เนื้อหาวันที่ : 2007-01-29 10:13:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1270 views

ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค.49 ยังไม่ฟื้น

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2549 ยังลดลงต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน เพราะผลจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว

สำนักข่าวไทยรายงานข่าวสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2549 ยังลดลงต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน เพราะผลจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศขยายตัวไม่มากนัก พร้อมเสนอให้ภาครัฐสร้างความชัดเจนในนโยบาย รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นและสร้างเสถียรภาพของค่าเงินบาท

.

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือนธันวาคม 2549  ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 435 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 85.9 ลดลงจาก 91.0 ในเดือนพฤศจิกายน 2549 ซึ่งการที่ค่าดัชนียังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวการณ์อุตสาหกรรมในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก โดยค่าดัชนี 4 ใน 5 ปัจจัยหลักปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่าดัชนีโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ  ขณะที่ค่าดัชนีโดยรวมของต้นทุนการประกอบการมีค่าเพิ่มขึ้น

.

สำหรับค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนพฤศจิกายนกับเดือนธันวาคม 2549  พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรม 25 กลุ่ม มีค่าดัชนีต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นถึงภาวะการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน พบว่า มีอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง 21 กลุ่มอุตสาหกรรม ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 14 กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมี 14 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ค่าดัชนีมีการลดลงอย่างชัดเจน อาทิ อุตสาหกรรมก๊าซ การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รองเท้า โรงกลั่นน้ำมัน สิ่งทอ เหล็ก ส่วนอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนมี 11 กลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน เครื่องนุ่งห่ม เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ปูนซิเมนต์

.

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมทั้งขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมในระดับที่ลดลง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว ประกอบกับยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมีการขยายตัวไม่มาก โดยหลายปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ  ได้แก่ ราคาสาธารณูปโภค อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การเมืองในประเทศ และราคาเชื้อเพลิง ขณะที่ผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ส่งผลกระทบ

.

นายอดิศักดิ์กล่าวถึงแนวโน้มความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่อปัจจัยที่ส่งผลกระทบว่า  ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องระวังปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ยังไม่คลี่คลาย  ได้แก่  ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน  ราคาเชื้อเพลิง ราคาสาธารณูปโภค  และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการให้ภาครัฐสร้างความชัดเจนในนโยบาย รวมทั้งเรื่องสร้างความเชื่อมั่น และสร้างเสถียรภาพของค่าเงินบาท พร้อมทั้งให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแก้ไขปัญหาสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการในประเทศ.