สสว. จับมือหน่วยงานภาครัฐ เตรียมพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ OTOP ทั่วประเทศ หวังปั้นสู่การเป็นผู้ประกอบการ SMEs เสริมแกร่งเศรษฐกิจระดับฐานราก
สสว. จับมือหน่วยงานภาครัฐ เตรียมพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ OTOP ทั่วประเทศ อย่างครบทุกด้าน หวังปั้นสู่การเป็นผู้ประกอบการ SMEs และสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจระดับฐานราก |
. |
. |
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือโครงการยกระดับผู้ประกอบการ OTOP สู่ผู้ประกอบการ SMEs ว่า สืบเนื่องจากความสำเร็จของการดำเนินโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนในท้องถิ่นนั้นได้เป็นอย่างดี |
. |
โดยมีกระบวนการพัฒนาผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ในด้านต่างๆ ทั้งกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการ รวมถึงมีการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP โดยการจัดระดับผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ 1-5 ดาว |
. |
อย่างไรก็ตาม กระบวนการส่งเสริม OTOP ที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบกับการส่งเสริม SMEs เพื่อที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ OTOP สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน |
. |
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จึงได้มอบนโยบายให้ สสว.ดำเนินโครงการยกระดับผู้ประกอบการ OTOP สู่ผู้ประกอบการ SMEs โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่ล้วนแต่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการ OTOP ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในการดำเนินโครงการดังกล่าว |
. |
“การผลักดันให้ผู้ประกอบการ OTOP สามารถพัฒนาเป็น SMEs จำเป็นที่จะต้องจัดให้มีโครงการที่มารับช่วงต่อการพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ที่มีศักยภาพในการประกอบการในแต่ละชุมชน ให้ได้รับการพัฒนาส่งเสริมในแนวทางที่จะช่วยผลักดันให้ไปสู่ความเป็นผู้ประกอบการแบบมืออาชีพ มีการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีการบริหารจัดการที่ดี มีช่องทางการจำหน่ายของตนเอง โดยยังคงไว้ซึ่งความเชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่นและวัฒนธรรม” นายวิฑูรย์ กล่าว |
. |
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว คณะทำงานยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ที่มีศักยภาพก้าวไปสู่ SMEs จะทำการคัดสรรผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 5 ดาว ประเภทกลุ่มชุมชน ที่มีศักยภาพ และมีความสมัครใจเข้าสู่กระบวนการพัฒนา จำนวน 152 จากทั่วประเทศ หรือจังหวัดละ 2 ราย ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 75 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาไปสู่ผู้ประกอบการ SMEs |
. |
“การดำเนินโครงการฯ จะมุ่งเน้นการพัฒนาแบบเฉพาะราย (custom-made) คือมีการจัดโปรแกรมการพัฒนาให้สอดคล้องตามสภาพปัญหาที่แท้จริงของผู้ประกอบการ OTOP แต่ละราย ศึกษาจุดอ่อน จุดแข็ง สภาพปัญหา และศักยภาพในเชิงพาณิชย์ของผู้ประกอบการ OTOP ก่อนที่จะจัดโปรแกรมการพัฒนา ให้แก่ ผู้ประกอบการ OTOP แต่ละราย |
. |
โดยการดำเนินการพัฒนาจะต้องคำนึงถึงในด้านสังคมและวัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับการรักษาไว้ซึ่งความเป็นสินค้า OTOP ที่มีความเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมท้องถิ่น และเอื้อประโยชน์ให้กับชุมชน รวมถึงไม่สร้างผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของคนในชุมชน” นายยุทธศักดิ์ กล่าว |
. |
ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐที่ร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ล้วนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ มีความเชี่ยวชาญที่ชัดเจน พร้อมที่จะร่วมมือกันพัฒนา และยกระดับความสามารถให้กับผู้ประกอบการ OTOP โดยสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะให้การสนับสนุนด้านการเสริมสร้างความรู้ |
. |
พัฒนากระบวนการการผลิตและผลิตภัณฑ์ ยกระดับการบริหารจัดการ และส่งเสริมการตลาด กรมการพัฒนาชุมชน จะให้การสนับสนุนข้อมูล ให้แก่ ผู้ประกอบการ OTOP และประสานงานบูรณาการการทำงานในพื้นที่ รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่ ชุมชน ขณะที่ สสว.จะให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน การประสานงานเพื่อเชื่อมโยง และการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน |
. |
“สสว.เชื่อว่า โครงการนี้จะช่วยสร้างประโยชน์ ให้แก่ ผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 5 ดาว ให้ได้รับการพัฒนาขีดความสามารถอย่างครบถ้วน รวมไปถึงการบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่ ผู้ประกอบการในระดับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ” นายยุทธศักดิ์ กล่าวในที่สุด |
. |
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม |