เนื้อหาวันที่ : 2010-04-29 08:57:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 585 views

พาณิชย์ เร่งสร้างมูลค่าเกษตรอินทรีย์ กระตุ้นบริโภคควบขยายส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ เตรียมแผนกระตุ้นการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศ พร้อมผลักดันนโยบายเพิ่มมูลค่าการส่งออก เน้นพัฒนาสินค้า หาช่องทางตลาด จัดโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ ตั้งเป้าลดต้นทุนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เล็งจับมือเพื่อนบ้านขานรับเปิดเสรีอาเซียนหวังรวบรวมแหล่งวัตถุดิบฝ้ายอินทรีย์ส่งตลาดยุโรป 

.

นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากกระแสความตื่นตัวในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพและปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ซึ่งคาดว่าภายในปี 2555 จะมีมูลค่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกพุ่งสูงกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ                 

.

ทางกระทรวงพาณิชย์ จึงได้กำหนด 1 ใน 10 ยุทธศาสตร์การค้าไทยปี 2553-2558 ภายใต้นโยบาย “พาณิชย์สร้างสรรค์ คนไทยเข้มแข็ง” เร่งสร้างภูมิคุ้มกันด้านการค้าจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และวิกฤตภาวะโลกร้อน โดยวางเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการบริโภคผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์กลุ่มใหม่ๆ และจัดระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

.

“ปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะหยิบยกประเด็นในเรื่องสิ่งแวดล้อมและวิกฤตภาวะโลกร้อนมาเป็นแนวทางหลักในการวางแผนงานส่งเสริมสินการค้าเกษตรอินทรีย์ไทยทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ โดยจะชี้ให้ผู้บริโภคเห็นถึงมูลค่าในด้านคุณภาพของสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและกรผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และอาจจะกลายเป็นมาตราการกีดกันทางการค้าที่ไทยต้องให้ความสำคัญ” นางพิมพาพรรณ กล่าว

.

รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมถึง แนวทางการส่งเสริมสินค้าในกลุ่มฝ้ายอินทรีย์ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในประเทศแถบยุโรป โดยจะสนับสนุนให้มีการขยายการผลิต ส่งเสริมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ พัฒนากระบวนการแปรรูปผ้าฝ้าย สำลีสำหรับใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องสำอาง รวมถึงจัดหาตลาดใหม่ๆ โดยดำเนินการร่วมกับโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน และสหกรณ์กรีนเน็ท

.

นอกจากนี้ ยังอาศัยประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าภายใต้ข้อตกลงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถเคลื่อนย้ายแหล่งเงินทุน วัตุดิบและแรงงานได้อย่างเสรี ทำให้ไทยสามารถเจรจาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านแถบลุ่มแม่น้ำโขง อาทิ ลาว เวียดนาม ในการรวบรวมแหล่งวัตถุดิบฝ้ายขนาดใหญ่ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการค้าและเสริมศักยภาพการส่งออกไปยังตลาดในทวีปยุโรปและตลาดโลกมากขึ้น