เนื้อหาวันที่ : 2010-04-28 09:05:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 599 views

ผลจากมาตรการที่มิใช่ด้านภาษีกับ SMEs ไทย

ปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกต่างล้วนให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือด้านการค้า อันมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและขยายโอกาสทางการตลาดและการค้าในระดับโลก ผ่านการทำสนธิสัญญาหรือข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ตัวอย่างเช่น การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีของประเทศไทยจากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นต้น

.

โดยผลลัพธ์ส่วนหนึ่งจากการดำเนินการ เช่น การลดอัตราภาษีระหว่างประเทศคู่ค้า อันจะช่วยให้สินค้าทั้งในด้านการส่งออกและนำเข้ามีราคาลดต่ำลง เนื่องจากไม่มีต้นทุนด้านภาษีการค้า

.

แต่ทว่าก็ยังมีปัจจัยที่แฝงด้านต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการส่งออกในปัจจุบัน คือ มาตรการที่มิใช่ด้านภาษี (Non-tariff measures – NTMs) ซึ่งมีอยู่หลายประการ โดยเฉพาะกฎข้อบังคับด้านเทคนิคและมาตราฐานต่างๆเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการ SMEs แล้ว ต้นทุนจาก NTMs นี้ อาจถือได้ว่าสูงกว่าต้นทุนภาษีการค้าที่เคยมีอยู่เสียอีก      

.

และก็ยังเป็นการยากที่จะระบุอย่างชัดเจนว่า NTMs ที่เกิดขึ้น มาจากการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภค ที่ต้องการทราบถึงข้อมูล หรือมาตรฐานต่างๆ ของผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามากขึ้นกว่าในอดีตอย่างแท้จริง หรือมาจากการใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าที่มิใช่ด้านภาษี (Non-tariff barriers – NTBs) จากประเทศคู่ค้า 

.

อย่างไรก็ตาม  NTMs ก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดต้นทุนเพิ่มให้กับผู้ประกอบการ โดยส่วนแรกคือต้นทุนคงที่ที่เพิ่มขึ้นสำหรับการผลิตสินค้า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและสอดคล้องกับกฎระเบียบจากประเทศผู้นำเข้า    

.

ส่วนที่สองคือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการประเมินเพื่อแสดงให้เห็นว่า สินค้าที่ผลิตขึ้นของผู้ประกอบการผ่านมาตรฐานกฎระเบียบของผู้นำเข้า ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการที่มีการส่งออกสินค้าทุกรายจะสามารถปฏิบัติได้ตาม NTMs ต่างๆ ของประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะ SMEs ส่วนมากในประเทศไทย ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าตลาด โดยเฉพาะตลาดที่มีการตั้งเกณฑ์ NTMs ไว้ในระดับสูง 

.

ในปี 2009 ได้มีการสำรวจผู้ประกอบการส่งออกของไทยจำนวน 430 บริษัท เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคด้านการค้าอันมาจาก มาตราการที่มิใช่ด้านภาษี โดย The Inter Trade Center (ITC) ร่วมกับ UNCTAD จากการสัมภาษณ์ด้านมาตรการด้านเทคนิคสำหรับการค้า เช่น ความต้องการเกี่ยวกับคุณลักษณณะของผลิตภัณฑ์ กระบวนการในการผลิต และการประเมินให้สองคล้องตามมาตรฐานหรือกฎระเบียบของผู้นำเข้า เป็นต้น

.

การตรวจสอบก่อนการส่งออกและขั้นตอนด้านพิธีการศุลกากร การกำหนดโควต้าและมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออก มาตรการด้านค่าธรรมเนียม ภาษีการค้าหรือคล้ายคลึงกับภาษีการค้า มาตรการด้านการเงินที่กำหนดเกี่ยวกับการไหลเข้าและต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับนำเข้าสินค้าและเงื่อนไขการชำระเงิน

.

ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า ประมาณ 93.5% ของผู้ประกอบการส่งออกของไทยที่ทำการสำรวจ ต่างมีความเห็นว่า มาตรการด้านเทคนิคเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดต่ออุปสรรคด้านการค้า 2.3% เป็นปัญหาจากการตรวจสอบก่อนการส่งออกและขั้นตอนด้านพิธีการศุลกากร 2.2% เป็นปัญหาจากจากการกำหนดโควต้าและมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออก 

.

0.2% เป็นปัญหาจากจากมาตรการด้านค่าธรรมเนียม ภาษีการค้าหรือคล้ายคลึงกับภาษีการค้า 0.1% เป็นปัญหาจากจากมาตรการด้านการเงิน และ 1.6% เป็นปัญหาจากจากปัญหาด้านอื่นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มาตรการด้านเทคนิคเป็นปัญหา หรือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ประกอบการส่งออกของไทย

.

โดยจากการสำรวจต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งมาจากประเทศผู้นำเข้าสินค้าจากไทยจำนวน 1,803 กรณี เป็นปัญหาจากมาตรการด้านเทคนิคจำนวนถึง 1,032 กรณี โดยมาจากความต้องการด้านการรับรองสินค้าจำนวน 305 กรณี (29.55%) ความต้องการด้านการตรวจสอบย้อนกลับจำนวน 253 กรณี (24.52%)

.

ความต้องการด้านการจัดทำฉลาก เครื่องหมาย และบรรจุภัณฑ์จำนวน 169 กรณี (16.38%) ข้อจำกัดการเกี่ยวกับสิ่งตกค้างหรือเป็นพิษ หรือข้อจำกับการใช้วัตถุควบคุมจำนวน 165 กรณี (15.99%) และความต้องการด้านการทดสอบสินค้าจำนวน 140 กรณี (13.57%)

.

จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นถึงปัญหาของผู้ประกอบการด้านการส่งออกของไทย ในการเข้าสู่ตลาดและการเกิดต้นทุนแฝงในสินค้าซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากผู้ประกอบการไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการด้านเทคนิคตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับจากประเทศผู้นำเข้า

.

รวมถึงการขาดความสามารถในการพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อมาตรการด้านเทคนิคที่มีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ หรือแตกต่างกันไปตามภูมิภาคที่นำเข้าสินค้าจากไทย

.

สาเหตุหลักของอุปสรรคที่เกิดขึ้นนี้ มาจากการขาดสาธารณณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นต่อกระบวนการในการผลิต และการขาดกระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ในการรองรับต่อมาตรการด้านเทคนิคของประเทศคู่ค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ไทย จึงจำเป็นต้องศึกษาและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบข้อบังคับด้านเทคนิคของประเทศคู่ค้าให้ชัดเจนถูกต้อง        

.

รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิตให้ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีหรือความร่วมมือระหว่าง SMEs ด้วยกันที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตสูงสุด และเป็นการช่วยในการลดต้นทุนซึ่งกันและกันระหว่าง SMEs 

.

ทั้งนี้ จากปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวที่มาจากมาตรการด้านเทคนิคต่อผู้ประกอบการ SMEs ไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงได้มีการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถรับมือต่อมาตรการด้านเทคนิคนี้ เช่น โครงการฐานข้อมูลด้านกฎหมายเพื่อสนับสนุน SMEs ในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจSMEs

.

รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าทั้งในและต่างประเทศ หรือการสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง SMEs ด้วยกัน เพื่อให้ SMEs ของไทยเกิดความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีหรือความสามารถด้านเทคนิค เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีความยืดหยุ่น สอดรับกับมาตรการด้านเทคนิคของประเทศคู่ค้าที่แตกต่างกันออกไป หรือการสร้างฐานข้อมูล SMEs แห่งชาติ ซึ่ง สสว.ได้ดำเนินการไปแล้ว

.

โดยการระดมความคิดเห็นจาก 10 หน่วยงานร่วมที่เกี่ยวข้องกับ SMEs ในการสร้างฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ ทั้งในด้านสถิติและการรายงานสถานการณ์ ด้านปัจจัยเอื้อต่อผู้ประกอบการ และด้านองค์ความรู้ นวัตกรรมและงานวิจัย ซึ่งฐานข้อมูล SMEs ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญต่อผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถรับมือต่อมาตรการด้านเทคนิค และกฎข้อบังคับต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการค้าระหว่างประเทศ อันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตลาดของสินค้าไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตอีกด้วย

.
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม