1. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยปรับลดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 52 |
- มหาลัยหอการค้าไทยประกาศตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) ในเดือนเม.ย. 53 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 52 ที่ 67.2 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 69.8 จากปัญหาด้านความไม่สงบทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลเชิงลบต่ออารมณ์ผู้บริโภคและการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา |
. |
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อต่อไปอีกนั้น การบริโภคภาคเอกชนจะยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 53 นี้ |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การบริโภคภาคเอกชนซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของ GDP ดังนั้น หากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองมีความยืดเยื้อ ก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับสถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าว |
. |
ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนทั้งปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อปี ซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองสิ้นสุดลงภายในไตรมาส 2 นั้น การบริโภคภาคเอกชนจะหดตัวจากที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้นที่ร้อยละ -0.58 ในขณะที่หากการชุมนุมยืดเยื้อออกไปถึงไตรมาส 3 จะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวจากที่คาดการไว้เบื้องต้นร้อยละ -1.17 |
. |
2. ต่างชาติยื่นขอบีโอไอในไตรมาสแรกขยายตัวกว่าร้อยละ 230 |
- เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกของปีนี้ มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในหมวดอุตสาหกรรมสนับสนุนรวม 108 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุน 2.56 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าในแง่ของจำนวนโครงการร้อยละ 47 และในแง่ของมูลค่ากว่าร้อยละ 230 |
. |
โดยส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนโลหะและเครื่องจักร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยางและพลาสติก ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ไทยมีโอกาสขยายตลาดชิ้นส่วนไปต่างประเทศค่อนข้างมาก จาผลของข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) |
. |
ด้านธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ก็มีการเร่งขึ้นสูงมาก โดยดูได้จากตัวเลขภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่เร่งขึ้นมากไตรมาสแรกที่ร้อยละ 63.5 ต่อปี บ่งชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวชัดเจน และสศค.คาดว่าในปี 53 การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวถึงร้อยละ 8.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 7.7 – 8.7คาด ณ เดือน มี.ค. 53) |
. |
3. ค่าเงินยูโรยังคงอ่อนค่าลงจากความกังวลปัญหาหนี้สาธารณะ |
- ค่าเงินยูโรยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ระดับ 1.2585 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากความกังวลว่ารัฐบาลของกลุ่มประเทศในกลุ่ม PIGS นั้นอาจไม่สามารถลดการขาดดุลทางการคลังได้มากพอ แม้ว่าทางสหพันธ์ยุโรป (EU) จะได้จัดตั้งงบช่วยเหลือเป็นมูลค่าสูงถึง 750 พันล้านยูโรเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตลาดและนักลงทุนแล้วก็ตาม |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่าความไม่เชื่อมั่นต่อการลงทุนในในกลุ่มยุโรปซึ่งได้ส่งผลให้ค่าเงินยูโรนั้นมีแนวโน้มอ่อนค่าลงมาจากความไม่เชื่อมั่นต่อสถานะทางการคลังของรัฐบาลโดยเฉพาะในประเทศกรีซ ซึ่งถูกมองว่าจะยืดเยื้อและอาจลุกลามไปสู่ประเทศสเปนและโปรตุเกส และในขณะเดียวกันอาจส่งผลกระทบต่อประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน และอังกฤษซึ่งเป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลของประเทศในกลุ่ม PIGS |
. |
อีกทั้งข้อบังคับตามสิทธิสัญญา Maastricht กำหนดให้ประเทศที่ขอเงินช่วยเหลือทางด้านการคลังลดภาระการขาดดุลลง จึงอาจส่งผลให้เกิดความไม่สงบทางการเมืองในประเทศที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะเหมือนดั่งที่ได้เกิดขึ้นกับประเทศกรีซในช่วงต้นเดือน พ.ค. 53 ได้ |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |