ปัจจุบันกระแสอนุรักษ์นิยมสิ่งแวดล้อมมีผู้สนใจในวงกว้างมาก และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำลายสิ่งแวดล้อมมีให้เห็นอย่างชัดเจน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้
อานนท์ เศรษฐเกรียงไกร |
. |
. |
หากกล่าวถึงกระแสนิยมในปัจจุบัน ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า กระแสอนุรักษ์นิยมสิ่งแวดล้อมมีผู้สนใจในวงกว้างมาก และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำลายสิ่งแวดล้อมมีให้ทุกคนเห็นอย่างชัดเจน เช่น สภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่ฤดูหนาวที่ผ่านมามีอากาศหนาวกว่าปีก่อนมาก |
. |
ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้ นวัตกรรมสิ่งทอสีเขียว (Eco-Innovative Textiles) คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยความรู้และเทคโนโลยี รวมทั้งมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน |
. |
โดยที่การพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอสีเขียวมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในขณะนี้ผู้บริโภคให้ความสนใจ หรือความต้องการมีมากขึ้น และตลาดยินดีที่จะซื้อสินค้าเหล่านี้ไม่ว่าด้วยราคาที่สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าทั่วไป หรือในราคาที่เท่ากัน ดังนั้นประเทศไทยควรหันมาพัฒนาสินค้านวัตกรรมสิ่งทอสีเขียว เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น |
. |
การพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอสีเขียวสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เนื่องจากโอกาสในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีหลายด้าน โดยนักวิจัยสามารถพัฒนาจากสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรม รวมถึงนักออกแบบสามารถนำความรู้และความเชี่ยวชาญมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตสิ่งทอให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยตัวอย่างการพัฒนามีดังต่อไปนี้ |
. |
1. การนำวัสดุที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ (recycling and use of waste as raw materials) |
หลักการนี้เป็นที่สนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น ในการวิจัยตลาดพบว่าผู้บริโภคส่วนมากเห็นชอบที่จะซื้อสินค้าที่มีวัสดุที่ใช้แล้ว ในทางปฏิบัติรัฐควรส่งเสริมและช่วยในการสนับสนุนให้ราคาวัสดุเหล่านี้มีราคาต้นทุนที่ต่ำลง รวมทั้งภาคเอกชนควรทำการตลาดเพื่อเพิ่มความต้องการของผู้บริโภค ตัวอย่างนวัตกรรมสิ่งทอประเภทนี้ เช่น การนำพรมที่ใช้แล้วมาย่อยและพัฒนาเป็นแผ่นรองพื้น (underlay) ที่เก็บเสียงได้ การนำเส้นใยไนล่อนจากพรมที่ใช้แล้วมาใช้เป็นวัสดุเสริมแรงในคอนกรีต ซึ่งสามารถลดปัญหาการจัดการขยะทางอ้อมได้ เป็นต้น |
. |
2. การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ecodesign) |
เป็นการออกแบบที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยพิจารณาถึงผลกระทบของสินค้าตั้งแต่เริ่มผลิตจนถึงหลังการใช้งาน เป็นการออกแบบที่เป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมไฟฟ้า และยานยนต์และขณะนี้เริ่มเป็นที่นิยมสำหรับสิ่งทอด้วย ซึ่งอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในห่วงโซ่อุปทานต้องร่วมมือกัน |
. |
ตัวอย่างนวัตกรรมสิ่งทอประเภทนี้ เช่น เส้นใยพอลิแล็คติก แอซิด (polylactic acid; PLA) ซึ่งเป็นเส้นใยประดิษฐ์ที่ใช้วัตถุดิบจากข้าวโพด จึงสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นต้น |
. |
3. การใช้วัตถุดิบที่สามารถผลิตใหม่ได้ (renewables) |
โดยการมุ่งเน้นใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติซึ่งสามารถผลิตเพิ่มเติมได้ในอัตราเร็วกว่าการนำไปใช้เพื่อทดแทนวัถุดิบสังเคราะห์และสารเคมี เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเนื่องจากสามารถผลิตได้ต่อเนื่องในอัตราที่เร็วกว่าการใช้งาน เส้นใยธรรมชาติและสารสกัดจากสมุนไพรสามารถนำมาประยุกต์ในการใช้งานต่าง ๆ ตัวอย่างนวัตกรรมสิ่งทอประเภทนี้ เช่น การพัฒนาสิ่งทอเทคนิคที่ต้องการความแข็งแรงสูง โดยเลือกใช้เส้นใยธรรมชาติ เช่น ป่าน ปอ กัญชง เป็นต้น |
. |
4. การจัดการกับของเสีย (waste management) |
โดยมุ่งเน้นการจัดการของเสียจากการผลิตให้มีการนำสารข้างเคียงจากการผลิตบางประเภทที่สามารถผลิตเป็นสินค้าอื่นได้ออกมา การบำบัดของเสียก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ตัวอย่างนวัตกรรมการจัดการของเสีย เช่น บริษัท Lenzing จำกัด ประเทศออสเตรีย ที่ผลิตเส้นใย regenerated cellulose สามารถเอาสารข้างเคียงจากการผลิต |
. |
เช่น xylitol ออกมาและนำไปทำเป็นสารให้ความหวาน และยังมีการบำบัดของเสียได้อย่างดีเยี่ยมซึ่งทำให้ได้ฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco Lable) โดยทางบริษัทได้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งลูกค้าก็ได้ให้การตอบรับเป็นอย่างดี |
. |
5. การใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิต (novel technology) |
ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีมีอยู่มากมายและนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมากขึ้นเรื่อย ๆ เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำให้การผลิตใช้พลังงานน้อยลง และลดของเสีย ตัวอย่างนวัตกรรมสิ่งทอประเภทนี้ เช่น เทคโนโลยีพลาสมาที่สามารถตกแต่งสิ่งทอโดยไม่ใช้น้ำและ สารเคมี การใช้กาวไหมในการตกแต่ง ฝ้ายโดยทดแทนสารเคมี รวมทั้งนาโนเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น |
. |
ตัวอย่างนวัตกรรมสิ่งทอสีเขียวของประเทศไทย |
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนานวัตกรรมสิ่งทอสีเขียว คือ ผ้าปิดจมูกที่ใช้เส้นใยที่ย่อยสลายได้ (PLA) และใช้เทคโนโลยีอิเลคโตรสปินนิ่ง (electrospinning) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผสมสารสกัดจากธรรมชาติของเปลือกมังคุด ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านทานเชื้อวัณโรค |
. |
ในการวิจัยนี้ได้เลือกพอลิแอลแล็คติกแอซิด (poly L-lactic acid) เนื่องจากเป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งพอลิแล็คไทด์ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ เช่น ใช้ในการเย็บแผล |
. |
จากการวิจัยพบว่า เส้นใยพอลิแอลแล็คติกแอซิด ไม่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดใด ๆ ได้เลย แต่เมื่อใส่สารสกัดจากเปลือกมังคุดในเส้นใยพอลิแอลแล็คติกแอซิด จึงสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียชนิด S.aureus และ B.Subtilis ได้ โดยเมื่อปริมาณสารสกัดจากเปลือกมังคุดที่ใส่ในเส้นใยมากขึ้นการต้านเชื้อแบคทีเรียก็เพิ่มขึ้นด้วย |
. |
ผลการทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อวัณโรคดื้อยาโดยสารสกัดจากเปลือกมังคุดที่เคลือบบนแผ่นอิเล็คโตรสปินพบว่าสารสกัดจากเปลือกมังคุดเข้มข้น 30% และ 50% ที่เคลือบบนแผ่นเส้นใยอิเล็คโตรเลสปิน สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของวัณโรคดื้อยาได้มากกว่า 99.99% แผ่นอิเล็คโตรสปินดังกล่าวถูกนำไปพัฒนาเป็นองค์ประกอบของแผ่นปิดจมูกเพื่อใช้ในสาธารณะ ซึ่งช่วยในการป้องกันเชื้อวัณโรค และแผ่นกรองอากาศในเครื่องปรับอากาศ ซึ่งสามารถลดเชื้อแบคทีเรียและวัณโรคได้ |
. |
จากตัวอย่างที่ได้กล่าวมาและหลักการต่าง ๆ ในการพัฒนาข้างต้นประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอสีเขียว เนื่องจากประเทศไทยมีวัตถุดิบจากธรรมชาติค่อนข้างมาก นอกจากนี้การออกแบบและเทคโนโลยีที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านผสมผสานเทคโนโลยีทันสมัยสามารถนำมาสู่สินค้าสีเขียวได้ ในขณะเดียวกันสินค้าประเภทนี้มีความต้องการในตลาดที่สำคัญ เช่น ตลาดสหภาพยุโรป และตลาดญี่ปุ่น มากขึ้นเรื่อย ๆ |
. |
แม้แต่ตลาดในประเทศเอง ก็มีการตื่นตัวมากขึ้น เช่น ถุงช็อปปิ้งที่ทำจากผ้าเป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยในการพัฒนาสิ่งทอสีเขียว สามารถทำได้โดยการสนับสนุนให้มีงานวิจัยด้านนี้มากขึ้น การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิจัยด้านสิ่งทอและด้านอื่น ๆ รวมทั้งนักออกแบบจะช่วยเปิดโอกาสใหม่ให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอในภาวะการแข่งขันที่รุนแรงนี้ |
. |
(ข้อมูลจาก : นวัตกรรมสิ่งทอ (Innovative Textiles) |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม |