เนื้อหาวันที่ : 2010-04-30 11:36:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 665 views

SSI ไตรมาสแรกยอดขายพุ่งสูงสุด 106 %

SSI ออกอาการปลื้มไตรมาสแรกยอดขายพุ่งสูงสุด 106 % กำไร 1,470 ล้าน คาดปีนี้ผลิตทะลุ 2.7 ล้านตัน-รายได้ขาย 50,000 ล้าน

.

เอสเอสไอประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2553 กำไร 1,470 ล้านบาท จากยอดขายและราคาขายที่เพิ่มสูงขึ้นรวมถึงค่าการรีดที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่บริษัทย่อยและบริษัทร่วมผลการดำเนินงานที่น่าพอใจทั้ง WCE, PPC และ TCRSS มั่นใจปีนี้บรรลุเป้าหมายผลิตและส่งมอบที่ 2.7 ล้านตัน และยอดขาย 50,000 ล้านบาท หลังทุบสถิติยอดการผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ คาดตลาดเหล็กยังสดใส

.

นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอเปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งด้านรายได้จากการขาย และกำไรสุทธิ เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2552 โดยบริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้รวม 13,976 ล้านบาท

.

โดยเป็นรายได้จากการขายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน จำนวน 13,677 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 105 และ 106 เมื่อเทียบกับรายได้รวม 6,820 ล้านบาท และรายได้จากการขายจำนวน 6,654 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552                                            

.

รายได้จากการขายดังกล่าว แบ่งออกเป็นรายได้จากการจำหน่ายในประเทศจำนวน 12,334 ล้านบาท และรายได้จากการส่งออกจำนวน 1,343 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 115 และร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ที่มีรายได้จากการขายภายในประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 5,747 ล้านบาท และรายได้จากการส่งออกจำนวน 907 ล้านบาทตามลำดับ

.

สำหรับสัดส่วนในการจัดจำหน่ายนั้น บริษัทฯ มีปริมาณการจำหน่ายในประเทศคิดเป็นร้อยละ 91 และต่างประเทศร้อยละ 9 ตามลำดับ แบ่งเป็น Premium Value Products (ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มกับลูกค้า) ร้อยละ 44 ของปริมาณการขายรวม โดยบริษัทมีผลกำไรสุทธิ 1,470 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 178 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีผลขาดทุนจำนวน 1,878 ล้านบาท 

.

นายวินกล่าวว่า ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นนี้ มาจาก 1. ปริมาณยอดขายที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องจากได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่ง ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรายงาน ยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศไตรมาสแรกสูงสุดถึง 3.8 แสนคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 92 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน     

.

การบริการลูกค้าที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ และกลยุทธในการส่งเสริมการขายของฝ่ายธุรกิจการค้า อาทิการร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ของลูกค้า 2. ราคาขายที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 4 จากไตรมาส 4/2552 เนื่องจากการฟื้นตัวของตลาดโลก 3. บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยจากปริมาณการผลิตได้ถึงร้อยละ 9 เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตต่อหน่วยเฉลี่ยของปี 2552 และ 4. ค่าการรีด (Rolling Spread) อยู่ในระดับสูง

.

“ในไตรมาสแรกบริษัทได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าเพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านปริมาณการซื้อผลิตภัณฑ์และจำนวนลูกค้าโดย บริษัทมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 3 ราย และ พัฒนาผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนใหม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า 3 ชนิด ซึ่งทำให้บริษัทมีความมั่นใจว่าการดำเนินการแผนธุรกิจตามแนวทางของวิสัยทัศน์ใหม่ คือ“สร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เหล็กและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มกับลูกค้า สร้างกำไรสม่ำเสมอ สร้างผลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน” จะทำให้บริษัทบรรลุวัตถุประสงค์เชิงธุรกิจในทุกๆด้าน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสเอสไอกล่าว

.

ทั้งนี้ในไตรมาส 1/2553 บริษัทสามารถผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนได้ทั้งสิ้น 689,831 ตันนับเป็นยอดผลิตรายไตรมาสสูงสูดของบริษัทและของบริษัทเหล็กในประเทศไทย จากสถิติยอดการผลิตสูงสุด 655,565 ตันในไตรมาสที่ 4 /2552 บริษัทมีปริมาณส่งมอบผลิตภัณฑ์ 679,049 ตัน   

.

ซึ่งเป็นปริมาณการส่งมอบผลิตภัณฑ์รายไตรมาสสูงสูดของบริษัทและของบริษัทเหล็กในประเทศไทยเช่นเดียวกัน จากสถิติปริมาณการส่งมอบสูงสุด 556,068 ตันในไตรมาสที่ 2 /2549 ทั้งนี้ ในปี 2553 เอสเอสไอตั้งเป้าหมายการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนและส่งมอบให้กับลูกค้า 2.7 ล้านตัน และมียอดขาย 50,000 ล้านบาท

.

ในส่วนของบริษัทร่วมทุน และ บริษัทย่อยของเอสเอสไอนั้นล้วนประสบผลสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในไตรมาสแรกและได้สร้างผลตอบแทนคืนสู่เอสเอสไอ โดยในส่วนของ บริษัท เหล็กแผ่นรีดเย็นไทย จำกัด (มหาชน) (TCRSS) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน เอสเอสไอได้รับประโยชน์โดยตรงจากความร่วมมือด้านการตลาดที่ช่วยกระตุ้นยอดขาย และลดระดับสินค้าคงคลังของทั้งสองบริษัทให้ต่ำลง ในไตรมาสที่ 1/2553 บริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก TCRSS 53.5 ล้านบาท

.

เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และรับรู้ผลการดำเนินงานบริษัทย่อย คือ บริษัท เวสท์โคสท์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (WCE) มีผลกำไรจากการดำเนินงาน 11 ล้านบาท และมั่นใจว่าดีขึ้นอีกจากปริมาณงานวิศวกรรมบริการทั้งจากลูกค้าภายในกลุ่มและลูกค้าภายนอกที่มีศักยภาพ และเป็นบริษัทชั้นนำระดับประเทศจำนวนเพิ่มมากขึ้น 10 ราย          

.

อาทิ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย), กลุ่มธุรกิจซิเมนต์ เอสซีจีกรุ๊ป บริษัท ,อุตสาหกรรมกระดาษคราฟท์ไทย Howden Australia PTY Ltd. ,บริษัท คริสตอลลา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด , GFA Anlagenban GmbH เป็นต้น และบริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด (PPC) ที่มีผลกำไรจากการดำเนินงาน 54 ล้านบาท          

.

สำหรับภาวะอุตสาหกรรมเหล็กโลกและภายในประเทศนั้นกำลังฟื้นตัวจากปริมาณความต้องการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มกลับมา การเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ และ อุตสาหกรรมพลังงาน อาทิ ถังก๊าซ ท่อก๊าซ และหม้อแปลง

.

อุตสาหกรรมเหล่านี้มีความต้องการใช้เหล็กแผ่นที่มีคุณภาพพิเศษเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดสินค้าเหล็กแผ่นชั้นคุณภาพพิเศษให้เติบโตตามไปด้วย ส่วนราคาเหล็กมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากการลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตเหล็กทั่วโลก และราคาสินแร่เหล็กและถ่านโค้กที่ปรับตัวสูงขึ้น