1. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนเม.ย. 53 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี ขยายต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 |
- กระทรวงพาณิชย์เผย อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. 53 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ 4 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูป |
. |
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือนเม.ย.53 อยู่ที่ระดับ 103.45 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองยังไม่มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อมากนัก เนื่องจากยังไม่กระทบต่อการบริโภคโดยรวม |
. |
- สศค.วิเคราะห์ว่า การที่อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย.53 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 มีสาเหตุสำคัญมาจากฐานการคำนวณที่ต่ำในปีที่ผ่านมา ประกอบกับทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการยกเลิกการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายน้ำประปา ส่งผลให้ราคาในหมวดอาหาร และหมวดขนส่ง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 และ 11.9 ต่อปี ตามลำดับ |
. |
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ผันผวน ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไป เนื่องจากจะเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นของภาคธุรกิจและจะเป็นแรงกดดันต่อภาคธุรกิจ หากไม่สามารถปรับเพิ่มราคาขายสินค้าได้ทันท่วงที |
. |
2. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนำแผนธุรกิจท่องเที่ยวฝ่าวิกฤติ |
- ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่า ททท. ได้มีการประชุมแผนการตลาดหลังจากที่สถานการณ์การเมืองยุติลง สำหรับตลาดยุโรปซึ่งจะมีการกำหนดแผนระยะสั้น จะเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ข้อเท็จจริง ส่วนแผนของตลาดเอเชียหากเหตุการณ์สงบ สิ่งที่จะต้องทำคือการประชาสัมพันธ์ |
. |
สร้างความเชื่อมั่น และสื่อสารให้เกิดความเข้าใจว่าประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวอีกจำนวนมากไม่ได้รับผลกระทบ ด้านตลาดในประเทศจะต้องดึงให้มีการประชุมและสัมมนาเป็นหลัก ทำตลาดโดยกระตุ้นคอนซูเมอร์แฟร์ และทำออนไลน์ ซึ่งมีงบพิเศษ 1,600 ล้านบาท โดยจะใช้สำหรับกระตุ้นตลาดในประเทศ 600 ล้านบาท และกระตุ้นตลาดต่างประเทศ 1,000 ล้านบาท |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือนมี.ค. 53 มีจำนวน 1.45 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 17.6 ต่อปี อย่างไรก็ดี หลังปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าหดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -4.6 ซึ่งเป็นผลการสิ้นสุดเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ช่วง low season ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกและอาเซียนลดลง |
. |
ทั้งนี้ สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองได้เริ่มส่งผลกระทบทางลบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างชัดเจนมากขึ้นในเดือน เม.ย. 53 ประกอบกับผลกระทบจากการปิดน่านฟ้าในยุโรปอันเนื่องมาจากภูเขาไฟระเบิดในประเทศไอซ์แลนด์ได้ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วง 1 - 26 เม.ย. 53 หดตัวลงร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน |
. |
3. รัฐบาลกรีซได้รับเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปและIMF |
- รัฐบาลกรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปและองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นมูลค่า 110 พันล้ายยูโร (146 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งนับว่าเป็นเงินช่วยเหลือที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยรัฐบาลกรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือก้อนซึ่งมีมูลค่า 80 พันล้านยูโร จากสหภาพยุโรป 16 ประเทศก่อนหน้าวันที่ 19 พ.ค. 53 ซึ่งเป็นวันกำหนดชำระหนี้พันธบัตรของรัฐบาลกรีซ โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวมีอัตราดอกเบี้ยการกู้เงินที่ประมาณร้อยละ 5 ต่อปี |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การช่วยเหลือเศรษฐกิจของกรีซโดยสหภาพยุโรปและIMF เป็นการช่วยเหลือระยะสั้นที่ทำให้กรีซสามารถชำระหนี้ได้ทันกำหนด อย่างไรก็ตาม เงินช่วยเหลือดังกล่าวมาพร้อมกับกฎในเชิงนโยบาย โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐและอาจมีการเพิ่มภาษีในอนาคตเพื่อหาเงินทุนในการชำระหนี้ต่อไป ปัจจัยนี้อาจทำให้อัตราการขยายตัวของกรีซในช่วงปี 53-54 ลดต่ำลงจนอาจติดลบ และอาจเป็นสาเหตุให้การขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปในปี 53-54 ได้รับผลกระทบด้วย |
. |
ทั้งนี้ ประเทศไทยซึ่งมีสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 53 โดยมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 10.2 ของมูลค่าการส่งออกรวม อาจได้รับผลกระทบทางลบจากการส่งออกไปยังยุโรปที่อาจลดลงในช่วงปี 53-54 ได้ โดยเฉพาะการส่งออก เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปการณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังสหภาพยุโรป |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |