บีโอไอ เผย 4 เดือนแรกภาวะการลงทุนโตรับกระแสเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว นักลงทุนยังแห่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนถึง 106 โครงการ มูลค่ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท
บีโอไอ เผย 4 เดือนแรกภาวะการลงทุนโตรับกระแสเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว นักลงทุนยังแห่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนถึง 106 โครงการ มูลค่ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท |
. |
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน |
. |
ภาวะการลงทุนช่วง 4 เดือนแรกปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยเฉพาะในเดือนเมษายน นักลงทุนยังแห่ยื่นขอบีโอไอถึง 106 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 26,700 ล้านบาท ส่งผลให้จำนวนโครงการตลอด 4 เดือนมี 413 โครงการ ขยายตัวร้อยละ 53 และมีมูลค่าเงินลงทุน 135,800 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1 ส่วนเอฟดีไอก็ขยายตัวกว่าร้อยละ 140 โดยนักลงทุนจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน เล็งลงทุนเพิ่ม |
. |
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยถึงภาวะ การลงทุนในช่วง 4 เดือนแรกปี 2553 (ม.ค. – เม.ย. 53) ว่า มีโครงการลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 413 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2552 ซึ่งมีจำนวน 269 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนในช่วง 4 เดือนแรกสูงถึง 135,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีมูลค่า 134,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อศักยภาพการเป็นแหล่งลงทุนของประเทศไทย |
. |
โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอสูงถึง 106 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 26,700 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเมษายนของปี 2552 ทั้งจำนวนโครงการ และมูลค่าเงินลงทุน ร้อยละ 80 และร้อยละ 86 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะนี้ และหากสถานการณ์ทางการเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก็ยิ่งส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนมากขึ้นด้วย |
. |
ประเภทกิจการที่นักลงทุนยื่นขอส่งเสริมและมีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด คือ กิจการบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 115 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 77,000 ล้านบาท รองลงมาคือ กิจการด้านยานยนต์ เครื่องจักร โลหะ จำนวน 85 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 20,000 ล้านบาท ตามด้วยกิจการด้านเกษตรแปรรู อาหาร จำนวน 68 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 17,000 ล้านบาท และกิจการด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ 63 โครงการ มูลค่า 9,000 ล้านบาท |
. |
สำหรับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) ที่ยื่นขอส่งเสริม การลงทุนในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ พบว่ามีมูลค่าเงินลงทุน 53,000 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 140 ซึ่งมีมูลค่า 22,000 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักมาจากการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และนักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่นในประเทศไทย |
. |
ทั้งนี้ นักลงทุนจากญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 26,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 160 เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนของญี่ปุ่นในช่วงเดียวกันปี 2552 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยโครงการขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ และกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ |
. |
รองลงมาคือการลงทุนจากสิงคโปร์ มีมูลค่าเงินลงทุน 6,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 6 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในกิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งจากอาหาร และโครงการร่วมทุนระหว่างไทยสิงคโปร์ในการผลิตเคมีภัณฑ์ อันดับสามคือการลงทุนจากจีน มีมูลค่าเงินลงทุน 6,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 6 พันล้านบาทเช่นกัน เพราะมีโครงการขนาดใหญ่ผลิตพลังงานไฟฟ้า |