ผู้เชี่ยวชาญแนะรัฐแยกราคาแอลพีจีออกเป็น 2 ราคา เชียร์ตรึงราคาภาคขนส่ง - ครัวเรือนต่อ ปรับขึ้นภาคอุตสาหกรรมแทน หวังหนุนฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง |
. |
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน กล่าวว่า หลังครบกำหนดมาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ในเดือนสิงหาคมนี้แล้ว รัฐบาลควรแยกราคาแอลพีจีออกเป็น 2 ราคา โดยตรึงราคาภาคขนส่งและครัวเรือน แล้วปรับราคาขึ้นเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีฐานะเป็นบวกเพิ่มขึ้น และรัฐบาลสามารถนำเงินดังกล่าวมาดูแลราคาดีเซลไม่ให้เกินระดับลิตรละ 30 บาทได้ |
. |
หลังกระทรวงการคลังปฏิเสธที่จะลดภาษีสรรพสามิต เพื่อนำมาดูแล ซึ่งถ้าพิจารณาแนวทางลดผลกระทบราคาดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท นอกเหนือจากการบริหารจัดการจากกองทุนฯ และการลดภาษีสรรพสามิตแล้ว ก็แทบไม่มีมาตรการใดๆมาดูแลได้ ซึ่งการบริหารกองทุนฯอาจใช้วิธีเรียกเก็บเงินจากกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น แต่วิธีนี้ไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้เบนซิน |
. |
"การนำเข้าแอลพีจีเฉลี่ยเดือนละแสนตัน ส่วนใหญ่นำมาป้อนให้ภาคอุตสาหกรรมทั่วไปและปิโตรเคมี เมื่อรัฐบาลยกเลิกตรึงราคาส่วนนี้การนำเข้าแอลพีจีจะลดลง ภาระกองทุนฯก็จะน้อยลง นอกจากนี้กระทรวงพลังงานควรยกเลิกการจำหน่ายเบนซิน 91 เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ E20 เพราะปัจจุบันมีปริมาณรถยนต์ใหม่ที่ใช้ E20 จำนวนมาก แต่ปริมาณปั๊มยังน้อย โดยบริษัทน้ำมันต่างชาติไม่สนใจจำหน่าย" นายมนูญ กล่าว |
. |
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณเอทานอลไม่ได้ขาดแคลน รัฐบาลจึงน่าจะยกเลิกการจำหน่ายเบนซิน 91 ได้แล้ว ซึ่งทางสมาคมฯพยายามติดตามนโยบายดังกล่าวอยู่ ซึ่งยังไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติ |
. |
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กล่าวว่า การยกเลิกเบนซิน 91 ยังเป็นเพียงแนวคิดที่อยู่ระหว่างการศึกษาความพร้อมของทุกระบบ โดยเฉพาะรถยนต์ที่จะใช้ซึ่งยังมีรถเก่าจำนวนหนึ่งที่ใช้แก๊สโซฮอล์ไม่ได้ |