เนื้อหาวันที่ : 2007-01-26 09:45:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1526 views

ธุรกิจหนังสือปีนี้แข่งเดือด ยอดโตกว่า 10 % คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง

สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย คาดธุรกิจหนังสือปี 2550 มียอดขายไม่ต่ำกว่า 18,500 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10 แต่ยอมรับคนไทยยังอ่านหนังสือน้อย

.

สำนักข่าวไทยรายงานข่าวนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย คาดธุรกิจหนังสือปี 2550 มียอดขายไม่ต่ำกว่า 18,500  ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10 แต่ยอมรับคนไทยยังอ่านหนังสือน้อย เสนอรัฐบาลกำหนดกลยุทธ์ผลักดันให้คนไทยมีอุปนิสัยรักการอ่าน พร้อมเรียกร้องนำธุรกิจหนังสือเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 เพื่อจูงใจผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีและลดภาระต้นทุน

.

นายธนะชัย  สันติชัยกูล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2549 ภาพรวมของธุรกิจสำนักพิมพ์และหนังสือเล่มหรือพ็อกเกตบุ๊กในประเทศไทยยังเป็นธุรกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเติบโตร้อยละ 10-12  มียอดขายรวม 16,800 ล้านบาท จากปี 2548 มียอดขาย 15,000 ล้านบาท แม้ปี 2549 จะมีวิกฤติทางเมือง การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยและปัญหาน้ำท่วม โดยหนังสือที่มีส่วนช่วยผลักดันยอดขายคือหนังสือเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และหนังสือแนวธรรมมะและการพัฒนาตัวเอง  ตลอดจนหนังสือกลุ่มเยาวชนที่ยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

.

ส่วนปี 2550 นายธนะชัย คาดว่าจะมีอัตราเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 หรือมียอดขายรวมทั้งระบบไม่ต่ำกว่า 18,500 ล้านบาท  แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากเหตุการณ์ทางการเมือง ปัญหาความไม่สงบจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ แต่อัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันเริ่มคงที่ ขณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญด้านบุคลากรมากขึ้น เชื่อว่าจะมีอัตราการเติบโตในระดับดังกล่าวได้

.

นายธนะชัย กล่าวอีกว่า แม้คนไทยจะซื้อหนังสือเพิ่มขึ้น แต่จากปี 2549  ที่ยอดจำหน่ายหนังสือเติบโตร้อยละ 10 หากคิดเป็นยอดซื้อหนังสือต่อคนต่อปีของคนไทยจะมียอดเพียง 260 บาทต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 0.18 ต่อรายได้ต่อคน ซึ่งถือว่าน้อย และสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ข้อมูลจากการสำรวจการใช้เวลาอ่านหนังสือของคนไทยปี 2544 พบว่าคนไทยเข้าห้องสมุดเฉลี่ยคนละ 0.02 นาที เชื่อว่าคนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือปีละไม่เกิน 2 เล่ม และยังพบว่าเป็นการอ่านหนังสือประเภทนวนิยาย การ์ตูน หนังสืออ่านเล่น คิดเป็นร้อยละ 45.4 และนิตยสารร้อยละ 36.9 ส่วนตำราเรียนมีผู้อ่านคิดเป็นร้อยละ 34.4 จึงวิเคราะห์ได้ว่าคนไทยยังชอบอ่านหนังสือที่ไม่หนักเกินไป และยังพบว่าผู้ที่อ่านหนังสือออกแต่ไม่อ่านมากถึงร้อยละ 48.8 โดยให้เหตุผลว่าชอบดูทีวีมากกว่า รองลงมาคือร้อยละ 36 ไม่มีเวลาอ่าน

.

นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ  กล่าวด้วยว่า  สำนักพิมพ์ในประเทศไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากอุตสาหกรรมบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นความบันเทิงจากสื่อโทรทัศน์  ภาพยนตร์ วิทยุ หรือจากวีซีดีและดีวีดี เพราะง่ายแก่การรับ และตรงกับความชอบของคนไทยที่ชอบฟังและดูมากกว่าการอ่าน โดยผลสำรวจพบว่า พฤติกรรมการอ่านของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี  2548  พบว่าคนไทยสนใจอ่านทางอินเทอร์เน็ตร้อยละ 10.2 ของจำนวนผู้อ่านทั้งหมด 40.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 4 ล้านคน  ทำให้งานเขียนทางอินเทอร์เน็ตเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคของสำนักพิมพ์

.

นายธนะชัย กล่าวถึงธุรกิจสำนักพิมพ์ว่า ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมามีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก  374  สำนักพิมพ์ในปี 2546 เป็น 492 สำนักพิมพ์ โดยสำนักพิมพ์ในปี 2549 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.55 ขณะที่ร้านหนังสือมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในปี 2549 มีจำนวน 1,309 ร้าน ขณะที่ปี 2548 มีจำนวน 848 ร้าน เนื่องจากนโยบายเพิ่มสาขาของร้าน BOOK Smile ซึ่งทิศทางการเติบโตของร้านหนังสือโดยรวมเป็นการเติบโตจากร้านหนังสือเครือข่าย  ซึ่งมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 50 ของตลาดร้านหนังสือทั้งระบบ คือในปี 2549 มีร้านหนังสือเครือข่ายจำนวน 763 ร้าน ขณะที่ร้านหนังสือแบบสแตนอโลน มี 564 ร้าน ส่งผลให้สำนักพิมพ์ต้องพึ่งพิงร้านหนังสือเครือข่ายมากขึ้น

.

นายธนะชัย  ระบุว่า รัฐบาลควรกำหนดกลยุทธ์ผลักดันให้คนไทยมีอุปนิสัยในการอ่านด้วยการปรับปรุงระบบการเรียนการสอนและระบบการประเมินผลที่เอื้อต่อการผลักดันนักเรียนให้ต้องอ่านหนังสือเพิ่ม โดยกำหนดให้นักเรียนอ่านหนังสือนอกเวลาอย่างน้อยคนละ 1 เล่มต่อเดือนให้ธุรกิจหนังสือเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0  สนับสนุนการวิจัยระดับชาติเรื่องการผลิตหนังสือและการอ่านของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเพิ่มจำนวนห้องสมุด เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี  เพราะจะได้ประโยชน์จากการที่สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม จากปัจจุบันต้องรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อวัตถุดิบและบริการต่าง ๆ ซึ่งกลายเป็นต้นทุนในการผลิต  อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ทำให้การผลิตหนังสือเป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลต้องการมากขึ้น.