เนื้อหาวันที่ : 2010-04-29 10:00:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 634 views

รายงานภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 29 เม.ย. 2553

1. ตลาดหลักทรัพย์คาดหากการเมืองคลี่คลายเครดิตประเทศไทยเป็นบวก

-  ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงกรณีที่สถาบันจัดอันดับ ความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสต์เตอร์ เซอร์วิส และ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ มีแนวโน้มปรับลดความน่าเชื่อถือของไทยจากปัญหาทางการเมืองโดยระบุว่า แม้ปัญหาการเมือง เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของไทย แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาระยะ ยาว แต่หากทั้งสองสถาบันปรับลดความน่าเชื่อถือจะทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนลดลง และส่งผลให้ต้นทุนการออกหุ้นกู้ และการกู้เงินของเอกชนเพิ่มสูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น

.

-  สศค.วิเคราะห์ว่า ปัญหาการเมืองทำให้บริษัทจัดอันดับ Fitch Rating และ R&I ปรับมุมมองที่มีต่อเครดิตเงินกู้สกุลท้องถิ่นจาก Stable เป็น Negative อย่างไรก็ตาม ยังคงยืนยันเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศจากพื้นฐานและเสถียรภาพที่แข็งแกร่งจากปัจจัยเสถียรภาพต่างประเทศที่มีระดับเงินทุนสำรองต่างประเทศคิดเป็น 5 เท่าของยอดหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ทั้งนี้ Moody’s จะมาพบกับหน่วยงานเศรษฐกิจฝ่ายไทยเพื่อทบทวนอันดับเครดิตอีกครั้งต่อไปในช่วงกลางเดือน พ.ค. 53 

.
2. TDRI มองผลกระทบชุมนุมฉุดจีดีพีร้อยละ 1.0 ห่วงกระทบภาคการเงิน-ลงทุน

-  ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า รู้สึกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองที่จะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากมีความเป็นห่วงว่าจะเกิดผลกระทบ ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งอาจจะมากกว่าร้อยละ 0.5-1.0 ซึ่งจะเริ่มต้นในภาคการเงิน ภาคการลงทุน และภาคการค้า เป็นอันดับแรก โดยขณะนี้ ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบไปทั้งหมดแล้ว และกำลังจะลุกลามไปสู่ค้าปลีกค้าส่ง และภาคขนส่งบางส่วน และอาจทำให้เชื่อมโยงไปสู่ประเทศในภูมิภาค

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่าปัญหาการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวแล้ว โดยพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงวันที่ 1-26 เม.ย.53 มีจำนวน 6.2 แสนคน หดตัวร้อยละ -3.7 ต่อปี ถึงแม้จะมีปัจจัยฐานต่ำในปีที่ผ่านมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือน เม.ย.52

.

นอกจากนั้นยังส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะในหมวดการใช้บริการโรงแรมและภัตตาคาร อาหารและเครื่องดื่ม และการเดินทาง ซึ่งทั้ง 3 หมวดมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 52.3 ของการบริโภคภาคเอกชนทั้งหมด ทั้งนี้จากการประเมินผลกระทบปัญหาการเมือง พบว่าจะทำ ให้ GDPปรับตัวลดลงที่ร้อยละ -0.2 ถึง -1.8 ต่อปี จากกรณีฐาน (กรณีฐานขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี)

.
3. อัตราเงินเฟ้อออสเตรเลียในไตรมาส 1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า

-  แหล่งข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า อัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 1 ของปี 53 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.9 สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 ปี 52 ที่ร้อยละ 0.5  และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 2.9  ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 1 อาจส่งผลให้ธนาคารกลางออสเตรเลียต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4.25

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลียที่ปรับตัวสูงขึ้นมีสาเหตุมาจากต้นทุนราคาน้ำมันและสินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ที่สูงขึ้น พร้อมทั้งภาวะเศรษฐกิจของออสเตรเลียทีปรับตัวดีขึ้น  ดังนั้น ธนาคารกลางออสเตรเลียจึงได้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันในช่วงเดือน ต.ค. 52-เม.ย. 53 มาสู่ระดับที่ร้อยละ 4.25

.

ทั้งนี้ ล่าสุดการจ้างงานได้ปรับตัวสูงขึ้นจากการเร่งการผลิตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และถ่านหินจากความต้องการวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจากประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะจากจีน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจออสเตรเลียเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นปัจจัยเสี่ยงให้อัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวสูงขึ้นได้อีกในระยะต่อไป