่องมายังทวีปยุโรปรวมถึงมหาเศรษฐีใหญ่จากตะวันออกกลางอย่าง “ดูไบ” ก็พลอยโดนลูกหลงไปกับเขาด้วย

.

อย่างที่เรียนให้ท่านผู้อ่านได้ทราบไปเมื่อตอนที่แล้วนะครับว่า ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ คือ ปัญหาซับไพร์ม (Subprime) ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ความซับซ้อนของเครื่องมือทางการเงินยุคใหม่ยังทำให้วิกฤตรอบนี้ส่งผลร้ายแรงมากกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา

.

โดยทั่วไปแล้วการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแต่ละครั้งนั้น มันจะต้องใช้ระยะเวลาในการสั่งสมปัญหายาวนานมาพอสมควรครับ และหากเมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว เราจะพบว่า วิกฤตเศรษฐกิจส่วนใหญ่นั้นมีที่มาจากสองสาเหตุ คือ หนึ่ง เกิดสภาวะที่เรียกว่า “อุปทานหดตัวกะทันหัน” หรือ Supply Shock ครับ   

.

โดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากภัยธรรมชาติครั้งรุนแรง เช่น แผ่นดินไหว เกิดพายุเฮอริเคน น้ำท่วมใหญ่ เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนส่งผลให้ราคาปัจจัยการผลิตสูงขึ้นผิดปกติ นอกจากนี้ Supply Shock ยังรวมถึงราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นเนื่องมาจากกลุ่มโอเปคลดกำลังการผลิตหรือที่เราเรียกกันว่า Oil Shock ครับ

.

สำหรับสาเหตุสำคัญอีกประการ คือ เกิดสภาวะที่เรียกว่า “ฟองสบู่” จากการเก็งกำไรในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หลักทรัพย์ ที่ดิน บ้าน ทองคำ น้ำมัน หรือแม้แต่พืชผลทางการเกษตร เป็นต้น ซึ่งการเป่าฟองสบู่ก็คือ การสร้างความต้องการแบบปลอม ๆ ขึ้นมา แม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วแต่การเติบโตดังกล่าวไม่ได้สะท้อนความแข็งแกร่งที่แท้จริงของภาคการผลิตหรือประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรในสังคมแต่อย่างใด

.

ผลกระทบของ “เศรษฐกิจฟองสบู่” (Bubble Economy) ยังทำให้การใช้ทรัพยากรขาดประสิทธิภาพอีกด้วยครับ ขณะเดียวกันการเก็งกำไรนี้เองที่ทำให้ภาคการเงิน (Financial Sector) ได้รับผลกระทบในเรื่องความเชื่อมั่นไปด้วย เพราะสถาบันการเงิน คือ หนึ่งในผู้เล่นในเศรษฐกิจฟองสบู่ด้วยและเมื่อขาดความเชื่อมั่นในภาคการเงินแล้วย่อมทำให้ภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ได้รับผลกระทบตามไปด้วย 

.

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าเวลาที่เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น สัญญาณอย่างหนึ่งที่เป็นตัวสะท้อนได้ดี คือ การว่างงานครับ และยิ่งประเทศใดเผชิญปัญหานี้มากขึ้นเท่าไร โอกาสที่วิกฤตจะรุนแรงและลุกลามไปสู่ภาคอื่น ๆ ย่อมมีมากขึ้น

.

สำหรับซีรีส์ The 21st Century Economy ในตอนนี้ ผู้เขียนจะแนะนำให้ท่านได้เห็นตัวอย่างของกรีซซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตเครดิตของประเทศ หรือ Sovereign Crisis อยู่ โดยวิกฤตครั้งนี้มีต้นเหตุสำคัญมาจากการขาดวินัยทางการคลังของรัฐบาลกรีซครับ

.
รู้จัก Sovereign Debt Crisis: ต้นเหตุจากการก่อหนี้สาธารณะเกินตัว

นับตั้งแต่ต้นปีนี้ วิกฤตเศรษฐกิจดูจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในทวีปยุโรปนะครับ อย่างไรก็ดี “อาการ” ที่แสดงออกมานั้นอาจจะต่างกันกับอาการของ Hamburger Crisis ในสหรัฐอเมริกา 

.

ในสหรัฐอเมริกา ต้นตอของวิกฤตมาจากปัญหาซับไพร์มและความซับซ้อนในการทำธุรกรรมการเงินของเหล่าวาณิชธนกิจชั้นนำ ส่วนวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปนั้น ต้นเหตุสำคัญมาจากการก่อหนี้สาธารณะที่เกินตัวของรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศครับ

.

ประเทศแรกที่ออกอาการ “เป๋” ก่อนใครเพื่อน คือ กรีซ ทั้งนี้กรีซซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มประเทศอียู หรือ ยูโรโซน (Eurozone) ได้ออกมาส่งสัญญาณเป็นนัย ๆ แล้วว่า รัฐบาลกรีซอาจจะมีปัญหาในการจ่ายผลตอบแทนพันธบัตรคืนในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งการออกมาส่งสัญญาณดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตอนนี้รัฐบาลกรีซกำลังเผชิญวิกฤตทางการคลังครั้งใหญ่

.

สอดคล้องกับการปรับลดอันดับเครดิตของ S&P, Moody’s และ Fitch ที่ต่างได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรกรีซลง เนื่องจากบริษัทจัดอันดับเรตติ้งเหล่านี้มองแล้วว่ารัฐบาลกรีซขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่องมาหลายปี โดยตัวเลขขาดดุลการคลังล่าสุดอยู่ที่ระดับร้อยละ 12 ต่อ GDP นอกจากนี้แผนการปรับลดการขาดดุลการคลังยังไม่มีความชัดเจน จึงทำให้รัฐบาลกรีซมีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 113 ต่อ GDP เลยทีเดียว

.

นอกจากนี้ดูเหมือน “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” กรีซนะครับ เพราะมีการประเมินกันว่าเศรษฐกิจกรีซยังไม่น่าจะมีวี่แววการฟื้นตัวได้เลย เพราะพิจารณาจากการว่างงานที่สูงเกือบร้อยละ 9 แถมยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอีกเกือบร้อยละ 12.5 

.

ตัวเลขการขาดดุลพร้อมกันทั้งดุลการคลัง (Fiscal Deficit) และดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Deficit) นี้ นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Twin Deficit ครับ

.

นายจอร์จ ปาปันเดรอู (Ge?rgios Papandréou)
นายกรัฐมนตรีกรีซคนปัจจุบัน
กำลังเผชิญวิกฤตเครดิตของประเทศ

.

นักเศรษฐศาสตร์ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้กรีซก่อหนี้สาธารณะเกินตัวว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่กรีซเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มประเทศอียูและต้องปรับมาใช้เงินสกุลยูโรพร้อม ๆ เพื่อนสมาชิกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้กรีซสามารถกู้ยืมเงินได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำครับ เนื่องจากเงินสกุลยูโรนั้นมีเครดิตดี จึงทำให้กรีซพลอยได้รับเครดิตไปด้วย  

.

ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวทำให้รัฐบาลกรีซพร้อมที่จะก่อหนี้สาธารณะเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อรองรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิคเกมส์ครั้งที่ 28 ที่กรุงเอเธนส์

.

ทั้งนี้ตามหลักการก่อหนี้สาธารณะที่ดีแล้วรัฐบาลควรก่อหนี้เพื่อมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานครับ เช่น สร้างเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจได้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

.

ในทำนองเดียวกันกับเศรษฐกิจของกรีซที่เติบโตอย่างต่อเนื่องนั้น รัฐบาลกรีซจึงเลือกดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวมาโดยตลอด ซึ่งการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาล โดยที่มาของเงินงบประมาณที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นมีอยู่สองทางครับ คือ ใช้เงินภาษีและหากไม่พอก็ก่อหนี้สาธารณะ (Public Debt) เช่น ออกพันธบัตรรัฐบาลกู้เงินภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

.

โอลิมปิคเกมส์ที่กรุงเอเธนส์ เมื่อปี ค.ศ. 2004
อีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กต์ ที่รัฐบาลกรีซต้องทุ่มงบประมาณลงไปมหาศาล

.

กีฬาโอลิมปิคเมื่อปี ค.ศ. 2004 ที่เอเธนส์ รัฐบาลกรีซ ได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลในการจัดมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ของโลก และแม้ว่าจะเกิดผลดีกับเศรษฐกิจกรีซในเวลาต่อมา แต่รัฐบาลยังคงต้องแบกรับภาระหนี้สาธารณะที่นับวันจะมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อย ๆ

.

สนามกีฬาแห่งชาติในกรุงเอเธนส์ที่รองรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิคครั้งที่ 28 ที่กรีซเป็นเจ้าภาพ ประมาณการกันว่ารัฐบาลกรีซต้องใช้เงินไปราว ๆ 9 พันล้านยูโรกับโอลิมปิคครั้งนี้
(ภาพจาก
www.wikipedia.org)

.

ปัญหากรีซเริ่ม “แดง” ขึ้นหลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณกลางปี ค.ศ. 2008 เศรษฐกิจโลกที่ถดถอยทำให้เศรษฐกิจกรีซหดตัวตามไปด้วย และโดยแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตามปกติ รัฐบาลกรีซได้ตัดสินใจกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้งบประมาณขาดดุลเช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะของกรีซที่มีสูงอยู่แล้วยิ่งเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมอีก                 

.

ขณะเดียวกันการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องก็สะท้อนให้เห็นว่ากรีซต้องพึ่งพาเงินทุนจากนอกประเทศเป็นหลักและยังชี้ให้เห็นว่าการออมในกรีซนั้นมีน้อยกว่าการลงทุนครับ

.

ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของเครดิต (Credit Rating) อย่าง S&P ประเมินว่าระดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลกรีซนั้นลดลง ทั้งนี้ S&P ได้พิจารณาอันดับเรตติ้งของประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มยุโรปตอนใต้ (Southern Europe) หรือที่รู้จักกันในชื่อของ PIGS ซึ่งประกอบไปด้วย โปรตุเกส อิตาลี กรีซ และสเปน โดย S&P แสดงความเป็นห่วงในเรื่องความเสี่ยงด้านเครดิตของประเทศซึ่งมีสาเหตุมาจากระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงมาก

.

อย่างไรก็ดี รัฐบาลกรีซมีแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่หลายแนวทางนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการหยุดชำระหนี้หรือพูดภาษาชาวบ้าน คือ เบี้ยวหนี้ (Default) ไปก่อนเพราะไม่มีเงินจ่าย ซึ่งแนวทางนี้ดูจะไม่เป็นผลดีเท่าไรนัก เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของกรีซในระยะยาวแน่นอน

.

อีกแนวทางหนึ่ง คือ การรัดเข็มขัดทางการคลังครับ (Fiscal Consolidation) หรือ การมีวินัยทางการคลัง พูดให้ง่ายเข้า คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ฐานะทางการคลังของกรีซขาดดุลลดลงหรือถ้าให้ดีกลับมาเกินดุลให้ได้ วิธีการนี้รัฐบาลกรีซจำเป็นต้องปรับลดรายจ่ายลงทุกอย่างครับ นี่ไม่นับรวมการขึ้นภาษี      

.

แนวทางนี้เป็นแนวทาง “เจ็บแต่ดี” เพราะในระยะยาวรัฐบาลจะไม่ต้องพะวงกับปัญหาฐานะทางการคลังอีกต่อไปรวมไปถึงเป็นการสร้างวินัยทางการคลังให้กับรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ดีแนวทางนี้ย่อมส่งกระทบต่อข้าราชการหรือพนักงานของรัฐที่จะอาจจะถูกปลดออกหรือโดนปรับลดเงินเดือนลง ซึ่งก็อาจจะเป็นผลเสียต่อรัฐบาลในการบริหารประเทศอีกเช่นกัน

.

ส่วนแนวทางสุดท้าย คือ การรอความช่วยเหลือทางการเงิน หรือ Bailout จากเพื่อน ๆ ในกลุ่มอียู รวมไปถึงไอเอ็มเอฟ ครับ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ากรีซน่าจะรอความช่วยเหลือจากเพื่อนสมาชิกในกลุ่มอียูมากกว่า ซึ่งทางอียูเองก็ไม่อยากให้ปัญหากรีซบานปลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาคไป

.

สำหรับ “ตัวตั้งตัวตี” ที่จะเข้ามาช่วยพยุงวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ คือ เยอรมนี ครับ เนื่องจากเยอรมนีเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มอียู อีกทั้งเป็นประเทศที่รักษาวินัยทางการเงินการคลังดีเยี่ยมจึงพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือกรีซอยู่แล้ว

.

นางแองเกล่า แมร์เคิล (Angela Merkel)
     นายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมนี
     ผู้ที่ต้องแสดงบทมิตรแท้ในการประคองวิกฤตเศรษฐกิจกรีซ

.

อย่างไรก็ดีการเข้าช่วยเหลือกรีซรอบนี้อาจจะไม่ง่ายนัก เพราะคนเยอรมันมองว่าทำไมรัฐบาลตัวเองต้องเข้าไปช่วยเหลือกรีซทั้งที่รัฐบาลกรีซก็รู้อยู่เต็มอกว่าตัวเองก่อหนี้สาธารณะไว้มากมายเท่าไร นอกจากนี้คนเยอรมันยังเปรียบเทียบให้เห็นว่าพวกเขาต้องทำงานหนักกว่าจะเกษียณอายุก็ 60 ปีเข้าไปแล้ว ส่วนคนกรีกกลับสามารถเออร์ลี่รีไทร์ได้ตั้งแต่อายุ 50 ปี ซึ่งมันกลายเป็นว่าคนเยอรมันทำงานหนักเพื่อมาเลี้ยงคนกรีก

.

การประชุมของกลุ่มประเทศยูโรโซนเพื่อช่วยเหลือกรีซ
     (ภาพจาก
www.bbc.co.uk)

.

วิกฤตเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนอยากจะเจอกันหรอกนะครับ อย่างที่เรียนไปข้างต้นแล้วว่าวิกฤตแต่ละครั้งนั้นมันสะท้อนให้เห็นปัญหาที่สั่งสมกันมาช้านาน เช่นเดียวกับกรีซที่เกิดวิกฤตการคลังและหนี้สาธารณะจนกำลังจะกลายเป็นวิกฤตเครดิตของประเทศ ซึ่งจะทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตาของนักลงทุนลดลงไปเหมือนอย่างที่อาร์เจนติน่าหรือเม็กซิโกเคยเผชิญกันมาแล้ว

.

ท้ายสุดนี้ วิกฤตเศรษฐกิจของกรีซนับเป็น “บทเรียน” ที่ดีของรัฐบาลไทยที่จะต้องคำนึงถึง “ฐานะทางการคลัง” และ “การก่อหนี้สาธารณะ” โดยหากเราไม่รู้จักประมาณตนเองแล้ว การก่อหนี้สาธารณะเพื่อมาหว่านเม็ดเงินลงในโครงการประชานิยมต่าง ๆ นั้น อาจจะทำให้เราต้องเผชิญกับการล้มละลายด้านเครดิตของประเทศไม่ต่างจากกรีซก็เป็นได้นะครับ…แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

.

เอกสารและภาพประกอบการเขียน

1. www.wikipedia.org
2. www.bbc.co.uk
3. ผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS ต่อเศรษฐกิจไทย, ดร.สิริกมล อุดมผล