เนื้อหาวันที่ : 2010-04-29 19:08:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1876 views

ก.อุตสาหกรรมชู MDICP ยกระดับศักยภาพ SMEs ไทย

กระทรวงอุตสาหกรรม ชูโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน ฟุ้งช่วยเพิ่มยอดขายได้ทันทีกว่า 2 พันล้านบาท

กระทรวงอุตสาหกรรม ชูโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน ฟุ้งช่วยเพิ่มยอดขายได้ทันทีกว่า 2 พันล้านบาท

.

.

กระทรวงอุตสาหกรรมจัดงานมอบเกียรติบัตรและกิจกรรมเผยแพร่ผลงานโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน หรือ MDICP รุ่นที่ 11 จำนวน 80 ราย   ในวันที่ 26 มีนาคม 2553 ณ โรงแรมมิราเคิลฯ กรุงเทพฯ ผลที่ได้รับจากโครงการสามารถเพิ่มยอดขายได้ทันทีกว่า 2,000 ล้านบาท นับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยในภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต

.

นายสรยุทธ  เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs ประมาณร้อยละ 99.5 ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดของประเทศ นับเป็นฟันเฟืองที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม

.

เนื่องจากสามารถสร้างรายได้และเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญที่สุด  และจากนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม ด้วยการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การปรับปรุงคุณภาพสินค้า การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสร้างความแตกต่าง และการลดต้นทุน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ

.

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน (Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programme : MDICP) กระจายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 

.

ด้วยการส่งทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญและมีความรู้ความสามารถเข้าไปช่วยแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาสถานประกอบการ  เพื่อให้ SMEs ภายในประเทศเข้าสู่ระบบการค้าสากล  และสามารถสร้างศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 

.

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้มีการพัฒนาและนำร่องโครงการ MDICP มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 จนถึงปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว จำนวน 11 รุ่น 375 กิจการ ทั้งนี้ได้มีการประเมินผลหลังจากเข้าร่วมโครงการ

.

โดยในภาพรวมผลเป็นที่น่าพอใจ คือมียอดขายรวมเพิ่มขึ้นทันทีถึง 13,762.38 ล้านบาท นับได้ว่าส่งผลที่ดีต่อรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งหากมองในแง่ของสังคมก็จะเป็นแหล่งสำคัญของการจ้างงาน การกระจายรายได้ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเป็นแหล่งพัฒนาด้านนวัตกรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้วย

.
สำหรับการดำเนินงานโครงการ MDICP แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. การพัฒนาและปรับปรุงองค์กรใน 5 แผนงาน  โดยวิสาหกิจที่เข้าร่วมจะต้องมียอดขายหรือรายได้เกินกว่า 100 ล้านบาท และมีการจ้างงานเกินกว่า 100 คน  เน้นการให้บริการปรึกษาแนะนำใน 5 แผน ได้แก่     1. การพัฒนาและปรับปรุงส่วนของการผลิตให้ทันสมัย

.

2. การยกระดับมาตรฐานกิจการและผลิตภัณฑ์  3. การเพิ่มความสามารถทางการวางแผนและจัดการเทคโนโลยี 4. เสริมสร้างความสามารถทางการบริหารการเงินและการลงทุน  และ 5. การเพิ่มศักยภาพ การจัดการเชิงกลยุทธ์ และการตลาดทั้งในและต่างประเทศ 

.

ในปี 2552 ที่ผ่านมา  มีสถานประกอบการเข้าร่วม MDICP 5 แผนงาน จำนวน 22 กิจการ ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้น 1,057.73 ล้านบาท มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 232 คน ได้รับการรับรองมาตรฐาน 6 กิจการ   มีการลดของเสียและต้นทุนการผลิตลง 223.36 ล้านบาท เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่จำนวน 116 ผลิตภัณฑ์ มีการลงทุนขยายกิจการ 882.98 ล้านบาท และมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศและเครื่องจักร 105.62 ล้านบาท

.

2. การพัฒนาและปรับปรุงองค์กรใน 3 แผนงาน โดยมีพื้นที่การดำเนินงานในส่วนกลางและปริมณฑล  เน้นการให้บริการปรึกษาแนะนำใน 3 แผนงานหลัก ได้แก่ 1. การพัฒนาและปรับปรุงด้านการผลิต/บริการ        2. การบริหารจัดการด้านการเงิน  การวางระบบบัญชีสากล และระบบบัญชีต้นทุน  และ 3. การตลาดและการวางแผนกลยุทธ์องค์กร 

.

นอกจากนี้  ได้มีการเพิ่มเติมแผนงานเฉพาะสำหรับเจาะตลาดต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า MDICP BRIC ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมในการเจาะตลาดต่างประเทศ และขยายโอกาสทางการค้าร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงกับเครือข่ายการค้าในต่างประเทศ 

.

สำหรับในปี 2552 นี้ มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ MDICP 3 แผนงาน จำนวน 58 กิจการ ผลลัพธ์ที่ได้มียอดขายเพิ่มขึ้น 947.56 ล้านบาท มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 102 คน สามารถลดของเสียและลดต้นทุนการผลิตในกระบวนการทำงาน 8.61 ล้านบาท และประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า 61.64 ล้านบาท

.

ปี 2553 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการ MDICP อย่างต่อเนื่อง โดยมีการขยายแผนงานเพิ่มเติมจาก MDICP 5 แผนงานเป็น  MDICP 8 แผนงาน ตามข้อเสนอแนะและความต้องการของสถานประกอบการ  รวมทั้งให้ครอบคลุมเนื้อหาการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปีนี้มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ MDICP จำนวนทั้งสิ้น 110 กิจการ

.

นายสมนึก  โอวุฒิธรรม  ผู้บริหารบริษัท ลี้กิจเจริญแสง จำกัด กล่าวว่า  ผลลัพธ์ที่ได้จากการเพิ่มสมรรถนะการจัดการเชิงกลยุทธ์  และการตลาดในและต่างประเทศของบริษัทฯ  ซึ่งเป็นผู้ผลิตหลอดไฟไทย และเริ่มเป็นที่รู้จักในท้องตลาดภายใต้เครื่องหมายการค้า LKS  บริษัทฯ ได้เข้าร่วม MDIDP 5 แผนงาน ในปี 2552 

.

ทำให้สามารถพัฒนาเครื่องจักรและระบบซ่อมบำรุง จนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากเดิม 60 % เพิ่มขึ้นเป็น 95 % และเพิ่มยอดขายได้ถึง 31.7 % มีการพัฒนาระบบคลังสินค้าแบบ Rest in time มีการจัดวางระบบบัญชี ระบบงบประมาณ และระบบบัญชีต้นทุน

.

ตลอดจนวางแผนการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ (TRM) สำหรับวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การเข้าร่วมโครงการยังทำให้เกิดเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ  สมาชิกพร้อมที่จะก้าวเดินและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  เพื่อนำพาธุรกิจให้มีความมั่นคงและแข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป

.

นายอิทธิพล   ผู้บริหารบริษัท พิบูลย์คอนกรีต จำกัด กล่าวว่า  บริษัทฯเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูป อาทิ พื้นตัน พื้นกลวง เสาเข็ม และเสาไฟฟ้า เป็นต้น โดยมีตลาดหลักอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศ บริษัทฯได้เข้าร่วมโครงการ MDICP 3 แผนงาน เมื่อปี 2552 ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้บริษัทสามารถลดอัตราของเสียได้ร้อยละ 5 มีต้นทุนการผลิตลดลงถึงร้อยละ 12 และมียอดขายเพิ่มขึ้นอีกกว่าร้อยละ 10 

.

นอกจากนี้บริษัทฯ ได้วางเป้าหมายการทำงานเพื่อเป็นผู้นำในด้านธุรกิจผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปในภาคเหนือตอนบน และมุ่งมั่นจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)  รวมถึงการรับรองระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 : 2000  ตลอดจนการสร้างสรรค์ คิดค้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูปออกสู่ตลาดให้ได้อย่างสม่ำเสมอ 

.

นับเป็นตัวอย่างผลสำเร็จของผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมโครงการ MDICP กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม แม้จะเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ แต่ก็เป็นแรงผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคงอย่างยั่งยืน 

.

ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม