ความสำเร็จในการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ของชาวบ้านในชุมชนบ่อนอก-บ้านกรูด-ทับสะแก แม้จะต้องแลกมาด้วยการสูญเสีย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความเข้มแข็งของชาวบ้านลดลง แต่กลับเป็นแรงผลักดันให้ชาวบ้านตื่นตัวยกระดับความรู้ของตัวเองเพื่อต่อรองกับรัฐบาลและเอกชน
รายงาน: การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการสื่อสารแบบไหลย้อนกลับ กรณีหินกรูด-บ่อนอก |
. |
พันธวิศย์ เทพจันทร์ |
. |
ความสำเร็จในการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ของชาวบ้านในชุมชนบ่อนอก-บ้านกรูด-ทับสะแก แม้จะต้องแลกมาด้วยการสูญเสีย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความเข้มแข็งของชาวบ้านลดลง แต่กลับเป็นแรงผลักดันให้ชาวบ้านตื่นตัวยกระดับความรู้ของตัวเองเพื่อต่อรองกับรัฐบาลและเอกชน |
. |
. |
หลายคนที่ติดตามข่าวความเข้มแข็งในการรวมพลังของชาวบ้านในชุมชนบ่อนอก-บ้านกรูด-ทับสะแก คงจะทราบดีว่าพวกเขาสามารถต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินได้สำเร็จ เพราะรัฐบาลได้สั่งย้ายโครงการสร้างโรงไฟฟ้าออกไปจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2547 แม้ต้องแลกกับการสูญเสียนาย เจริญ วัดอักษร อดีตประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก |
. |
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความเข้มแข็งในการรวมตัวของชาวบ้านลดลงเลย ยิ่งไปกว่านั้นการสูญเสียในครั้งนี้กลับสร้างการรวมตัวและพลังของชาวบ้านที่รักในท้องถิ่นของตัวเอง ให้มารวมตัวกันเพื่อต่อต้านสิ่งที่เห็นว่าจะนำความเสื่อมมาให้ชุมชนของตน |
. |
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ชาวบ้านในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboards) ต่างต้องช่วยกันหาข้อมูลและยกระดับความรู้ของตัวเองเพื่อที่จะสามารถไปพูดคุยและต่อรองกับรัฐบาลและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง |
. |
เพื่อแสดงให้เห็นว่าการมาของโรงไฟฟ้าถ่านหินเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างไรบ้าง เป็นการแสวงหาความรู้เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านเหล่านี้รักในท้องถิ่นตัวเองมากเพียงใด ต้องการที่จะอยู่ในชุมชนของตัวเองในลักษณะใดที่จะก่อให้เกิดความสุขแก่คนในชุมชน |
. |
แน่นอนว่า โครงการต่างๆ ที่จะลงมาในพื้นที่ของแต่ละชุมชนนั้น ย่อมมาจากการวางแผนนโยบายและกำหนดยุทธศาสตร์จากรัฐบาลและหน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบย่อมหนีไม่พ้นชาวบ้านในพื้นที่เหล่านั้น |
. |
เมื่อพวกเขาได้รับผลกระทบก็ต้องคอยต่อต้านไม่มีวันจบสิ้นจนในที่สุดชาวบ้านก็เล็งเห็นปัญหาแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันมีต้นตอมาจากอะไร มันไม่ใช่แค่เรื่องโรงไฟฟ้าบ่อนอกดำเนินการโดยบริษัทกัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น หรือบริษัทยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดิเวลลอปเมนท์ที่ดำเนินการเรื่องโรงไฟฟ้าหินกรูด |
. |
แต่มันเป็นปัญหาที่ว่า เพราะเหตุใดชาวบ้านจึงไม่สามารถวางแผนหรือกำหนดยุทธศาสตร์ในท้องถิ่นของตัวเอง ทำไมต้องเป็นรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการส่วนกลางที่คอยแต่จะกำหนดอนาคตชีวิตพวกเขาอยู่ตลอดเวลา |
. |
ดังนั้นชาวบ้านจึงยกระดับการต่อสู้อีกขั้น ไม่ใช่ยกระดับการต่อต้านรัฐบาล แต่เป็นการยกระดับองค์กรชุมชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นการสร้างวัฒนธรรมระหว่างชาวบ้านกับราชการในลักษณะใหม่แบบไหลย้อนกลับ |
. |
กล่าวคือ แทนที่จะเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นคนจัดเวทีแล้วเชิญชาวบ้านและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องมารับฟังแผนนโยบายจากรัฐบาล ก็กลายมาเป็นชาวบ้านจัดเวทีขึ้นแล้วเชิญหน่วนงานส่วนกลางและในท้องที่มารับฟังปัญหาและข้อเสนอ |
. |
รวมถึงนโยบายที่ชาวบ้านเป็นคนวางแผนและกำหนดขึ้นมาเอง เป็นฉันทามติ เพื่อลัดขั้นตอนจากรูปแบบเดิมที่ต้องรอนโยบายลงมา จากนั้นประชาชนก็จะคัดค้านแล้วจึงมาถึงผลสรุป |
. |
. |
วัฒนธรรมการเปิดเวทีรับฟังปัญหาที่จะเกิดขึ้น จะเป็นกลไกที่ป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังที่ กรณ์อุมา พงษ์น้อย กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ที่ผ่านมาโดยลักษณะโครงสร้างทางอำนาจจหน่วยงานของรัฐในระดับจังหวัด อำเภอ และ ตำบล ทำหน้าที่เพียงรองรับคำสั่งจากด้านบน |
. |
“เมื่อกล่าวถึงความหมายของความเป็นประชาธิปไตย เราเชื่อว่ากลไกมีมากกว่ารูปแบบของการใช้เลือกผู้แทนและหย่อนบัตรเลือกตั้ง นั่นคือ ประชาธิปไตยแบบทางตรง หมายถึง ชาวบ้านเสนอนโยบายให้แก่ภาครัฐนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดขึ้นจริง เพื่อประโยชน์สูงสุดจะเกิดขึ้นแก่ชาวบ้านในพื้นที่ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการจริงๆ” |
. |
นี่คือจุดเล็กๆ ของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในรูปแบบการไหลของอำนาจ แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ได้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายเสียทีเดียว แต่จุดเล็กๆ ที่จะบอกกล่าวต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนี้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว โดยการจัดเวทีที่ชื่อว่า “เวทีรับฟังความคิดเห็น คนประจวบขอกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง” |
. |
ละลอกคลื่นที่ไหลเวียนกันมากระทบฝั่งอย่างไม่ลดละ เสียงคลื่นที่ค่อยๆ ลดความดังตามระยะทางจากฝั่งถึงแผ่นดินริมหาด กระท่อมเปิดโล่งริมหาด ณ ครัวชมวาฬ อันเป็นกิจการที่พัก ร้านอาหารของเจริญ วัดอักษร ซึ่งทุกวันนี้อยู่ภายใต้การดูแลของกรณ์อุมา พงษ์น้อย หรือ “กระรอก” ภรรยาของเจริญ |
. |
ขณะนี้ได้กลายมาเป็นที่ประชุมของชาวบ้านร่วมกับกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยมีแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ที่มาร่วมประชุมได้แก่ กรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก จินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง และประธานกลุ่มอนุรักษ์จากตำบลต่างๆ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่มีประเด็นปัญหาจากแผนพัฒนาเขตอุตสาหกรรม |
. |
มีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษวัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ และยังคอยช่วยเหลือกลุ่มชาวบ้านในการจัดลำดับประเด็นเนื้อหาที่จะใช้ชี้แจงบนเวทีในวันพรุ่งนี้ให้เป็นระบบมากขึ้น |
. |
นอกจากนี้ กรณ์อุมา พงษ์น้อย ยังได้บอกกับแกนนำชาวบ้านที่มาร่วมประชุมว่า “ได้ข่าวมาจากคนในว่าผู้ว่าฯ ได้เรียกประชุมกับตัวแทนหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับคำถามที่ชาวบ้านจะมาถาม และพวกเจ้าหน้าที่ให้เตรียมคำตอบไว้ด้วย จุดนี้ทำให้เห็นว่าภาครัฐก็หวั่นเกรงพวกเราเหมือนกัน” |
. |
ท้ายที่สุดมีการสรุปประเด็นที่ชาวบ้านจะใช้เพื่อประชุมร่วมกับหน่วยงานราชการแบ่งเป็น 6 ประเด็นได้แก่ 1.ทิศทางพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2.การใช้ประโยชน์ฐานทรัพยากร |
. |
3.กลุ่มอิทธิพลอำนาจมืดที่คุกคามชาวบ้าน 4.มาตรการตามกฎหมาย 5.พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ประพฤติมิชอบ 6.สิทธิการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดยุทธศาสตร์ที่มีผลต่อชีวิตชาวบ้านโดยตรง ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่ชาวบ้านคิดด้วยตัวเองทั้งสิ้น |
. |
แม้แสงแดดจะส่องมาอย่างไม่ลดละเป็นสิ่งที่บอกถึงเช้าวันใหม่กำลังจะเริ่มขึ้น อากาศที่ไร้ซึ่งความชื้นและความเย็น สายลมที่พัดพามาแต่ไอร้อน ทั้งหมดแม้จะมีมากสักเพียงใดก็ไม่สามารถต้านทานพลังของชาวบ้านนับพันที่มาร่วมฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งอยู่รายล้อมบริเวณภายในงาน |
. |
. |
เวทีที่ตั้งขึ้นอยู่หน้าลานกว้างของศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็เต็มไปด้วยโต๊ะและเก้าอี้สำหรับตัวแทนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะมาแลกเปลี่ยนและรับฟังข้อเสนอของชาวบ้านต่อแผนนโยบายต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อชาวบ้านโดยตรง |
. |
หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขึ้นเวทีแล้ว ก็ได้กล่าวเปิดการประชุมโดยมีเนื้อหาว่า “การจัดขึ้นของเวทีนี้เป็นสิ่งที่เป็นนิมิตหมายที่ดี มีการพูดคุยกันด้วยเหตุและผล แสดงข้อมูลเพื่อชี้แจงให้เห็นถึงปัญหา มีกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเป็นแกนกลางในการประสานระหว่างหน่วยงานของรัฐกับชาวบ้าน เพื่อลดความขัดแย้งและนำไปสู่ความสันติ สามัคคีในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่พี่น้องในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์” |
. |
ยกแรกของเวทีนี้ฝ่ายภาคประชาชนเป็นคนเริ่มต้นก่อน ชาวบ้านคนแรกได้พูดถึงปัญหาของชุมชนของตัวเองพร้อมกับการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่คนอภิปรายยืนยันว่าเป็นข้อมูลทางสถิติที่มีการบันทึกไว้จริง อีกทั้งยังมีการเปรียบเทียบกับข้อมูลของรัฐว่ามีความต่างกันเพียงใด โดยเฉพาะสิ่งที่เขายืนยันอย่างเสียงแข็งว่า “บรรดาโรงไฟฟ้าที่จะสร้างในประจวบนั้นมีกำลังผลิต 5,000 เมกกะวัตต์ |
. |
แต่การใช้ไฟฟ้าในจังหวัดประจวบฯ มีแค่ 200 เมกกะวัตต์เท่านั้น แล้วทำไมจึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในจังหวัดประจวบฯ ที่การไฟฟ้าอ้างว่าเพราะกลัวไม่มีไฟฟ้าสำรอง นี่เป็นสิ่งที่การไฟฟ้าโกหกมาตลอด เพราะความเป็นจริงแล้วตามตัวเลขจะเห็นได้ว่า การไฟฟ้าสำรองไฟเกินค่ามาตรฐานที่15%ของการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด” |
. |
นอกจากนั้นผู้อภิปรายยังเสนอด้วยข้อมูลตัวเลขทางสถิติในจอนำเสนอข้อมูลเพื่อให้หน่วยราชการรู้ว่า “ความเป็นจริงแล้วระดับรายได้โดยรวมของชาวบ้านในประจวบคีรีขันธ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมือนที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่รายได้ของชาวบ้านเกิดจากการภาคการเกษตรและการประมง และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้ามีแต่จะทำลายรายได้ส่วนนี้ |
. |
พวกเราจึงขอเสนอให้รัฐทำตามนโยบายที่เราคิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านมากกว่าก็คือ ให้กำหนดยุทธศาสตร์เรื่องเศรษฐกิจของจังหวัดประจวบฯ ไปในทิศทางเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพจะเป็นประโยชน์แก่พวกเรามากกว่า การอุตสาหกรรมจะทำให้เกิดช่องว่างทางรายได้มากกว่า” เมื่อพูดเสร็จผู้ว่าฯ ก็พยักหน้ารับและก็จดบันทึกลงไป |
. |
ผู้อภิปรายคนเดิมยังเสนอประเด็นที่น่าสนใจว่า “อยากถามภาครัฐว่าใครกันแน่ที่เข้าครอบครองที่ดินสาธารณะ หลักฐานทางเราก็มีอยู่ชัดเจนว่ากรมที่ดินออกโฉนดที่ดินให้กับเอกชนแต่ชาวบ้านที่อยู่ในท้องที่มานานจะไปขอโฉนดที่ดินก็ยังไม่ออกให้เลย แล้วใครจะได้ใช้ทรัพยากรในท้องที่ของตัวได้มากกว่ากัน นี่คือเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรทางธรรมชาติของชาวบ้าน |
. |
ดังนั้นเราจึงขอเสนอว่าอยากให้รัฐกำหนดลงไปเลยว่าใครควรมีสิทธิในการใช้ที่ดินสาธารณะ เพราะขนาดประชาคมลงมติว่าไม่ให้เอกชนให้ แต่ทำไม อบต.ถึงอนุญาตให้เอกชนให้เช่าที่ดินสาธารณะ แล้วการกระทำแบบนี้มันส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างมากเพราะพวกเขาไม่สามารถใช้ที่ดินสาธารณะได้” |
. |
. |
นอกจากนี้ กรณ์อุมา พงษ์น้อย ยังได้ให้ข้อคิดว่า “รู้สึกว่ากลุ่ม อบต.และหน่วยงานตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายที่ดินดูจะหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมาก บางราย 3 ปี ยังไม่สามารถเก็บค่าเสียหายทางแพ่งที่เกิดจากการกระทำความผิดของภาคเอกชนทำให้ที่ดินตรงนั้นเสื่อมสภาพ |
. |
ชาวบ้านไม่สามารถใช้ได้ ถ้าเป็นพวกเราคงสามารถเรียกเก็บค่าเสียหายไปได้มากแล้ว แน่นอนว่าในหลายกรณีเราไม่สามารถยื่นฟ้องร้องเองได้ แต่มาวันนี้พวกเรามีความเข้มแข็งเรื่องข้อมูลมากขึ้น ถ้าเราฟ้องร้องเองไม่ได้ กฎหมายก็มีช่องทางให้เราสามารถส่งให้ศาลฟ้องพวกท่านได้แล้ว” |
. |
เวทีในช่วงหลังจากนี้จะเป็นลักษณะที่ชาวบ้านชี้แจงให้เห็นถึงปัญหาความประพฤติมิชอบของหน่วยงานราชการที่กระทำการต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ภาคเอกชนโดยชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการกระทำในครั้งนี้โดยเฉพาะเรื่องปัญหาการออกโฉนดที่ดิน และชาวบ้านก็เสนอทางออกว่าควรจะเรียกตัวแทนจากภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาหารือและแก้ข้อสงสัยด้วย |
. |
นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเวทีในช่วงเช้า ซึ่งเป็นลักษณะเสนอข้อมูลการกระทำของรัฐที่ไปเอื้อประโยชน์แก่ภาคเอกชน โดยภาครัฐต้องไล่ตอบคำถามรัฐที่ชาวบ้านตั้งมากกว่าจะเป็นการเสนอทางออก และเวลาสั้นๆ เพียงวันเดียวคงไม่อาจนำไปสู่การเสนอนโยบายและกำหนดยุทธศาสตร์ได้มากนัก แต่อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มที่ดูเหมือนเริ่มแล้วจะหยุดยากเสียด้วย |
. |
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายตัวแทนชาวบ้านได้สรุปประเด็นในกรณีการเสนอทางออกเกี่ยวกับปัญหานี้ว่า สุดท้ายแล้วปัญหาทั้งหมดที่ชาวบ้านต้องเผชิญอยู่นั้นเกิดจากการที่รัฐเอาแผนจากส่วนกลางมาบังคับใช้กับชุมชน |
. |
โดยที่ยังไม่เคยถามความเห็นของชาวบ้านเลย หรือถ้าจะมีการถามชาวบ้านก็เป็นการถามเป็นพิธีไป เพราะนโยบายเหล่านั้นผ่านร่างเรียบร้อยแล้ว มันจะมีประโยชน์อะไรที่จะมาหารือกับชาวบ้าน ดังนั้น พวกเราได้ทำแผนนโยบายจากชาวบ้านเอง |
. |
โดยจะยื่นให้ท่านผู้ว่าฯ ได้รับทราบและนำไปปฏิบัติเพื่อความสุขซึ่งเป็นหน้าที่ของพ่อเมืองอยู่แล้ว เรามีมติร่วมกันแล้วว่า หลังจากนี้การกระทำใดๆ ก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ขอให้ทางหน่วยงานราชการเชิญพวกเราไปเป็นหนึ่งในการตัดสินใจโครงการต่าง ๆ ที่จะลงมาในพื้นที่ของเราด้วย” ชาวบ้านกล่าวทิ้งท้าย |
. |
พร้อมกับยื่นซองเอกสารที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบของข้าราชการ รวมถึงข้อเรียกร้อง ข้อเสนอของชาวบ้านที่มีต่อกรณีปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น แน่นอนว่า มันยาวเป็นหางว่าวและคงต้องใช้เวลาทยอยแก้เงื่อนปมสารพัด แล้วเราคงได้ทยอยเล่าสู่กันฟังด้วยอีก (หลาย) ที |
. |
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท |