เนื้อหาวันที่ : 2010-05-14 08:58:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 666 views

ตลาดค้าปลีกทรงตัว ผู้บริโภคยังมั่นใจแม้จะเกิดจลาจล

รายงานตลาดค้าปลีกในกรุงเทพฯล่าสุดของคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยระบุว่า ตลาดค้าปลีกในกรุงเทพฯยังคงเป็นเหมือนเรือที่แล่นไปอย่างมั่นคงท่ามกลางทะเลแปรปรวนในไตรมาสที่ 1 สะท้อนให้เห็นผลของการประกอบการที่ดี ตลอดปี 2552 ที่ผ่านมา 

.

ตลาดเช่ายังเสถียรอยู่ อัตราการเช่าในกรุงเทพขยับสูงขึ้น 3% ในไตรมาสที่ 1 อุปทานใหม่มีจำกัดในไตรมาสนี้ มีพื้นที่เพียงเกือบๆ 7,900 ตารางเมตรจาก "เค วิลเลจ" ศูนย์การค้าชุมชน ตั้งอยู่ที่ สุขุมวิท ซอย 26 เท่านั้น ศูนย์การค้ายังครองตลาดค้าปลีกและมีพื้นที่อีก 250,000 ตารางเมตร ที่จะทยอยออกสู่ตลาดในอีกสองสามปีข้างหน้า ไตรมาสที่สองจะมีการเปิดตัว พาราไดซ์ พาร์ค เสรีเซ็นเตอร์เดิม โดยเจ้าของใหม่ ปรับปรุงใหม่และเปลี่ยนชื่อใหม่ 

.

ศูนย์การค้าชุมชนเป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกประเภทเดียวที่ยังคงคึกคัก โดยจะมีพื้นที่เพิ่มประมาณ 50,000 ตารางเมตรก่อนสิ้นปี 2554 การพัฒนาศูนย์การค้าชุมชนเกิดขึ้นแทนการพัฒนาศูนย์การค้าปลีกขนาดใหญ่เนื่องจาก "ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นทำให้เราระมัดระวังการใช้รถและการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ต้องการศูนย์การค้าปลีกขนาดเล็ก เพื่อให้บริการผู้อาศัยในโครงการเหล่านี้" 

.

ดร.ปฏิมา จีระแพทย์ กรรมการผู้จัดการ คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา พื้นที่ศูนย์การค้าชุมชนเติบโตขึ้นถึง 70% "ศูนย์การค้าชุมชนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคนกรุงเทพฯไปแล้ว" ดร.ปฏิมากล่าว

.

กฎหมายค้าปลีกในอนาคต เป็นไปในทิศทางลดขนาดศูนย์การค้าในย่านกลางเมือง ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หรือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่น คาร์ฟูร์ หรือ เทสโก้ โลตัส ต้องปรับลดขนาดลงมาเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต หรือ เอ็กซ์เพรสสโตร์ "กฎหมายที่กำลังจะบังคับใช้นี้เพื่อปกป้องร้านค้าปลีกประเภท ‘โชห่วย’" นายแอนโทนี พิคอน ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและให้คำปรึกษา ของคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงร้านค้าปลีกขนาดเล็กเจ้าของเดียวที่ตั้งอยู่ตามห้องแถว          

.

"แต่ตอนนี้ ผู้ค้ารายใหญ่ต้องฟาดฟันกับร้านค้าประเภทเอ็กซ์เพรส และร้านสะดวกซื้อที่เพิ่งเปิดใหม่" นายแอนโทนีกล่าว "บริษัทใหญ่ๆ จะได้เปรียบด้านการขนส่งและระบบสินค้าและอำนาจในการต่อรองราคาที่เหนือกว่า" นายพิคอนกล่าวเตือน

.

ดร.ปฏิมามองอนาคตอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพว่าสดใส "การบริโภคส่วนตัวผ่านเครดิตการ์ดสูงเกือบ 13% เมื่อเทียบกับ 8 - 9% เมื่อปี 2005 และนี่แสดงให้เห็นแรงขับเคลื่อนด้านอุปสงค์ที่สำคัญ" ดร.ปฏิมากล่าว อัตราการเติบโตของบริการธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยเป็นอีกดัชนีหนึ่งที่ดร.ปฏิมาเน้น "ในปี 2553 จะมีธนาคารสาขาย่อยเพื่อให้บริการกับลูกค้ารายย่อยถึง 1,950 แห่ง เมื่อเทียบกับ 1,200 แห่งในปี 2546 

.

ในขณะเดียวกัน ร้านค้าปลีกใหม่ๆ จะผุดขึ้นในย่านชานเมืองตลอดช่วงหลายปีข้างหน้า แล้วตลาดค้าปลีกใจกลางเมืองจะเป็นอย่างไร เมื่อมีข้อจำกัดในการพัฒนาโครงการในอนาคต นายแอนโทนีมองว่านี่เป็นโอกาส "เราไม่ควรมองตลาดการค้าปลีกในแง่ของขนาดพื้นที่อย่างเดียว

.

ข้อจำกัดด้านขนาดจะทำให้เน้นการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ และก่อให้เกิดการพัฒนาแนวคิดด้านการค้าปลีกใหม่ๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจทั้งจากในและนอกประเทศ" "ภาคการค้าปลีก แตกต่างจากภาคอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ตรงที่มีทางเลือกในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้มากกว่า"
นายพิคอนกล่าว