เนื้อหาวันที่ : 2010-05-12 09:43:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2735 views

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานกำลังคืบคลานเศรษฐกิจไทย

วิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อออกจากวิกฤตคนว่างงานได้ลดลงอย่างรวดเร็วจนผู้ประกอบการพูดตรงกันว่าแรงงานมีไม่เพียงพอ สถานการณ์แรงงานขณะนี้จึงถือได้ว่าเข้าข่าย “วิกฤตการขาดแคลนแรงงาน” มากกว่า “วิกฤตการว่างงาน”

บทวิเคราะห์เรื่องปัญหาการขาดแคลนแรงงานกำลังคืบคลานเศรษฐกิจไทย

.

.
บทสรุปผู้บริหาร

- วิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อออกจากวิกฤตคนว่างงานได้ลดลงอย่างรวดเร็วจนผู้ประกอบการพูดตรงกันว่าแรงงานมีไม่เพียงพอ ดังนั้น สถานการณ์แรงงานขณะนี้จึงถือได้ว่าเข้าข่าย “วิกฤตการขาดแคลนแรงงาน” มากกว่า “วิกฤตการว่างงาน”

.

- การเคลื่อนย้ายแรงงานของไทยมีความยิดหยุ่นสูงหรือมีความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายระหว่างเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ดังนั้น การไหลเข้า-ไหลออกจากสาขาการหนึ่งไปอีกสาขาหนึ่ง จึงไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ทำให้แรงงานตึงตัวหรือขาดแคลน

.

- แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้แรงงานตึงตัวและขาดแคลน เกิดจาก 1)การผลิตประชากรที่ลดลงของเศรษฐกิจไทย 2)อุปทานแรงงานเติบโตไม่ทันกับความต้องการแรงงาน และ 3)อัตราการศึกษาต่ออยู่ในระดับสูง

.

- จำนวนการจ้างงานในสาขาเศรษฐกิจทั้ง 6 สาขา มีค่าสหสัมพันธ์สูงมากกับ Real GDP ทั้ง 6 สาขาเศรษฐิกจ โดยภาคบริการโรงแรมภัตตาคาร ค่าส่งค้าปลีก และคมนาคมขนส่งให้ค่าสหสัมพันธ์ 0.9193 0.9131 และ 0.8551 ตามลำดับ ภาคอุตสาหกรรมให้ค่าสหสัมพันธ์ 0.8933

.

ในขณะที่ภาคบริการก่อสร้างและภาคเกษตรมีค่าสหสัมพันธ์ 0.7888 และ 0.7258 ตามลำดับ สะท้อนว่าการจ้างงานในแต่ละสาขาเศรษฐกิจอาจจะเพิ่มได้อย่างจำกัดในอนาคต ย่อมส่งผลต่อระดับ Real GDP ในสาขานั้นๆ ให้เพิ่มขึ้นระดับที่จำกัดในอนาคตด้วย

.
1. วิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อออกจากวิกฤตคนว่างงานก็ลดลงอย่างรวดเร็ว

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่า เมื่อต้นปี 2552 เศรษฐกิจไทยตกอยู่ภายใต้วงจรอุบาทว์ของเศรษฐกิจ กล่าวคือปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ภาคการส่งออกสินค้าและบริการหดตัวลงอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การลดกำลังการผลิตสินค้าและการชะลอการลงทุนใหม่ๆ ทำให้ภาคเอกชนปรับลดชั่วโมงการทำงานเพื่อบรรเทาภาวะการขาดทุนของกิจการ

.

บางกิจการจำเป็นต้องลดการจ้างงานลงเพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปี 2552 เศรษฐกิจไทยหดตัวลงร้อยละ -7.1ต่อปีและจำนวนคนว่างงานสูงถึง 8.8 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ของกำลังแรงงาน รวมบ่งชี้ความรุนแรงของวิกฤตครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี

.

ภาพที่ 1 จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกสู่วิกฤตว่างงานไทย

.

อย่างไรก็ดี จากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 1 หรือ SP1 และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเรื่มส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้นในไตรมาส 2 และ 3 ปี 2552 และส่งผลให้ความต้องการแรงงานเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น จนล่าสุดอัตราการว่างงานของไทยได้ลดลงเป็นลำดับ

.

โดยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2552 อนู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมหรือคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเพียง 401,200 คน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ 560 พันคน (เฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลัง) เมื่อมาผนวกกับการออกมาระบุว่าแรงงานมีไม่เพียงพอของผู้ประกอบการเอกชน วันนี้หลายฝ่ายจึงตั้งโจทย์ว่า “เรากำลังเข้าสู่ยุคของการขาดแคลนแรงงานหรือไม่?”

.
2. แรงงานนอกภาคอุตสาหกรรมมีการไหลเข้า-ไหลออกระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคบริการชัดเจน

ทั้งนี้ ก่อนจะไปหาคำตอบว่า เราเข้าสู่ภาวะขาดแคลนแรงงานหรือไม่ ขาดในสาขาการผลิตใด และระบบเศรษฐกิจจะสามารถผลิตแรงงานทันหรือไม่ ซึ่งต้องมาวิเคราะห์โครงสร้างการจ้างงานของระบบเศรษฐกิจและการไหลเข้า-ไหลออกของแรงงานไทยก่อน

.

ภาพที่ 2 โครงสร้างการกระจายตัวของผู้มีงานทำ

.

จากภาพที่ 2 วิเคราะห์ได้ว่า ผู้มีงานทำในสาขาบริการมีจำนวนและสัดส่วนมากขึ้น โดยผู้มีงานทำที่อยู่ในภาคบริการมีจำนวน 17.6 ล้านคนในปี 2552 เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและสัดส่วนอย่างต่อเนื่องจากปี 2541 ถัดมาคือภาคเกษตรกรรม มีผู้ทำงาน 14.7 ล้านคนในปี 2552 แม้จำนวนจะเพิ่มขึ้นจากปี 2541 แต่สัดส่วนลดลง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีผู้มีงานทำ 5.4 ล้านคนในปี 2552 แม้จะเพิ่มขึ้น แต่ดูเหมือนสัดส่วนจะลดลง

.

ภาพที่ 3 การไหลเข้า - ไหลออกของแรงงานไทย

.

จากภาพที่ 3 วิเคราะห์ได้ว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานมีความยืดหยุ่นสูงหรือมีความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายระหว่างเกษตรอุตสาหกรรม และบริการ ในช่วงที่ 1 คือ ฤดูว่างเว้นจากการเก็บเกี่ยวของภาคเกษตรซึ่งตรงกับฤดูการผลิตสินค้า (ม.ค.-เม.ย.) แรงงานจะเคลื่อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ ช่วงที่ 2 เมื่อเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก (พ.ค. – ก.ค.) แรงงานจะเคลื่อนย้ายกลับเข้าสู่ภาคเกษตรกรรม

.

ช่วงที่ 3 ฤดูรอเก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งตรงกับฤดูผลิตสินค้า (ส.ค. – ต.ค.) แรงงานจะเคลื่อนย้ายกลับเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการอีกครั้งหนึ่งและ ในช่วงที่ 4 ฤดูเก็บเกี่ยว (พ.ย. – ธ.ค.) แรงงานจะเคลื่อนย้ายกลับเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมแต่จะไหลกลับไม่ทั้งหมด เพราะตรงกับฤดูท่องเที่ยวของภาคบริการพอดี ดังนั้นการไหลเข้า – ไหลออก จากสาขาการหนึ่งไปอีกสาขาหนึ่ง จึงไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ทำให้แรงงานตึงตัวหรือขาดแคลน

.

3. สาเหตุสำคัญที่ทำให้แรงงานตึงตัวและขาดแคลน เกิดจากการผลิตประชากรที่ลดลงของเศรษฐกิจไทย อุปทานแรงงานเติบโตไม่ทันกับความต้องการแรงงานและอัตราการศึกษาต่ออยู่ในระดับสูง

.

3.1 การผลิตประชากรที่ลดลงของเศรษฐกิจไทย

ภาพที่ 4 ดัชนีโครงสร้างประชากร

.

จากภาพที่ 4 จะเห็นได้ชัดเจนว่า ดัชนีจำนวนประชากรไทยอยู่ในระดับที่น้อยกว่าดัชนีผู้มีงานทำและดัชนีกำลังแรงงาน ที่สำคัญคือดัชนีประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ลดลงเรื่อยๆ สะท้อนว่าการเข้าสู่วัยแรงงานหรือกำลังแรงงานในอนาคตจะลดลงหรือเพิ่มในอัตราที่ลดลง

.

ภาพที่ 5 อัตราการขยายตัวของประชากร

.

จากภาพที่ 5 จะเห้นได้ชัดเจนว่า จำนวนประชากรไทยขยายตัวน้อยกว่าร้อยละ 1 ต่อปี ในขณะที่กำลังแรงงานและผู้มีงานทำขยายตัวเกือบร้อยละ 2 ต่อปี และหากพิจารณาการขยายตัวของประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีลดลงกว่าร้อยละ -20 ต่อปี หรือคิดเป็นจำนวน 14 ล้านคน ลดลงจากปี 2541 ที่อยู่ที่ 16 ล้านคน

.

ในขณะที่ประชากรอายุเกิน 15 ปีขึ้นไปมากขึ้นเป็น 52.8 ล้านคน ตามภาพที่ 6 ในจำนวนนี้ พบว่าประชากรวัยชราเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป มีมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคมวัยชรา (Age Society)

.

ภาพที่ 6 จำนวนประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ลดลงต่อเนื่อง

.

จากทั้ง 3 รูปนี้ สะท้อนว่า หากตัวเลขยังเป็นแนวดน้มเช่นนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต ซึ่งโอกาสที่เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างเต็มศักยภาพการผลิตย่อมลดน้อยลง เว้นแต่ 1) เราจะไม่ได้ในระยะสั้น และ 2) ต้องนำเข้าเครื่องจักรในปริมาณที่มากพอหรือมีคุณภาพดีพอ ซึ่งจะทำให้เราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังได้

.
3.2 อุปทานแรงงานเติบโตไม่ทันกับความต้องการแรงงาน

ภาพที่ 7 ดัชนีผู้มีงานทำแยกตามสาขาเซรษฐกิจและกำลังแรงงาน

.

จากภาพที่ 7 จะเห็นได้ชัดเจนว่า ดัชนีจำนวนที่ทำงานในภาคบริการและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งหลังจากเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2541 โดยเฉพาะภาคบริการ และเร่งมากกว่าดัชนีจำนวนกำลังแรงงาน แต่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 ดัชนีผู้มีงานทำภาคอุตสาหกรรมลดลง เพราะไหลออกไปเข้าภาคบริการ ส่วนหนึ่งกลับไปภาคเกษตร

.

ภาพที่ 8 ดัชนีผู้มีงานทำภาคบริการแยกตามสาขา

.

จากภาพที่ 8 เมื่อพิจารณาภาคบริการพบว่า กลุ่มบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ บริการด้านสุขภาพ อสังหาริมทรัพย์ บริการชุมชน และโรงแรมภัตตาคาร กลุ่มที่เพิ่มขึ้นพอสมควรได้แก่บริการค่าส่งค้าปลีก และก่อสร้าง กลุ่มที่เพิ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป ได้แก่ บริการราชการแผ่นดินการเงินการธนาคาร การศึกษา การขนส่ง และคนรับใช้ ในขณะที่บริการไฟฟ้า แก๊ส ประปา ลดลงอย่างมาก

.

จากแนวโน้มทั้ง 2 รูปนี้ หากตั้งเป็นสมมติฐานไว้ว่า 1) ผู้มีงานทำมีแนวโน้มจะไหลเข้าสู่ภาคบริการมากขึ้นในอนาคต 2) หากภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลกย่อมต้องการแรงงานมากขึ้น เหมือนกับที่หลายอุตสาหกรรมออกมาเรียกร้องหาแรงงานเพิ่ม

.

3) หากภาคเกษตรกรรมไทยในช่วง 2-3 ปีนี้ เป็นปีทองจริงอย่างที่หลายหน่วยงานพยากรณ์ไว้ย่อมมีแรงงานที่สมัครใจอยู่ในภาคเกษตรกรรมต่อไปอีกจำนวนไม่น้อยและ 4) ประชากรที่ผลิตเพิ่มได้ในแต่ละปีมีไม่ถึงร้อยละ 1 ต่อปี หรือประมาณ 6.69 แสนคนต่อปี เท่านั้นคำตอบที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับ คือ ปัญหาแรงงานขาดแคลนกำลังคืบคลานสู่เศรษฐกิจไทย

.

3.3 อัตราการศึกษาของคนไทยอยู่ในระดับสูง

จากการศึกษาของสภาพัฒน์ฯ เรื่อง ศึกษาตลาดแรงงานเพื่อรองรับผู้สูงอายุ พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเรียนต่อระดับมัธยมฯ ตอนต้นและตอนปลาย ร้อยละ 94.4 และ 85.6 ตามลำดับ บวกกับประเทศไทยมีการจัดหลักสูตรสายสามัญมากกว่าสายอาชีพกว่าเท่าตัว

.

โดยมีสายสามัญสัดส่วนร้อยละ 69 ที่เหลือเป็นสายอาชีพเท่ากับร้อยละ 31 จึงทำให้อัตราการเรียนต่อสายอาชีพมีระดับต่ำกว่าสายสามัญมาก อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานอย่างมาก โดยเฉพาะแรงงานสายความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นข้อจำกัดของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต

.

นอกจากนี้ อัตราการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาของไทยเท่ากับร้อยละ 41 ในปี 2547 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่มีเพียงร้อยละ 24 และภูมิภาคลาตินอเมริกาและคาริบเบียน ที่ร้อยละ 28 เอเชียตะวันออกและแปซิฟิค ร้อยละ 23 แต่ต่ำกว่า ภูมิภาคยุโรปกลาง-ตะวันออก ที่ร้อยละ 54 ยุโรปตะวันตกและอเมริกาที่ร้อยละ 70 ตามลำดับ และเป็นที่ทราบกันว่าสัดส่วนของนักศึกษาที่จบในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีต่ำกว่าร้อยละ 30

.

ขณะที่กระทรวงแรงงานได้ให้ข้อมูลว่าแรงงานที่มีความต้องการมากคือแรงงานระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและอาชีวศึกษา แต่ค่านิยมของเด็กไทยจะมุ่งเรียนต่อปริญญาตรีมากกว่าที่จะหางานทำ ส่งผลให้ตลาดงานระดับอาชีวศึกษาที่เป็นตลาดใหญ่ขาดแคลนแรงงานค่อนข้างมาก บวกกับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างในช่วงปี 2551-2552 ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่มีค่าจ้างสูงและมีอายุงานมาก เมื่อถูกเรียกกลับมาในค่าจ้างที่ต่ำกว่า ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ปฏิเสธที่จะกลับมาทำงานอีก

.

4. ในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว (ปี 2553-2555) ยิ่งต้องการแรงงานมากขึ้น น่ากังวลว่าระบบเศรษฐกิจและผลิตแรงงานได้ทันหรือไม่
สิ่งที่ สศค. กังวล คือในปี 2553 เมื่อเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป้นบวกร้อยละ 3.5 ต่อปี (อยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 ต่อปี) โดยมีแรงส่งทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนในช่วงท้ายปี 2552

.

ดูได้จากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาศ 4 ที่เร่งขึ้นมาบวกอย่างรวดเร็วที่ร้อยละ 5.8 ต่อปี และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่กลับขึ้นมาอย่างรวดเร็วยืนเหนือระดับ 0 ด้วยแรงส่งจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และแรงส่งเชิงนโยบายของทางการต่อเนื่องไปยังปี 2553 จากการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง

.

ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การใช้จ่ายภาคเอกชนกลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี 2553 จึงจำเป็นต้องมีการจ้างงานจำนวนมาก ทั้งในภาคการเกษตรกรรม ภาคการผลิต และภาคบริการ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

.

ดังนั้น เศรษฐกิจไทยที่มีการว่างงานเพียง 4 แสนคน ในปี 2552 จะมีแรงงานเพียงพอหรือไม่ ซึ่งยังไม่นับรวมถึงการย้ายแรงงานข้ามภาคเศรษฐกิจและย้ายข้ามอุตสาหกรรมที่มีลักษณะการผลิตที่ใกล้เคียงกัน สถานการณ์แรงงานขณะนี้จึงเข้าข่าย “วิกฤตการขาดแคลนแรงงาน” มากกว่า “วิกฤตการว่างงาน”

.

ภาพที่ 9 กลไกการส่งผ่านวิกฤตการขาดแคลนแรงงานสู่เศรษฐกิจไทย

.

จากกลไลในภาพที่ 9 วิเคราะห์ได้ว่า ในปี 2552 มีการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ก่อสร้าง โรงแรมและภัตตาคาร คมนาคมขนส่ง และค้าส่งค้าปลีก รวม 32.2 ล้านคน จากการจ้างงาทั้งหมด 37.7 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 85.3

.

หากในปี 2553 -2555 เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ร้อยละ 4-5 ต่อปี จะส่งผลให้เศรษฐกิจ 6 สาขาหลักดังกล่าวมีความต้องการแรงงานมากขึ้น รวมถึงผลการสำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าวในช่วง 12 ปีข้างหน้านั้นกระจายไปอยู่ในสาขาใดบ้าง ยิ่งทำให้ข้อกังวลที่ว่า ระบบเศรษฐกิจจะสามารถผลิตแรงงานได้ทันหรือไม่ มีน้ำหนักมากขึ้น

.
ตารางที่ 1 ประมาณการความต้องการแรงงานจากต่างประเทศ พ.ศ. 2552-2566

ที่มา : ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.
5. หากการเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงานเป็นข้อจำกัดตอ่การจ้างงาน ย่อมเป็นข้อจำกัดต่อ Real GDP รายสาขาด้วย

จากที่กล่าวมาข้างต้น เราพบว่า การลดลงของประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำให้แรงงานเพิ่มขึ้นในระดับต่ำและนับวันจะยิ่งมีประชากรในวัยชรามากขึ้น การจ้างงานในแต่ละสาขาเศรษฐกิจจึงเพิ่มได้อย่างจำกัด และย่อมส่งผลให้เกิดการเสียโอกาสจากการเพิ่มขึ้นของระดับ Real GDP ในสาขานั้น สามารถดูได้จากภาพแสดงค่าสหสัมพันธ์ในภาพที่ 9-14

.

ภาพที่ 10-15 ความสัมพันธ์ของการจ้างงานกับ Real GDP รายสาขา

.

จากภาพที่ 0-15 จะเห้นว่า จำนวนการจ้างงานในสาขาเศรษฐกิจทั้ง 6 สาขา มีค่าสหสัมพันธ์สูงมากกับ Real GDP mง 6 สาขาเศรษฐกิจ โดยภาคบริการโรงแรมภัตตาคาร ค้าส่งค้าปลีก และคมนาคมขนส่ง ให้ค่าสหสัมพันธ์ 0.9193 0.9131 และ 0.8551 ตามลำดับ ภาคอุตสาหกรรมให้ค่าสหสัมพันธ์ 0.8933

.

ในขณะที่ภาคบริการก่อสร้างและภาคเกษตร มีค่าสหสัมพันธ์ 0.7888 และ 0.7258 ตามลำดับ สะท้อนว่าการจ้างงานในแต่ละสาขาเศรษฐกิจที่อาจจะเพิ่มได้อย่างจำกัดในอนาคต ย่อมส่งผลต่อระดับ Real GDP ในสาขานั้นๆ ให้เพิ่มขึ้นระดับที่จำกัดในอนาคตด้วย

.
6. แนวกลยุทธ์ในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของไทย

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะเป็นปัญหาใหญ่กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต แม้แต่เศรษฐกิจจีน อินเดีย และเวียดนามที่มีประชากรมหาศาล และได้ชื่อว่าเป็นโรงงานของโลก ก็มีปัญหาทำนองเดียวกัน และคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะสั้น แต่ก็ไม่ควรนิ่งเฉยต่อปัญหาดังกล่าว และควรเริ่มวางแผนกันตั้งแต่ววันนี้

.

ตารางที่ 2 แนวกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง