สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินในเดือน มี.ค.53 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี เร่งขึ้นตามการขยายตัวที่เร่งขึ้นของสินเชื่อภาคครัวเรือน ผนวกกับการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงของสินเชื่อธุรกิจ ในขณะที่เงินฝากของสถาบันรับฝากเงินในเดือน มี.ค.53 ขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่อปี จากการขยายตัวของเงินฝากภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ ด้านเงินฝากธุรกิจยังคงปรับตัวลดลงแต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งสัญญาณการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ |
. |
ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน มี.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 9.0 ต่อปี และปริมาณจำหน่ายเหล็กภายในประเทศขยายตัวถึงร้อยละ 28.3 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปี 53 ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ และปริมาณจำหน่ายเหล็กภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 7.2 และ 11.1 ต่อปี ตามลำดับ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากฐานคำนวณที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า |
. |
ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวสะท้อนถึงการเริ่มฟื้นตัวของการลงทุนภายในประเทศ และสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในหมวดก่อสร้างและหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 และ 79.7 ต่อปี ตามลำดับ รวมถึงพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลรวมขยายตัวร้อยละ 44.6 ต่อปี ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน |
. |
ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มี.ค.53 เกินดุลที่ 1,734 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเกินดุลการค้าที่ยังอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องที่ 1,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยที่อยู่ในระดับที่สูงโดยเฉพาะสินค้าส่งออกภาคการเกษตรที่ขยายตัวตามการขยายตัวของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก และสินค้าอุตสาหกรรม |
. |
อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ดุลบริการ รายได้และเงินโอน ในเดือน มี.ค. 53 เกินดุลลดลงจากเดือน ก.พ. 53 มาอยู่ที่ระดับ 452 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายได้การท่องเที่ยวที่เริ่มปรับตัวลดลง |
. |
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย. 53 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี นับเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน สาเหตุสำคัญจาก1)ดัชนีหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกซึ่งถูกนำเข้ามากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก 2) ดัชนีค่าไฟฟ้า น้ำประปาฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เนื่องจากหมดอายุมาตรการช่วยค่าครองชีพ 5 มาตรการ 6 เดือนในส่วนของค่าน้ำประปา |
. |
3) ราคาผักและผลไม้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และบางแห่งได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อน และหากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนนี้ขยายตัวที่ร้อยละ 0.49 (%mom) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน เม.ย. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |