เนื้อหาวันที่ : 2010-05-04 09:50:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 575 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 26-30 เม.ย.53

ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน มี.ค. 53 เบิกจ่ายได้จำนวน 150.0 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -23.2 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนจำนวน 9.7 พันล้านบาท คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -32.0 ต่อปี และรายจ่ายประจำจำนวน 120.0 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -26.9 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญในเดือน มี.ค. 53 ได้แก่ รายจ่ายของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจำนวน 8.5 พันล้านบาท

.

รายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 6.7 พันล้านบาท และรายจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 3.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเบิกจ่ายในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 53  เบิกจ่ายได้จำนวน 934.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.9 ต่อปี โดยเป็นงบประมาณประจำปีงบประมาณ 53 คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณที่ร้อยละ 48.8 ของกรอบวงเงินงบประมาณ (1.70 ล้านล้านบาท)

.

ทั้งนี้ คาดว่าผลการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 53 จะเป็นไปตามเป้าหมายอย่างน้อยที่ร้อยละ 94.0 ของกรอบวงเงินงบประมาณ นอกจากนี้ ผลการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง2555 ณ วันที่  23 เม.ย. 53 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 116.5 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายที่ร้อยละ 33.3 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 350.0 พันล้านบาท

.

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน มี.ค. 53 ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -46.5 พันล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -4.9 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ของรัฐบาลขาดดุลจำนวน -51.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 53 รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณจำนวน -267.2 พันล้านบาท

.

เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -54.7 พันล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด (ก่อนกู้) จำนวน  -321.9 พันล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 53 มีจำนวน 118.6 พันล้านบาท ซึ่งลดลงจากต้นปีงบประมาณที่มีจำนวนถึง 293.8 พันล้านบาท ซึ่งการการขาดดุลดังกล่าวสะท้อนถึงการทำนโยบายการขาดดุลของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

.

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน มี.ค. 53 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะในหมวดไม้ยืนต้นที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากผลผลิตยางพาราเป็นสำคัญ เนื่องจากราคายางพาราขยายตัวในระดับสูง จูงใจให้เกษตรกรกรีดยางเพิ่มขึ้น

.

ส่วนหมวดปศุสัตว์ ผลผลิตขยายตัวสูงขึ้นจากผลผลิตไก่เนื้อเป็นสำคัญ  ในขณะที่พืชอาหาร โดยเฉพาะข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง ผลผลิตลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ประกอบกับได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดและศัตรูพืช (เพลี้ยน้ำตาลกระโดดในข้าว และเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง)

.

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน มี.ค. 53  ขยายตัวที่ร้อยละ 19.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 19.4 ต่อปี (เป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน) จากการขยายตัวของราคาผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะ ยางพารา อ้อย และมันสำปะหลัง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

จากอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  ในขณะที่ผลผลิตในประเทศและของโลกลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรหลัก เช่น อินเดีย บราซิล และเวียดนาม ในขณะที่ไทยมีผลผลิตลดลงเนื่องจากปัญหาโรคระบาดและภัยแล้ง

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง