เมื่อแนวโน้มความต้องการ LPG มีสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการรณรงค์ให้ใช้ LPG อย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องปริมาณที่ไม่เพียงพอ และราคาที่เริ่มพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้รัฐจะมีมาตรการอุดหนุน แต่ผู้รับภาระที่แท้จริงยังคงเป็นประชาชน
คุณมนูญ ศิริวรรณ |
. |
. |
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2553 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กพง.) กระทรวงพลังงาน ที่มีท่านรมว. พลังงานเป็นประธานคณะกรรมการได้พิจารณาการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในประเทศ และได้มีมติเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหา LPG ขาดแคลน 4 ประการคือ |
. |
1. การเพิ่มความสามารถในการนำเข้าด้วยการบริหารจัดการคลังก๊าซ LPG ของปตท. ที่เขาบ่อยา จังหวัดชลบุรี ให้สามารถรับ LPG นำเข้าได้ 110,000 ตัน/เดือน (จากปัจจุบันที่ 88,000 ตัน/เดือน) และอนุมัติให้ปตท. เช่าคลังลอยน้ำ (Floating Storage) ชั่วคราว ทำให้รับการนำเข้าได้เพิ่มขึ้น 44,000 ตันต่อเดือน รวมขีดความสามารถทั้งสิ้นเป็น 154,000 ตันต่อเดือน ซึ่งจะเพียงพอกับปริมาณนำเข้า LPG ในปีนี้ที่ประมาณว่าจะอยู่ระหว่าง 110,000-154,000 ตันต่อเดือน |
. |
2. เลื่อนการปิดซ่อมบำรุงประจำปีของโรงแยกก๊าซธรรมชาติบางแห่งออกไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิต LPG ในประเทศ |
. |
3. บริหารจัดการการใช้ LPG ในประเทศผ่านมาตรการจูงใจรถแท็กซี่ให้เปลี่ยนการใช้ LPG มาเป็น NGV จำนวน 20,000 คัน ซึ่งสามารถลดปริมาณความต้องการใช้ก๊าซ LPG ในปีนี้ลงได้ 140,000 ตัน และให้เร่งป้องกันการลักลอบส่งออก LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามพรมแดน (ราคา LPG บ้านเราถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีการใช้เงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุน และ ตั้งราคาต่ำกว่าราคาในตลาดโลก ทำให้มีการลักลอบส่งออกตามแนวชายแดน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านต้องนำเข้า LPG ตามราคาในตลาดโลกโดยไม่มีการอุดหนุน) |
. |
4. เพิ่มปริมาณการจัดหา LPG ในประเทศ โดยเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ขนอม โดยใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 4 (ซึ่งอยู่ที่ขนอม) สามารถเดินเครื่องผลิต LPG ได้เพิ่มขึ้น แต่การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ. สูงขึ้น |
. |
ดังนั้นกพง. จึงเห็นชอบให้ชดเชยกฟผ. โดยลดราคาก๊าซธรรมชาติให้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถลดภาระเงินกองทุนน้ำมันจากการนำเข้า LPG น้อยลงได้ถึง 200 ล้านบาทต่อเดือน (แต่ไม่ได้ระบุว่าค่าก๊าซธรรมชาติที่ลดให้กฟผ. เป็นเงินเท่าไรและใครเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งคงต้องน้อยกว่า 200 ล้านบาท/เดือนแน่นอน) |
. |
นอกจากนี้ยังจะหารือกับทางโรงกลั่นน้ำมันให้เปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงในการกลั่นจาก LPG ไปใช้ก๊าซธรรมชาติแทนเพื่อที่จะได้นำก๊าซ LPG ที่โรงกลั่นผลิตได้มาขายแทนการใช้เอง ซึ่งจะเพิ่มปริมาณ LPG ในประเทศได้ |
. |
อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงดังกล่าวทำให้โรงกลั่นน้ำมันมีต้นทุนที่สูงขึ้น ที่ประชุมกพง. จึงเห็นชอบให้จ่ายเงินชดเชยราคาต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับโรงกลั่น (ไม่ได้ระบุว่าเป็นเงินเท่าไรและจ่ายโดยใคร แต่เข้าใจว่าจะจ่ายโดยกองทุนน้ำมันฯ) เพราะกองทุนน้ำมันลดภาระการชดเชยการนำเข้า LPG ได้ประมาณ 38.37 ล้านบาท ไม่ระบุว่าระยะเวลาเท่าใด แต่เข้าใจว่าต่อเดือน) |
. |
จะเห็นว่ามาตรการทั้งหมดนั้นเป็นมาตรการที่แก้ปัญหาการขาดแคลน LPG ที่ปลายเหตุทั้งสิ้น เพราะต้นเหตุแห่งปัญหาคือการตั้งราคา LPG ที่ไม่เหมาะสมและไม่อ้างอิงราคาในตลาดโลก ทำให้ LPG ในบ้านเราราคาถูกจนเกินไป |
. |
ในขณะที่ราคาน้ำมันนั้นอ้างอิงราคาในตลาดโลก และมีราคาสูงขึ้นโดยลำดับ จึงทำให้มีผู้หันมาใช้ LPG แทนน้ำมันกันเป็นจำนวนมากทั้งในการคมนาคมและในอุตสาหกรรม ตลอดจนการลักลอบส่งออกตามแนวชายแดน ประกอบกับราคา LPG ที่ต่ำทำให้ไม่เกิดจิตสำนึกในการประหยัดพลังงาน ในการใช้ LPG ในภาคครัวเรือน ทำให้ความต้องการ LPG ในประเทศเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด |
. |
ในอดีตประเทศไทยผลิต LPG ได้พอใช้และยังเหลือส่งออกได้ด้วยจึงไม่เป็นปัญหามากนัก แต่ปัจจุบันเราต้องนำเข้า LPG ตามราคาตลาดโลก (ประมาณ 724 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามราคาเดือนก.พ. 2553 และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ) โดยต้องนำเข้าประมาณ 1.1-1.5 แสนตัน/เดือน รวมแล้วปี 2553 เราอาจต้องนำเข้า LPG ถึง 1.3-1.8 ล้านตัน ซึ่งกองทุนน้ำมันต้องมีภาระชดเชยการนำเข้าให้ปตท. ถึง 1,606-2,017 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 19,000-24,000 ล้านบาทต่อปี (ถ้าราคา LPG ในตลาดโลกไม่เพิ่มมากกว่านี้) |
. |
คำถามมีว่าเงินกองทุนน้ำมันฯมาจากไหน คำตอบคือมาจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลเป็นส่วนใหญ่ เพราะปัจจุบันเงินที่ไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯอย่างเป็นกอบเป็นกำคือมาจากผู้ใช้น้ำมันเบนซิน 95 และ 91 โดยเรียกเก็บเข้ากองทุนฯ สูงถึงลิตรละ 7.50 บาทและ 6.70 บาทตามลำดับ |
. |
ผู้ใช้แก๊สโซฮอล 95 และ 91 ซึ่งถือเป็นพลังงานทดแทนก็ยังถูกเรียกเก็บเข้ากองทุนฯลิตรละ 2.80 บาทและ 1.40 บาท ตามลำดับ ส่วนผู้ใช้น้ำมันดีเซล B-2 ถูกเรียกเก็บลิตรละ 85 สตางค์ โดยนำไปชดเชยให้ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน B-5 ลิตรละ 80 สตางค์ ก็ถือว่าหมดกันไปเพราะยอดขายของ B-2 กับ B-5 พอๆ กัน |
. |
ดังนั้นผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลจึงเป็นผู้อุดหนุนราคา LPG รายใหญ่ ไม่ใช่รัฐบาลอย่างที่ประชาชนเข้าใจกัน จึงต้องถามว่ามีความชอบธรรมเพียงใดที่รัฐบาลเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล (ซึ่งไม่ใช่คนรวยทั้งหมด) ไปอุดหนุนผู้ใช้ก๊าซ LPG (ซึ่งไม่ใช่คนจนทั้งหมด โดยเฉพาะในภาคขนส่ง, อุตสาหกรรม และปิโตรเคมี ซึ่งเป็นคนรวยและประกอบกิจการค้าธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งควรจะใช้พลังงานในราคาตามตลาดโลก เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันกับชาติอื่น) |
. |
ผมเองในฐานะผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลยินดีเสียเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อไปสนับสนุนเสถียรภาพของราคาน้ำมันไม่ให้ขึ้นลงมากๆ ตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของกองทุนน้ำมัน หรือจะเอาไปใช้ในเรื่องการขนส่งมวลชน เช่นรถไฟฟ้า หรือปรับปรุงถนนหนทาง ลดปัญหาการจราจรติดขัด รณรงค์ให้มีการประหยัดพลังงาน ฯลฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนและผู้ใช้รถใช้ถนน |
. |
แต่รัฐไม่ควรนำเงินไปอุดหนุน LPG เพื่อการใช้ที่ไม่เหมาะสม เช่น LPG กับรถยนต์ โดยเฉพาะคนที่ใช้รถคันใหญ่แต่ไม่ยอมจ่ายค่าน้ำมันแล้วหันมาใช้ LPG โรงงานอุตสาหกรรมที่หันมาใช้LPG แทนน้ำมันเพราะราคาถูกกว่าน้ำมันเตา นอกจากนี้เหมือนส่งเสริมทางอ้อมให้เกิดการลักลอบจำหน่าย LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ข้าวแกง อาหารตามสั่งยังคงขึ้นราคาแม้ว่ามีการชดเชยราคา LPG เป็นต้น |
. |
อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้ผมไม่ตำหนิกระทรวงพลังงานหรือกพง. เพราะรมว. กระทรวงพลังงานหรือกพง. ต้องปฏิบัติตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะกพช. มีนโยบายตรึงราคา LPG ไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม (ความจริงตรึงมาหลายปีแล้วโดยขยายเวลาออกไปทีละ 6 เดือน |
. |
พอครบก็ต่ออายุออกไปเรื่อยๆ ไม่มีใครกล้าขึ้นราคาเพราะกลัวเสียคะแนนนิยม) ซึ่งพอถึงสิ้นเดือนสิงหาคมก็อาจมีการแยกตลาด LPG ออกเป็น 2 ตลาด คือตลาดขนส่งและครัวเรือนกับตลาดอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี โดยอาจลอยตัวราคา LPG ในภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี แต่ตรึงราคาในส่วนของขนส่งและครัวเรือนต่อไป ซึ่งปัญหาก็คงไม่จบหรอกครับเพราะจะมีปัญหาลักลอบใช้เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งปัญหา ผมถึงบอกว่าราคา LPG เป็นปัญหาอมตะที่ไม่มีวันตายยังไงล่ะครับ !!! |
. |
หมายเหตุ : บทความเป็นไปตามความเห็นของผู้เขียน คุณมนูญ ศิริวรรณ |
. |
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน |