เนื้อหาวันที่ : 2007-01-29 12:11:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 16176 views

ประโยชน์จากนักศึกษาฝึกงาน

เมื่อพูดถึงการฝึกงาน หลาย ๆ โรงงานที่เคยรับและไม่เคยรับนักศึกษาเข้าไปฝึกงานด้วย อาจจะบอกว่าน่าเบื่อ ไม่รู้จะส่งมาทำไม ไม่เห็นจะได้ประโยชน์อะไร เสียเวลาเปล่า

เมื่อพูดถึงการฝึกงาน หลาย ๆ โรงงานที่เคยรับและไม่เคยรับนักศึกษาเข้าไปฝึกงานด้วย อาจจะบอกว่าน่าเบื่อ ไม่รู้จะส่งมาทำไม ไม่เห็นจะได้ประโยชน์อะไร เสียเวลาเปล่า เข้ามาฝึกแล้วก็มาเกะกะ น่ารำคาญ ถ้าได้คำตอบแบบนี้นั่นคือเป็นการแสดงให้เห็นว่าโรงงานนั้นมีทัศนคติที่ไม่ดี หรือไม่ถูกต้องต่อการฝึกงานเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าโรงงานที่มองเห็นประโยชน์ของการฝึกงานแล้ว จะให้คำตอบหรือความคิดเห็นที่ตรงกันข้าม ยินดีที่จะรับนักศึกษาเข้าไปฝึกงานทุกปีทีเดียว และอาจจะรับนักศึกษาฝึกงานหลายคนอีกด้วย ดังนั้นจึงควรมาพิจารณาถึงประโยชน์ของนักศึกษาฝึกงาน และปรับเปลี่ยนทัศนคติกันให้ถูกต้องกันใหม่

.

การฝึกงานเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาแทบจะทุกสถาบันการศึกษา โดยจุดประสงค์ของการฝึกงานก็เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสนำความรู้ที่ได้ศึกษาไปประยุกต์ใช้ในโรงงาน, องค์กร, หรือหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งการฝึกงานนี้ไม่ได้หวังผลว่านักศึกษาสามารถทำงานได้สมบูรณ์ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เข้าใจลักษณะงานของสาขาวิชาที่ตนเองได้ศึกษามาในสภาพของความเป็นจริง ได้เข้าใจชีวิตในช่วงวัยทำงาน ได้ฝึกการมีมนุษย์สัมพันธ์ ถือเป็นการเพิ่มประสบการณ์, ฝึกฝนทักษะความชำนาญนอกเหนือจากที่เคยได้รับแต่อยู่ในห้องเรียน

.

โดยปกติแล้ว ในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี สถาบันการศึกษาหลายแห่งจะมีการสอบการฝึกงานของนักศึกษา โดยระยะเวลาการฝึกงานมักจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายนพฤษภาคม โดยใช้เวลาประมาณ 3045 วันทำการ ลักษณะการสอบจะเป็นการให้นักศึกษามานำเสนอ เล่าเรื่องการฝึกงานว่าได้ทำอะไรมาบ้าง ผู้เขียนเองก็เคยเป็นทั้งนักศึกษาฝึกงาน, เคยเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงงานที่ต้องรับผิดชอบนักศึกษาฝึกงาน และเป็นอาจารย์ที่ต้องมาสอบนักศึกษาฝึกงานด้วย ดังนั้นจึงมีประสบการณ์และเข้าใจระบบการฝึกงานพอสมควร ผู้เขียนมีโอกาสได้รับฟังสิ่งที่นักศึกษาฝึกงานหลายคน และหลายรุ่นไปประสบพบเจอกันในหลายโรงงานมา พบว่ามีบางสิ่งที่นักศึกษาฝึกงานเหล่านั้นได้นำเสนอตรงกัน แม้จะฝึกงานในสถานที่ที่แตกต่างกันหรือคนละโรงงานก็ตาม ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่บางครั้งก็ถูกปล่อยปละละเลยไป ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นบทความนี้จึงขอนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ของการฝึกงานในแง่มุมต่าง ๆ ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ทราบ เพื่อให้การฝึกงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล และมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด

.

.
สิ่งที่ทางโรงงานได้จากนักศึกษาฝึกงาน

การที่มีนักศึกษาฝึกงานเข้ามาในโรงงาน ทางโรงงานจะได้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ ดังนี้

- ความประทับใจจากนักศึกษาฝึกงาน

ถ้าทางโรงงานเห็นความสำคัญของการฝึกงาน โดยมีการเตรียมสิ่งต่าง ๆ สำหรับการฝึกงานไว้ก่อนแล้ว เมื่อนักศึกษาฝึกงานเข้ามา จะทำให้นักศึกษารู้สึกดี อบอุ่นเป็นกันเอง ไม่รู้สึกเป็นส่วนเกินของโรงงาน เมื่อจบการฝึกงานกลับไปแล้ว นักศึกษาจะนำสิ่งที่ตนเองพบเห็นมาเล่านำเสนอให้กับเพื่อน, อาจารย์ฟัง ส่วนใหญ่ก็จะมีแต่คำชมให้กับทางโรงงาน ทำให้คนที่รับฟังรู้สึกดีไปกับโรงงานนั้นด้วย ถือเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับโรงงานไปในตัวด้วยเช่นกัน และความรู้สึกที่ดีแบบนี้จะติดตัวนักศึกษาไปตลอดจนกระทั่งเรียนจบไปทำงาน เช่น มีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้สอบถามเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับการฝึกงานสมัยที่ยังเป็นนักศึกษา ปรากฏว่า คำตอบที่ได้คือความรู้สึกประทับใจที่ได้จากโรงงานแห่งนั้น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากกลับไปเยี่ยมโรงงานแห่งนั้นอีกครั้งหนึ่งด้วย

.
- ความคิดเห็นในเชิงทฤษฎี ที่ไม่มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง  

ในกรณีที่ทางโรงงานมอบหมายงานให้กับนักศึกษาฝึกงานได้รับผิดชอบแล้ว สิ่งที่นักศึกษาฝึกงานจะทำต่องานชิ้นนั้นก็คือ ทำอย่างสุดฝีมือ โดยเฉพาะถ้างานนั้นต้องใช้การคำนวณหรือใช้ความรู้ทางวิชาการ นักศึกษาฝึกงานจะอ้างอิงมาจากตำราทางวิชาการ โดยไม่สนใจว่าจะมีผลประโยชน์อะไรอย่างไรหรือไม่ ทำให้ผลงานนั้นเป็นผลงานบริสุทธิ์ที่ทางโรงงานควรรับไว้พิจารณาด้วย เช่น ทางโรงงานได้มอบหมายงานซ่อมบำรุงให้กับนักศึกษาฝึกงาน รับรองได้ว่านักศึกษาฝึกงานคนนั้น จะต้องไปหาข้อมูลให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะนำมาใช้ในการออกแบบแผนการซ่อมบำรุงให้ได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้อย่างแน่นอน หรือทางโรงงานอาจจะมอบหมายให้นักศึกษาฝึกงานออกแบบชิ้นงานชิ้นหนึ่งให้ นักศึกษาฝึกงานคนนั้นก็จะต้องหาข้อมูล วิเคราะห์คำนวณด้วยหลักการทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชิ้นงานนั้นเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะทำได้เช่นกัน ดังนั้นทางโรงงานจึงควรใช้ประโยชน์จากนักศึกษาฝึกงานในจุดนี้ให้มากที่สุด แต่ก็ต้องคอยตรวจสอบในผลงานดังกล่าวด้วย เนื่องจากอาจยังมีข้อผิดพลาดหรือข้อบกพร่องในผลงานนั้นเช่นกัน ก็ถือว่ายังดีกว่าที่จะเริ่มต้นจากศูนย์ เป็นการนำผลงานของนักศึกษาฝึกงานมาขยายความ ต่อยอดออกไป ซึ่งก็จะทำให้งานนั้นเสร็จเร็วยิ่งขึ้นด้วย

.
- สามารถนำปัญหาบางอย่างของโรงงานมาเป็นโครงงาน (Project) ของนักศึกษาได้

โดยปกติแล้วนักศึกษาที่มาฝึกงานจะเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาคเรียนฤดูร้อน เมื่อฝึกงานเสร็จแล้ว และเปิดเรียนใหม่ นักศึกษาก็จะเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ซึ่งในหลักสูตรการศึกษาก็จะมีวิชาโครงงาน (Project) ที่นักศึกษาทุกคนจะต้องลงเรียน ในรายวิชานี้นักศึกษาจะต้องมีหัวข้อโครงงานในการศึกษา ซึ่งหัวข้อโครงงานดังกล่าวจะกำหนดมาจากอาจารย์ หรืออาจจะคิดมาจากนักศึกษาก็ได้ ถ้าโรงงานเห็นประโยชน์ในจุดนี้ ก็สามารถนำปัญหาบางอย่างของโรงงานเสนอมาเป็นโครงงาน (Project) ของนักศึกษาได้เช่นกัน ถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทางโรงงานและสถาบันการศึกษา โดยผ่านทางนักศึกษา ซึ่งถือเป็นการใช้การฝึกงานที่ผ่านมาให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เป็นการสูญเปล่า และในบางครั้งก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของงานวิจัยก็ได้อีกเช่นกัน

.

ในกรณีนี้เองทางภาครัฐก็ได้เห็นความสำคัญ ได้ทำเป็นโครงการสนับสนุน โดยมีชื่อว่า โครงงานอุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี (Industrial Projects for Undergraduate Students) หรือที่เรียกกันว่าโครงการ IPUS เป็นโครงการสนับสนุนธุรกิจ SMEs โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ทุนสนับสนุนโครงงานของนักศึกษาที่นำปัญหาของโรงงานมาเป็นโครงงานของนักศึกษา เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือโดยภาครัฐที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ SMEs โดยผ่านทางสถาบันการศึกษาอีกด้วย

.

- ถ้านักศึกษาฝึกงานทำงานได้ดี สามารถรับเข้าทำงานได้หลังจากที่สำเร็จการศึกษาแล้ว

นักศึกษาฝึกงานที่มีผลงานดี และสำเร็จการศึกษาแล้ว หลาย ๆ โรงงานมักจะติดต่อทาบทามให้มาสมัครเข้าทำงานกับโรงงานของตนเอง เพราะถือได้ว่ารู้จักนิสัยใจคอกันและได้เคยร่วมงานกันมาในระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งจะแตกต่างกับในกรณีที่ทางโรงงานประกาศรับสมัครคนทั่วไปที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เพราะวิธีหลังนี้ทางโรงงานจะทำได้แต่เพียงรู้จักแค่หน้าตา, เอกสารใบสมัคร, และการพูดคุยในการสอบสัมภาษณ์เท่านั้น แต่ไม่ทราบนิสัยใจคอ ไม่เคยเห็นวิธีการทำงานกันมาก่อน บางครั้งเมื่อรับเข้าทำงานแล้วอาจจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับทางโรงงาน เนื่องจากปรับตัวเข้ากับระบบการทำงานของโรงงานไม่ได้ หรือเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ ดังนั้นระบบของนักศึกษาฝึกงานจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการรับคนเข้าทำงานอีกด้วย เช่น มีนักศึกษาหลายคนที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา ปรากฏว่ามีโรงงานที่ทางนักศึกษาเหล่านั้นเคยฝึกงานด้วย ติดต่อทาบทามให้มาสมัครเข้าทำงานกับโรงงานของตนเองอีกครั้ง บางคนก็อาจจะมีข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น เงินเดือน, สวัสดิการต่าง ๆ ที่ดีกว่าปกติให้อีกด้วย ก็ถือเป็นการได้ประโยชน์ทุกฝ่ายทั้งตัวนักศึกษา, ทางโรงงาน, และสถาบันการศึกษา

.
- เป็นเครือข่ายกับสถาบันการศึกษา เมื่อโรงงานมีปัญหา ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากสถาบันการศึกษาได้อย่างสะดวก

ระบบการฝึกงาน เป็นการขอความอนุเคราะห์หรือความร่วมมือจากโรงงาน โดยสถาบันการศึกษา โรงงานที่ตอบรับให้นักศึกษาเข้าทำการฝึกงานได้ มักจะทำให้ทางสถาบันการศึกษารู้สึกชื่นชม ถือเป็นการให้เกียรติกับทางสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานที่ตอบรับทุกปี หรือตอบรับบ่อย ๆ มักจะทำให้ทางสถาบันการศึกษารู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ ความสัมพันธ์ระหว่างทางโรงงานกับสถาบันการศึกษานี้ก็จะกลายเป็นเครือข่ายกัน ในบางครั้งเมื่อโรงงานมีปัญหา ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากสถาบันการศึกษาได้อย่างสะดวกกว่าที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เพราะการเป็นเครือข่ายต่อกันนี้ จะทำให้ทางสถาบันการศึกษาเต็มใจที่จะช่วยเหลือทางโรงงานมากกว่า และในบางครั้งก็ไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นอีกด้วย เช่น มีโรงงานแห่งหนึ่งที่ตอบรับนักศึกษาเข้าฝึกงานทุกปี มีปัญหาเกี่ยวกับระบบเตาหลอม ได้มาขอความช่วยเหลือหรือคำปรึกษากับทางสถาบันการศึกษาในปัญหานี้ ปรากฏว่าอาจารย์ที่รู้จักกันดีกับผู้จัดการโรงงาน ได้ระดมอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเตาหลอมไปจัดการให้คำแนะนำวิธีการแก้ปัญหาให้ ทางโรงงานก็รู้สึกประทับใจในความช่วยเหลือนั้น และหลังจากนั้นมาทางโรงงานก็มักจะให้ความช่วยเหลือและร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ของทางสถาบันการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ

.

- ใช้นักศึกษาฝึกงานเป็นสายลับในองค์กร คอยตรวจสอบการทำงานของแผนกต่าง ๆ

การที่มีนักศึกษาฝึกงานเข้าไปในโรงงาน แม้จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ถ้าทางผู้บริหารโรงงานมองเห็นถึงประโยชน์ในจุดนี้ก็สามารถใช้นักศึกษาฝึกงานเป็นสายลับในองค์กร เพื่อคอยตรวจสอบการทำงานของแผนกต่าง ๆ ได้อีกด้วย การเป็นสายลับในที่นี้ไม่ใช่เป็นการขโมยสิ่งของ หรือข้อมูลอะไร แต่เป็นการไปค้นหาข้อเท็จจริงบางอย่างที่ทางผู้บริหารโรงงานต้องการทราบ ซึ่งไม่อาจได้มาด้วยวิธีการปกติ ก็ทดลองให้นักศึกษาฝึกงานไปค้นหามาให้ เพราะในบางกรณีตัวนักศึกษาฝึกงานเองจะสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงนั้นได้ดีกว่าผู้บริหาร แต่หลังจากที่ได้มาแล้ว ทางผู้บริหารโรงงานก็ต้องตรวจสอบอีกครั้งเช่นกัน เช่น ผู้บริหารโรงงานมอบหมายงานให้กับนักศึกษาฝึกงานไปตรวจวัดเวลาการประกอบชิ้นงานในสายการผลิตแห่งหนึ่ง เพื่อต้องการหาเวลามาตรฐาน ปรากฏว่านักศึกษาฝึกงานสามารถไปจับเวลาในการประกอบชิ้นงานนั้นในสถานีงานต่าง ๆ ในสภาพที่เป็นจริงได้ดีกว่าพนักงานที่เกี่ยวข้องในโรงงานนั้นเสียอีก หรือมีอีกกรณีหนึ่งคือผู้บริหารโรงงานมอบหมายงานให้กับนักศึกษาฝึกงานไปตรวจสอบระบบพัสดุคงคลัง ปรากฏว่าพนักงานที่รับผิดชอบระบบพัสดุคงคลังนั้นได้พูดคุยให้ข้อมูลต่าง ๆ แก่นักศึกษาฝึกงานเป็นจำนวนมาก เพราะอาจจะเห็นว่าเป็นคนกันเอง ไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไรต่อเขา ดังนั้นนักศึกษาฝึกงานจึงได้ข้อมูลข้อเท็จจริงมาเสนอต่อผู้บริหารโรงงาน ทำให้ผู้บริหารโรงงานทราบความไปเป็นต่าง ๆ ในแผนกนั้นได้ดียิ่งขึ้น

.

สิ่งที่ทางโรงงานควรปฏิบัติต่อนักศึกษาฝึกงาน

เพื่อให้การฝึกงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทางโรงงานควรปฏิบัติต่อนักศึกษาฝึกงานดังนี้

- มีการปฐมนิเทศ แนะนำสิ่งต่าง ๆ ก่อนเริ่มงาน

แน่นอนว่าเมื่อนักศึกษาฝึกงานเข้ามาในโรงงานแล้ว นักศึกษาฝึกงานคนนั้นจะยังไม่ทราบอะไรมากนัก ต้องเป็นหน้าที่ของทางโรงงานที่ต้องทำการปฐมนิเทศ แนะนำสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นก่อนเริ่มงาน เช่น กฎระเบียบ, เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ, แผนกต่าง ๆ, โครงสร้างองค์กร เป็นต้น เนื่องจากนักศึกษาฝึกงานจะต้องเข้ามาใช้ชีวิตในโรงงานประมาณ 12 เดือน ต้องทำการปรับตัวเองให้เข้าระบบการทำงานของโรงงานให้เร็วที่สุด ดังนั้นการปฐมนิเทศจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้นักศึกษาฝึกงานเข้าใจและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เพราะถ้าทางโรงงานไม่มีการปฐมนิเทศชี้แจงให้นักศึกษาฝึกงานทราบไว้ก่อน ก็อาจจะทำให้นักศึกษาฝึกงานทำอะไรผิดพลาด และสร้างปัญหาให้กับทางโรงงานขึ้นเนื่องจากความไม่รู้ก็ได้

.
- จัดเตรียมหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ พี่เลี้ยงคอยดูแลรับผิดชอบ

เมื่อนักศึกษาฝึกงานเข้ามาอยู่ในโรงงานแล้ว ถ้าทางโรงงานไม่มีหน่วยงานหรือไม่มีเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงคอยดูแลรับผิดชอบแล้ว คือบอกกับนักศึกษาฝึกงานว่าคุณอยากจะทำอะไรก็ทำไป อย่าสร้างปัญหาให้กับทางโรงงานก็แล้วกัน นักศึกษาฝึกงานคนนั้นจะรู้สึกโดดเดี่ยว คอยแต่นับวันเวลาว่าเมื่อไรจะถึงวันสุดท้ายของการฝึกงาน เพราะไม่มีเป้าหมายของการฝึกงานที่ชัดเจน การฝึกงานจะกลายเป็นการดูงานไปแทน ทำให้แทนที่จะได้ประโยชน์จากการฝึกงานเต็มที่ กลับกลายเป็นเสียผลประโยชน์ตรงจุดนี้ไป

.

ดังนั้นการจัดเตรียมหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ พี่เลี้ยงคอยดูแลรับผิดชอบ ซึ่งทางโรงงานเองก็เสียเวลาในการเตรียมสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มากนัก แต่ผลที่ได้กลับมาจะคุ้มค่ากว่ากันมากนัก ให้คิดเสมือนว่านักศึกษาฝึกงานก็คือพนักงานใหม่คนหนึ่งของโรงงานที่ต้องคอยดูแลในเบื้องต้นก่อน

.

- เตรียมงาน ให้กับนักศึกษาฝึกงานได้ทำอย่างเหมาะสมกับระยะเวลา

งานที่ทางโรงงานได้เตรียมไว้ให้กับนักศึกษาฝึกงานทำ คือสิ่งที่นักศึกษาฝึกงานต้องการมากที่สุด เพราะนั่นคือเป้าหมายการฝึกงานที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม นักศึกษาฝึกงานจะมีความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะทำงานนั้นให้สำเร็จอย่างดีที่สุด แต่งานที่ทางโรงงานเตรียมไว้นั้นจะต้องมีความเหมาะสมกับระยะเวลาการฝึกงานด้วย คืองานนั้นควรจะเสร็จภายใน 12 เดือน หรือบางโรงงานอาจจะเตรียมงานที่มีระยะเวลาสั้น ๆ ให้นักศึกษาฝึกงานได้ทำ เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็ย้ายไปทำงานในแผนกอื่นอีกก็ได้ เป็นการเรียนรู้งานในแผนกต่าง ๆ ให้มากที่สุดในระยะเวลาที่น้อยที่สุด เพื่อให้นักศึกษาฝึกงานเห็นและเข้าใจระบบการทำงานของโรงงานนั้น และยังมีผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งของการเตรียมงานที่เหมาะสมให้กับนักศึกษาฝึกงานได้ทำ คือเมื่องานนั้นเสร็จตามที่ทางโรงงานมอบหมาย นักศึกษาฝึกงานจะมีความภูมิใจในงานนั้นเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจจะเป็นผลงานชิ้นแรกในชีวิตการทำงานจริง ๆ ของตัวเขาเองอีกด้วย

.

- งานที่เตรียมไว้ ควรจะตรงหรือใกล้เคียงกับความรู้ที่ได้เรียนมาของนักศึกษาฝึกงานให้มากที่สุด

งานอะไรก็ตามที่ทางโรงงานมอบหมายให้กับนักศึกษาฝึกงานได้ทำ ควรจะตรงหรือใกล้เคียงกับความรู้ที่ได้เรียนมาของนักศึกษาฝึกงานให้มากที่สุด ไม่ควรให้งานที่ไม่ตรงกับสิ่งที่นักศึกษาฝึกงานได้เรียนมา เช่น นักศึกษาวิศวกรรมอุตสาหการมาฝึกงานในโรงงานผลิตยางรถยนต์ ก็ควรให้นักศึกษาฝึกงานนั้นไปเรียนรู้หรือทำงานเกี่ยวกับระบบการผลิต มากกว่าที่จะมอบหมายให้ไปดูแลทางด้านสารเคมี เช่น ให้ไปดูวิเคราะห์สูตรสารเคมีในห้องปฏิบัติการ, หรือนักศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้าไปฝึกงานในหน่วยงานก่อสร้างอาคาร แต่ต้องไปทำงานทางด้านโครงสร้างของอาคารแทน ซึ่งงานโครงสร้างนี้ถือเป็นงานของวิศวกรรมโยธา ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ถือว่าไม่ตรงกับสายงานที่ได้เรียนมา เพราะถ้าทำอย่างนั้นอาจจะทำให้นักศึกษาฝึกงานเกิดความรู้สึกไม่ชอบหรือเบื่อ ทำให้ผลงานในการฝึกงานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร

.

แต่ในบางครั้งทางโรงงานก็มีเจตนาดี คือต้องการให้นักศึกษาฝึกงานได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เพื่อเป็นการเพิ่มประสบการณ์หรือทักษะด้านอื่นในงาน ถ้าเป็นแบบนี้ก็ควรจะสอบถามทางนักศึกษาฝึกงานก่อนด้วยว่าต้องการแบบนี้หรือเปล่าด้วย

.

- เปิดโอกาสให้นักศึกษาฝึกงานแสดงความคิดเห็นในระหว่างการฝึกงาน หรือทางโรงงานควรสอบถามนักศึกษาฝึกงานว่าต้องการฝึกงานที่แผนกหรือฝ่ายใด

ทางโรงงานควรต้องเปิดโอกาสให้นักศึกษาฝึกงานได้แสดงความคิดเห็น หรือสอบถามนักศึกษาฝึกงานว่าต้องการฝึกงานอะไร ที่แผนกหรือฝ่ายใด เพราะบางครั้งทางโรงงานไม่ทราบความต้องการของนักศึกษาฝึกงาน งานหรือแผนกที่จัดให้อาจเป็นแค่งานที่ทางโรงงานคิดว่าเหมาะสมแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่นักศึกษาฝึกงานไม่ชอบ คิดว่าน่าจะจัดให้เขาไปอยู่ในแผนกอื่นน่าจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากในโรงงานบางแห่งนักศึกษาฝึกงานไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น จึงต้องจำใจทนฝึกในแผนกที่ตนเองไม่ชอบไปจนจบระยะเวลาการฝึกงาน ทำให้นักศึกษาฝึกงานรู้สึกไม่ประทับใจและไม่ประสบความสำเร็จในการฝึกงานครั้งนั้น

.

ข้อจำกัดกรณีที่มีนักศึกษาฝึกงานเข้ามาในโรงงาน

การที่มีนักศึกษาฝึกงานเข้ามาในโรงงาน ทำให้ทางโรงงานจะต้องเตรียมตัวพบกับสิ่งที่อาจไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ดังนี้

.
- ข้อมูลบางอย่างอาจถูกเปิดเผยได้

การที่มีนักศึกษาฝึกงานเข้ามาในโรงงาน แน่นอนว่านักศึกษาฝึกงานย่อมพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ในโรงงาน เช่น เครื่องจักร, ระบบวิธีการผลิต, โครงสร้างการบริหารงาน, รวมถึงข้อมูลบางอย่างในคอมพิวเตอร์ของทางโรงงาน ซึ่งข้อมูลบางอย่างถือเป็นความลับของทางโรงงานที่ไม่ต้องการให้บุคคลภายนอกได้ล่วงรู้ ตรงนี้ทางโรงงานจะต้องหาวิธีป้องกันที่รัดกุมเอง หรืออาจจะบอกนักศึกษาฝึกงานว่า ห้ามเข้าในแผนกนั้น ห้ามยุ่งในงานตรงนี้ เพื่อทำให้นักศึกษาฝึกงานเข้าใจชัดเจน ถือเป็นจรรยาบรรณอย่างหนึ่งของนักศึกษาฝึกงาน แต่ในบางครั้งทางโรงงานเองก็ต้องทำใจด้วยว่าอาจมีข้อมูลบางอย่างถูกเปิดเผยได้เช่นกัน

.

- จัดเตรียมสวัสดิการให้อย่างเหมาะสม

นักศึกษาฝึกงานก็เหมือนกับพนักงานในโรงงานทั่วไป ที่ต้องการผลตอบแทนจากการทำงาน แต่ด้วยสถานภาพที่ยังเป็นนักศึกษาฝึกงานจึงไม่สามารถที่จะเรียกร้องอะไรในส่วนตรงนี้ได้ ค่าใช้จ่ายในการฝึกงานต่าง ๆ ทางนักศึกษาฝึกงานก็ต้องรับผิดชอบเอง เช่น ค่าที่พัก, ค่าเดินทาง เป็นต้น ดังนั้นทางโรงงานจึงควรมีน้ำใจโดยจ่ายค่าตอบแทนหรือจัดสวัสดิการให้กับนักศึกษาฝึกงานบ้างพอสมควร เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง, ที่พัก, รถรับส่ง เป็นต้น ซึ่งตรงจุดนี้ก็แล้วแต่ศักยภาพหรือนโยบายของแต่ละโรงงาน

.
- กรณีด้านความปลอดภัย ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้น ทางโรงงานต้องรับผิดชอบ

ในการทำงานบางครั้งจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นกับพนักงานของโรงงานเอง ก็จะมีความรับผิดชอบของโรงงานอาจจะในรูปของเงินประกันสังคมให้ แต่ถ้าอุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นกับนักศึกษาฝึกงาน จะไม่เกี่ยวข้องกับเงินประกันสังคม ก็จะต้องถือว่าเป็นความรับผิดชอบของทางโรงงาน จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการที่มีนักศึกษาฝึกงานเข้ามาทำงานด้วยจะต้องคอยดูแลระมัดระวังอย่างเต็มที่ ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น

.
ถ้าทางโรงงานไม่ได้เตรียมงานให้กับนักศึกษาฝึกงานไว้ก่อน จะพบปัญหาดังนี้

- นักศึกษาฝึกงานรู้สึกเบื่อ ไม่สนุก เพราะนั่งเฉย ๆ

- คนในโรงงาน จะรู้สึกว่านักศึกษาฝึกงานเป็นส่วนเกินของโรงงาน บางครั้งทำให้เกิดความรำคาญได้

- นักศึกษาฝึกงานจะรู้สึกไม่ประทับใจในโรงงานนั้น

.

เมื่อนักศึกษาฝึกงานไม่มีอะไรทำ วัน ๆ ก็จะนั่งอ่านหนังสือ หรือไม่ก็เดินไปเดินมาในโรงงาน ดูการทำงานของคนในโรงงานไปเรื่อย ๆ ไม่มีเป้าหมายอะไร จะทำให้นักศึกษาฝึกงานเกิดความรู้สึกเบื่อ และคนในโรงงานจะรู้สึกว่านักศึกษาฝึกงานเป็นส่วนเกินของโรงงาน, มาคอยจับผิดอะไรเขาหรือเปล่า หรือเกิดความรำคาญ ซึ่งอย่างน้อยคงไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศในการทำงาน และสุดท้ายจากการที่ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นผลงาน อีกทั้งจะต้องอดทนต่อความเบื่อหน่ายตลอดระยะการฝึกงานนั้น ย่อมจะทำให้นักศึกษาฝึกงานรู้สึกไม่ประทับใจในโรงงานนั้นเช่นกัน

.

ถ้าเรามองการฝึกงานเป็นเพียงแค่กิจกรรมอย่างหนึ่งที่น่าเบื่อ ไร้สาระแล้ว การฝึกงานนั้นก็จะไม่มีคุณค่าอะไร หาประโยชน์ไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วการฝึกงานถือเป็นสิ่งที่ดี ถึงแม้จะมีข้อจำกัดบางอย่าง แต่ถ้ารู้จักวิธีบริหารจัดการอย่างถูกต้องแล้ว การฝึกงานก็ย่อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ประโยชน์กันทุกฝ่ายทั้งตัวนักศึกษาฝึกงาน, ทางโรงงาน และสถาบันการศึกษา ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรหันมาให้ความสำคัญและร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในกิจกรรมการฝึกงานนี้

.
เอกสารอ้างอิง

- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). คู่มือการขอรับทุน IRPUS.

- www.ipus.org