1. ธนาคารไทยพาณิชย์เล็งขึ้นยอดสินเชื่อบ้านในปี 53 |
- นายรุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายผลิตภัณฑ์สินเชื่อลูกค้าบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการทบทวนเพิ่มเป้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ หลังจากที่ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้กว่า 13,000 ล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อในช่วงไตรมาส 1 อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของเป้าสินเชื่อทั้งปีที่ตั้งไว้ 55,000 ล้านบาท |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นมากเกิดจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ซึ่งเดิมจะหมดเขตในเดือน ม๊.ค. 53 ทำให้ผู้ซื้อบ้าน และผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างเร่งโอนบ้านเป็นจำนวนมากก่อนการสิ้นสุดมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ สศค. มองว่าการที่รัฐบาลได้เลื่อนระยะเวลาสิ้นสุดของมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ออกไปถึงสิ้นเดือน พ.ค. 53 น่าจะทำให้มีการเร่งซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 |
. |
2. ธปท.เชื่อโรดแมพปรองดองส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ |
- นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ข้อเสนอของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชวะ นายกรัฐมนตรี ในกระบวนการสร้างความปรองดองถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะการเมืองมีทางออก ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของประเทศ และทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาการชุมนุมก่อนหน้านี้ยุติลง มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ส่วนปัญหาเรื่องกรีซดูแล้วไม่มีผลกระทบต่อไทยมากนัก |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า หากกระบวนการสร้างความปรองดองผ่าน Roadmap ปรองดองแห่งชาติทำให้สถานการณ์ทางการเมืองสามารถยุติได้เร็ว โดยไม่ยืดเยื้อไปถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 53 การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะลดลงเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 ต่อปีจากกรณีฐานของ สศค. (เมื่อเดือนมี.ค. 53 สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.5) จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงบ้างในไตรมาสที่ 2 |
. |
3. ECB อาจต้องเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลกรีซหากมาตรการอื่นไม่สร้างความเชื่อมั่นได้ |
- นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจะต้องซื้อพันธบัตรรัฐบาลของกรีซหลังจากที่แผนการให้เงินช่วยเหลือมูลค่ากว่า 11 พันล้านยูโรยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดและนักลงทุนได้ โดยในช่วงเมื่อวานค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงไปมากที่สุดในรอบ 15 เดือนที่ระดับ 1.2803 ดอลลาร์สหรัฐ |
. |
ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล กรีซ 2 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 16 ต่อปี (ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าพันธบัตรระยะ 2 ปีของเยอรมนีถึง 26 เท่า) หลังจากที่เกิดการประท้วงขึ้นในกรุงเอเธนส์เนื่องจากประชาชนไม่พอใจที่รัฐบาลกรีซจะต้องลดการใช้จ่ายตามแผนการลดการขาดดุลลงซึ่งอาจจะมากถึง 30 พันล้านยูโรในช่วง 3 ปีข้างหน้า |
. |
- สศค.วิเคราะห์ว่า ECB ควรพิจารณาการกระทำดังกล่าวเป็นทางเลือกสุดท้ายเนื่องจากการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของกรีซซึ่งใช้เงินสกุลยูโรเป็นเงินสกุลหลักนั้นถือเป็นการซื้อหนี้ภาครัฐ (monetize fiscal debt) ซึ่งในระยะยาวอาจจะส่งผลให้มีปริมาณเงินยูโรในระบบมากเกินไปและอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในสหภาพยุโรปได้ โดยในระยะถัดไปอาจส่งผลให้เงินยูโรสูญเสียมูลค่าลงได้ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการเสถียรภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ใช้สกุลเงินยูโร |
. |
อย่างไรก็ตาม ECB และรัฐบาลของกรีซยังคงเผชิญกับแรงกดดันในการสร้างความเชื่อมั่นต่อฐานะการคลังของประเทศกรีซและประเทศยุโรปในกลุ่ม PIGS ซึ่งหากยังไม่มีมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นเป็นผลสำเร็จได้นั้น อาจส่งผลให้ความไม่เชื่อมั่นต่อฐานะการคลังในตลาดลุกลามเข้าสู่ประเทศอื่นๆอาทิ สเปนและโปรตุเกสและเกิดผลเสียต่อสกุลเงินยูโรและสหภาพยุโรปต่อไปได้อีกเช่นกัน |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |