เนื้อหาวันที่ : 2010-05-11 09:46:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1777 views

ต่อ : ไม่ต่อ 5 มาตรการ 6เดือน กับผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ

5 มาตรการ 6 เดือน ที่รัฐบาลนำมาใช้แก้ปัญหาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ได้ช่วยชะลอและลดอัตราเงินเฟ้อลงในระดับหนึ่ง แต่เมื่อมาตรการฯ กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือน ส.ค. นี้ความกังวลเรื่องปัญหาเงินเฟ้อก็กลับมาอีกครั้ง

ต่อ : ไม่ต่อ 5 มาตรการ 6เดือน กับผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ1

.

.
บทสรุปผู้บริหาร

- มาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน หรือ “ 5 มาตรการ 6 เดือน” เป็นมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและประสบวิกฤตจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงปี 52 ประกอบไปด้วย 1) มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา 2) มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำไฟฟ้า 3) มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถโดยสาร 4) มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟ

.

5) ชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในภาคครัวเรือน ซึ่งเมื่อค่าครองชีพลดลงจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงได้ เนื่องจากค่าครองชีพดังกล่าวล้วยเป็นส่วนประกอบหลักในตะกร้าเงินเฟ้อ เมื่อนมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจึงปรับตัวลดลง นอกจากนั้นยังทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ปรับตัวลดลงช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อได้อีกทาง

.

- เนื่องจากในการต่ออายุมาตรการครั้งล่าสุดได้มีการยกเลิกมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำประปา ซึ่งจะส่งผลโดยตรงให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น เมื่อวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองอัตราเงินเฟ้อพบว่า จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย. 53 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากกรณีฐาน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 53 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 จากกรณีฐาน (กรณีฐาน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน เม.ย 53 และทั้งปี 53 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 และ 3.4 ตามลำดับ โดยมีสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปี 53เฉลี่ยที่ 80 ดอลล่าห์สหรัฐ/บาร์เรล)

.

- หลังจากนั้นในวันที่ 30 มิ.ย. 53 มาตรการลดค่าครองชีพในส่วนที่เหลือจะครบกำหนดการขยายระยะเวลา สศค. ได้วิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแบ่งได้ 4 กรณีดังนี้

.

1. ต่ออายุมาตรการทั้งหมด ประชาชนได้รับความช่วยเหลือด้านค่าครองชีพดังเดิมเหมือนกรณีนี้ไม่ทำให้อัตาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานแต่อย่างไร (กรณีฐาน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 3.5)

.

2. ต่ออายุมาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางและรถไฟ แต่ไม่ต่ออายุมาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าจากการวิเคราะห์พบว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานร้อยละ 0.9 ต่อปี

.

3. ต่ออายุมาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า แต่ไม่ต่ออายุมาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางและรถไฟ อาจเกิดกรณีนี้หากราคาน้ำมันดิบโลกมีการปรับตัวลดลงจนไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงอีกต่อ จากการวิเคราะห์พบว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานร้อยละ 0.4 ต่อปี

.

4. ไม่ต่ออายุมาตรการทั้ง 2 กลุ่ม อาจเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติดังเช่นช่วงก่อนเกิดวิกฤต และราคาน้ำมันดิบโลกไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงอีกต่อไป จากการวิเคราะห์พบว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานร้อยละ 1.3 ต่อปี

.

- มาตรการนี้เป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพในช่วงที่เกิดปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูง ซึ่งขณะนี้สภาพเศรษฐกิจมรการฟื้นตัวได้ดี และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ จึงเป้นโอกาสดีที่จะสามารถยกเลิกมาตรการดังกล่าวได้อย่างไรก็ดีหากราคาน้ำมันดิบกลับมาเป็นปัญหาอีกครั้ง ก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาของมาตรการต่อไป

.

1. ความเป็นมา

- ในช่วงปี 2551 ประเทศไทยได้เผชิญกับภาวะอัตราเงินเฟ้อสูง เนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยในวันที่ 7 ก.ค. 51 ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่ 140.8 ดอลล่าร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ และการบริโภคของประชาชนโดยตรง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว

.

ในวันที่ 15 ก.ค. 51 รัฐบาลได้ออกนโยบายที่มีชื่อว่า 6 มาตร 6 เดือน ซึ่งเป็นมาตรการที่มุ่งลดภาระค่าครองชีพของประชากรประกอบไปด้วยมาตรการต่างคือ 1) ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 2) ชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม 3) ลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา 4) ลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า 5) ลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง 6) ลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟ โดยมีระยะเวลาดำเนินการถึงวันที่ 31 ม.ค. 52

.

- ในเดือน ม.ค. 52 ก่อนหมดอายุโครงการ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการต่ออายุนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนออกไปอีก 6 เดือน โดยขยายระยะเวลาออกไปถึงวันที่ 31 ก.ค. 52 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนลดลงอย่างมาก แต่ได้มีการยกเลิกมาตรการลดภาษีสรรพสามิต เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงอย่างมาก จนไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วไป จึงเหลือมาตรการทั้งหมด 5 มาตรการ และเรยกนโยบายนี้ใหม่ว่า 5 มาตรการ 6 เดือน

.

รูปที่ 1 : อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพ และการต่ออายุมาตรการ

ที่มา : สศค.
.

- นโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือน มีการต่ออายุรวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัวการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนยังไม่แข็งแกร่งมากนัก จึงจำเป็นต้องต่ออายุมาตรการออกไปอีกระยะหนึ่ง โดยมีวันสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธ.ค. 52 31 มี.ค. 53 และ 30 มิ.ย. 53 ตามลำดับ ทั้งนี้มาตรการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันประกอบไปด้วย

.

1. มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา ภาครัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายจากการใช้น้ำประปา สำหรับผู้ใช้น้ำประเภทที่อยู่อาศัย ที่มีปริมาณการใช้น้ำในช่วง 0-30 ลบ.ม/เดือน ซึ่งเป็นระดับการใช้เพื่อตอบสนองความจำเป็นพื้นฐาน โดยมาตรการนี้ใช้งบประมาณเฉลี่ย , ล้านบาท/เดือน

.

2. มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า ภาครัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายจากการใช้ไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัย ที่มีปริมาณการใช้น้ำในช่วง 0-90 หน่วย/เดือน ซึ่งเป็นระดับการใช้เพื่อตอบสนองความจำเป็นพื้นฐาน โดยมาตรการนี้ใช้งบประมาณเฉลี่ย 1,260 ล้านบาท/เดือน

.

3. มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ภาครัฐจัดรถโดยสารประจำทาง (รถโดยสารธรรมดา) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมาตรการนี้ใช้งบประมาณเฉลี่ย 222 ล้านบาท/เดือน

.

4. มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟ ภาครัฐจัดรถไฟชี้น 3 จำนวน 172 ขบวน/วัน ให้บริการแก่ประชาชนเชิงสังคม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมาตรการนี้ใช้งบประมาณเฉลี่ย 90.4 ล้าน

.

5. ชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในภาคครัวเรือน

.
รวมมาตรการทั้งหมดมีการใช้งบประมาณเฉลี่ย 2,623.4 ล้านบาท/เดือน หรือ 31,480 ล้านบาท/ปี

ปัจจุบันมาตรการนี้มีกำหนดสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 มี.ค. 53 ซึ่งในการต่ออายุครั้งล่าสุดให้คงมาตรการส่วนใหญ่เช่นเดิม แต่เห็นสมควรยกเลิกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายน้ำประปา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวในระดับหนึ่งแล้ว

.

การยกเลิกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายน้ำประปาและการพิจารณาการต่ออายุของมาตรล้วนมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในเดือนถัดมาให้ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นเพื่อให้ทราบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นดังกล่าวเราจะอาศัยแบบจำลองอัตราเงินเฟ้อในการคำนวณและวิเคราะห์หาผลกระทบต่อไป

.

2. ผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อหลังการยกเลิกมาตรการค่าครองชีพ

กรณีฐานในการคำนวณ

เราได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อด้วยแบบจำลองอัตราเงินเฟ้อ พบว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 53 จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.5 ต่อปี ดังมีรายละเอียดแสดงในรูปที่ 2 โดยใช้สมมุติฐานในแบบจำลองดังนี้
- ราคาน้ำมันดิบดูไบปี 53 อยู่ที่ระดับ 80 ดอลล่าร์สหรัฐ/บาร์เรล
- ค่าเงินบาทปี 53 อยู่ที่ 32.5 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ

.
รูปที่ 2 : อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 53 กรณีฐาน (คาดการณ์ เม.ย. – ธ.ค. 53)

ที่มา : สศค.
.
2.1 ผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อหลังยกเลิกมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาในเดือน เม.ย. 53

เมื่อมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือนจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 53 จะทำให้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้กลับเข้ามาเท่ากับช่วงก่อนการดำเนินมาตรการ ซึ่งตะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปให้ปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีราคาในหมวดค่าน้ำประปาจะกลับขึ้นไปสู่บริเวณเดิมที่ระดับ 100.5 ดังแสดงในรูปที่ 3

.

มีผลให้ดัชนีราคาในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่าง ซึ่งมีน้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อร้อยละ 5.1 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 จากเดือนก่อนหน้า เมื่อวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองอัตราเงินเฟ้อทำให้พบว่า การบกเลิกมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย. 53 ประบตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 จากกรณีฐาน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 53 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 จากกรณีฐาน

.
รูปที่ 3 ดัชนีราคาในหมวดค่าน้ำประปาในช่วงและหลังยกเลิกมาตรการฯ

ที่มา : CEIC และ สศค.
.

2.2 ผลกระทบหากมีการยกเลิกมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่เหลืออีก 4 มาตรการ

มาตรการลดค่าครองชีพในส่วนที่เหลือจะครบกำหนดการขยายระยะเวลาในวันที่ 30 มิ.ย. 53 รัฐบาลจะมีการพิจารณาว่าสมควรต่ออายุโครงการนี้ต่อไปอีกหรือไม่ หรือควรเลือกต่ออายุเพียงบางมาตรการที่คิดว่าเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้น

.

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลโดยตรงต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้นทันที และอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ครบคลุมทุกด้านในการคำนวณผลกระทบหลังยกเลิกมาตรการเราได้กำหนดให้ดัชนีราคาในแต่ละหมวดปรับตัวเพิ่มขึ้นดังนี้

.

- หลังยกเลิกมาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรื่อน จะทำให้ดัชนีราคาในหมวดค่าไฟฟ้า เชื้อเพลิงน้ำประปาและแสงสว่าง ปรับตัวกลับขึ้นไปสู่บริเวณเดิมที่ระดับ 99.0 แสดงดังรูปที่ 4

.

- หลังยกเลิกมาตรการลดค่าใช้จ่ายค่าโดยสาร จะทำให้ดัชนีราคาในหมวดค่าโดยสารสาธารณะ ปรับตัวกลับขึ้นไปสู่บริเวณเดิมที่ระดับ 100.0 แสดงดังรูปที่ 4

.
รูปที่ 4 ดัชนีราคาในหมวดค่าไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างในช่วงก่อนและหลังยกเลิกมาตรการฯ

ที่มา : CEIC และ สศค.
.
ในการพิจารณาผลกระทบเราจะแยกกรณีศึกษาที่รัฐบาลสามารถเลือกได้ออกเป็น 4 กรณีดังนี้

1. ต่ออายุมาตรการทั้งหมด กรณีนี้จะทำให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือด้านค่าครองชีพดังเดิมเหมือนในช่วงปีที่ผ่านมา จากการวิเคราะห์จะพบว่ากรณีนี้ไม่ทำให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นจากกรณีฐานแต่อย่างไร

.

2. ต่ออายุมาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยสารประจำทางและรถไฟ แต่ไม่ต่ออายุมาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า กรณีนี้รัฐบาลยังรับภาระช่วยเหลือค่าโดยสารต่อไป แต่จะยกเลิกการช่วยเหลือในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งมีโอกาสเกิดกรณีนี้ได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากรัฐมีภาระการช่วยเหลือในค่าน้ำค่าไฟสูงถึง 2,311 ล้านบาท/เดือน

.

ซึ่งหากเศรษฐกิจกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติในช่วงไตรมาสที่ 2/53 รัฐก็จะไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือในส่วนนี้ ขณะที่มาตรการด้านค่าโดยสารอาจจะยังมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการต่อไป เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันดิบโลกที่อาจผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อได้ นอกจากนั้นยังใช้งบประมาณในส่วนนี้ไม่สูงเพียง 312 ล้านบาท/เดือน จากการวิเคราะห์พบว่า หากรัฐบาลเลือกดำเนินการตามกรณีนี้จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวเพิ่ขึ้นจากกรณีฐานร้อยละ 0.9 ต่อปี

.

3. ต่ออายุมาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า แต่ไม่ต่ออายุมาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางและรถไฟ กรณีนี้อาจถูกนำมาพิจารณาหากราคาน้ำมันดิบโลกมีการปรับตัวลดลงมากจนไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงอีกต่อไป จากการวิเคราะห์พบว่า หากรัฐบาลเลือกดำเนินการตามกรณีนี้จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานร้อยละ 0.4 ต่อปี

.

4. ไม่ต่ออายุมาตรการทั้ง 2 กลุ่ม กรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้หากภาวะเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติดังเช่นช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันดิบโลกไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงอีกต่อไป จากการวิเคราะห์พบว่า หากรัฐบาลเลือกดำเนินการตามกรณีนี้จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานร้อยละ 1.3 ต่อปี

.

มาตรการนี้เป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพในช่วงที่เกิดปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงในปี 51 ซึ่งหากเปรียบเทียบกับในช่วงขณะนี้แล้วจะพบว่าสภาพเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้ดีขึ้นมาก การบริโภคของประชาชนเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นโอกาสดีที่จะสามารถพิจารณายกเลิกมาตรการดังกล่าวได้

.

ซึ่งหากเลือกช่วงเวลาในการยกเลิกมาตรการอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงเท่าที่ประเมินไว้ อย่างไรก้ดีหากราคาน้ำมันดิบโลกมีการปรับตัวขึ้นสูงจนกลับมาเป็นปัญหาอีกครั้ง ก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาของมาตรการนี้ออกไปอีกระยะหนึ่ง

.
รูปที่ 5 อัตราการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อจากกรณีฐาน แยกเป็นกรณีที่เกิดขึ้น 4 กรณี

ที่มา : สศค.
.
หมายเหตุ : ในการวิเคราะห์นี้ได้ประเมินผลกระทบของดัชนีราคาที่เปลี่ยนแปลงจากการเปลี่ยนนโยบายเท่านั้น ยังไม่ได้รวมผลกระทบทางอ้อมจากดัชนีราคาในหมวดอื่น ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการยกเลิกมาตรการ เช่น ผ่านทางต้นทุนการผลิตและบริการ ซึ่งอาจทำให้ผลกระทบจากการยกเลิกมาตรการฯ มีมากกว่าที่ได้วิเคราะห์ไว้
.

1ผู้เขียน : นายยุทธภูมิ  จารุเศร์นี เศรษฐกรปฏิบัติการ ส่วนแบบจำลองและประมาณการเศรษฐกิจการคลัง สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและผู้เขียนขอขอบคุณ นายพงศ์นคร  โภชนากรณ์ ผู้อำนวยการส่วนแบบจำลองและประมาณการเศรษฐกิจการคลัง สำหรับคำแนะนำในบทความนี้
.

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง